ทุกความสำเร็จเกิดขึ้นได้เพราะ “ความพยามยาม” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เราเกิดจุดมุ่งหมายในชีวิต แต่หากมีความพยายามเพียงอย่างเดียวไร้ซึ่งความสามัคคี จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้อาจจะลุล่วงไปได้ยาก  เพราะความสามัคคี คือหัวใจหลักของการทำงานเป็นทีม คือพลังและแรงขับเคลื่อนให้เราก้าวเดินต่อไปข้างหน้า แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าเรามีความเป็นอันหนึ่งเดียวกันแล้ว เราก็จะมีแรงขับเคลื่อนให้ผ่านพ้นอุปสรรคนั้น ๆ ไปได้ด้วยดีเสมอ และประสบความสำเร็จ  เช่นเดียวกันกับทีม "พิกกี้บูบู  กับ ผลงาน “มนุษย์ล่องหน”  ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ จากการประกวดภาพยนตร์โฆษณาเพื่อสังคม และได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า    กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" วันนี้ MSU ONLINE  จะพาทุกท่านไปรู้จักกับพวกเขา "ทีมพิกกี้บูบู" ตามเรามาค่ะ



แนะนำตัว
    นางสาวนภัสสร น้อยแดง นางสาวพัทรดา อัปการัตน์ นายกฤติพงศ์ จำปาคำ นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ ชื่อทีม พิกกี้บูบู  ค่ะ

รางวัลที่ได้รับ
    รางวัลชนะเลิศ : การประกวดภาพยนตร์โฆษณาเพื่อสังคม ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
    ชื่อผลงาน : มนุษย์ล่องหน
    หน่วยงานที่จัดการแข่งขัน : ทรูปลูกปัญญา

วัตถุประสงค์โครงการนี้คือโครงการอะไร มีที่มาอย่างไร 
    โครงการเปิดโอกาศให้นิสิต-นักศึกษา ระดับอุดมศึกษาทุกสถาบัน, ทุกคณะ, ทุกชั้นปี ทั่วประเทศ มาร่วมกันสร้างสรรค์เรื่องราวเพื่อบอกต่อความดีที่เกิดขึ้นในชุมชน ในจังหวัด หรือในภูมิภาคของคุณ มาส่งต่อให้สังคมได้รับรู้





จุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจในการทำผลงานชิ้นนี้
    เริ่มจากอาจารย์แนะนำให้ลองส่งประกวด พอได้เริ่มทำเราก็พยายามทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด และอยากเข้ารอบเพื่อพิสูจน์ตัวเองในการสร้างสรรค์ผลงาน 

พล็อตเรื่อง "มนุษย์ล่องหน" 
    พล็อตเรื่อง การทำความดีแต่ไม่มีคนรู้ไม่มีคนเห็นก็ไม่ต่างจากการเป็นมนุษย์ล่องหน ถ้าอยากให้มนุษย์ล่องหนมีตัวตนทุกคนต้องช่วยกันแชร์เรื่องราวความดีของเขา ในผลงานเราจึงเล่าเรื่องราวการทำดีของมนุษย์ล่องหน เมื่อมีคนแชร์เรื่องราวของเขาออกไปให้คนอื่นรับรู้ ทำให้เขามีตัวตนขึ้นมา การที่เราแชร์เรื่องราวดี ๆ ของคนอื่นเป็นทั้งการส่งต่อเรื่องราวดี ๆ และยังเป็นการให้กำลังใจคนทำดีอีกด้วยค่ะ



เวลาถ่ายทำนาน/อุปสรรคและปัญหาที่พบระหว่างจัดทำผลงาน
    ใช้เวลาตอนถ่ายทำ 1 วัน ตัดต่อและแก้ไขงานประมาณ 10 วัน มีการปรับแก้หลายรอบให้รอบเพื่อให้ได้ผลงานออกมาดีที่สุด และอุปสรรคที่พบในระหว่างที่เราถ่ายทำ มี 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นบททดสอบให้เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือนักแสดงที่ได้เลือกกันไว้นั้น ไม่สามารถมาได้ในวันถ่ายจริง เราต้องหานักแสดงใหม่กะทันหัน และเรื่องแสงขณะถ่ายทำไม่สามารถถ่ายได้ ทำต้องเปลี่ยนสถานที่ในการถ่ายทำ  ซึ่งทั้งหมดนั้นเราก็สามารถแก้ปัญหาและผ่านพ้นมันมาได้ค่ะ

เล่าให้ฟังถึงการทำงานเป็นทีม (Teamwork) 
    การทำงานเป็นทีมนั้นสำคัญมาก  ในการทำงานนั้น เรามีการพูดคุยและปรึกษากันเยอะมากค่ะ  เรามีการวางแผนการทำงานร่วมกันก่อนลงมือทำ และให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความคิดในการทำงานร่วมกันทุกขั้นตอน  รวมถึงเวลามีปัญหาเราจะร่วมกันแก้ปัญหาและกำลังใจกันเสมอค่ะ

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้
    จากประสบการณ์ในการแข่งขันครั้งนี้  ทำให้เราได้เข้าใจถึงการทำงานเป็นทีมเพื่อให้เกิดความสำเร็จ  โดยเราจะต้องมีการวางแผนการทำงานที่ดีในการสร้างสรรค์ผลงาน  ตั้งแต่เริ่มวางพล็อตจนถ่ายทำ  เทคนิคการทำงานต่าง ๆ การทำงานเป็นทีมและกับการติดต่อประสานงาน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่งเราทุกคนภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้มากค่ะ

บอกเล่าความรู้สึกเมื่อได้รับรางวัลในครั้งนี้
    ดีใจและภูมิใจมาก ที่ผลงานที่ช่วยกันสร้างสรรค์ออกมาถูกใจกรรมการ เพราะทุกคนในทีมตั้งใจกันมาก และได้เผยแพร่เรื่องราวความดีของคนต้นเรื่องที่นำมาเสนอในชิ้นงานนี้



ฝากข้อคิดดีๆถึงเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่อยากเข้าร่วมแข่งขันและประสบความสำเร็จแบบนี้บ้าง
    เวลาแข่งขันเราต้องเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้ ลงมือทำเต็มที่กับทุกขั้นตอนในผลงานของเรา พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกในทีมเยอะ ๆ เพื่อให้ได้ความคิดที่ดีที่สุด 

แนะนำ เชิญชวน น้องๆ มาเรียนที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    สำหรับน้องๆ ที่อยากมาเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่ว่าจะเป็นคณะหรือสาขาไหน มหาวิทยาลัยเราเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ มีการสอนที่ครอบคลุม สภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยก็ดีมาก ๆ อยากแนะนำให้น้อง ๆ มาเรียนที่นี่ มาเป็นพี่น้องในรั้วเหลืองเทาแห่งนี้ด้วยกันค่ะ  :)



Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts