มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.ศิริธร ศิริอมรพรรณ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาการศาสตร์ คณะเทคโนโลยี นักวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับรางวัล AD Scientific Index 2021 เป็นการจัดอันดับนักวิจัยที่มีศักยภาพ ในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยได้อันดับที่ 34 ในระดับประเทศ และได้ลำดับที่ 4595 ในระดับนานาชาติ ซึ่งคำนวณจากค่า h-index ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนการอ้างอิงถึงลำดับของบทความที่ถูกอ้างถึง โดยเป็นมาตรสำหรับการคำนวณผลกระทบโดยรวมของผลงานผู้เขียนบทความ ไปพร้อมกับคุณภาพ 



ที่มาของการได้รับรางวัล
       จริง ๆ แล้วเป็นงานสะสมที่ทำมาตลอดชีวิต เป็น life time ที่มีการจัด Ranking เรียกว่า AD scientific index 2021 ซึ่งเป็นของปีนี้ จะเป็นการจัดอันดับของนักวิจัยที่มีศักยภาพ ก็จะแบ่งออกเป็นระดับสถาบัน ระดับประเทศ ระดับโลก แต่ของเราที่ได้มาจะเป็นการจัดลำดับ Individual คือเฉพาะส่วนบุคคลเพราะว่าใน Ranking จะเขียนว่า Individual University Ranking เช่น กรณีของอาจารย์น่าจะเป็นการจัด top ranking ของแต่ละมหาวิทยาลัยค่ะ

เกณฑ์ในการคัดเลือก
เกณฑ์ในการจัด จะอาศัยการคำนวณจากค่า h-index ซึ่งค่า h-index จะเป็นค่าที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนบทความวิจัยที่ตีพิมพ์กับการถูกอ้างอิง เพราะฉะนั้นอันนี้จะเป็นมาตรวัดทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ เช่น จะมีบอกว่า h-index เป็นการแสดงความสัมพันธ์ จำนวนการอ้างอิงถึงลำดับบทความที่ถูกอ้างอิง เวลาฟังแล้วอาจจะเข้าใจยาก สมมุติอาจารย์ตีพิมพ์ 70 บทความวิจัย h-index จะคำนวณจากบทความที่ถูกอ้างอิงมากที่สุด บทความวิจัยที่ 1 อาจถูกอ้างอิงมากที่สุด 100 ครั้ง บทความที่ 2 อาจจะถูกอ้างอิง 80 ไล่ลงมาเท่ากับจำนวนบทความที่เราตีพิมพ์หนึ่ง สอง สาม สี่ จนถึง 70 แต่ผลงานของอาจารย์ตอนนี้ใน h-index อยู่ที่ 30 ก็หมายความว่าบทความวิจัยที่จัดลำดับการถูกอ้างอิง 30 บทความ ถูกอ้างอิงไม่ต่ำกว่าบทความละ 30 ครั้ง นี่คือการจัด h-index ซึ่งจะรวมงานวิจัยทั้งหมดที่เราทำในฐานข้อมูลส่วนของงานวิจัยมารวมแล้วนำไปจัดอันดับ h-index โดยจะดำเนินการโดยฐานข้อมูลนั้นๆ เช่น SCOPUS
AD scientific index 2021 เป็นการจัดอันดับนักวิจัยที่มีศักยภาพ โดยแบ่งการจัดอันดับเป็นระดับ โดยคำนวณจากค่า h-index ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนการอ้างอิงถึงลำดับของบทความที่ถูกอ้างอิง รวมถึงค่า h-index จะเป็นวิธีการ sinv ซึ่งเป็นมาตรสำหรับการคำนวณผลกระทบโดยรวมของผลงานผู้เขียนบทความไปพร้อมกับคุณภาพ คือ จำนวนกับคุณภาพ การที่จะยืนยันว่างานเรามีคุณภาพคือ การถูกอ้างอิงจากนานาชาติในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับ แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นกับธรรมชาติของสาขาวิชาด้วยนะคะ



ในฐานะที่ได้รับการคัดเลือก มีความรู้สึกอย่างไรที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้
รู้สึกดีใจ และภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอดของการทำอาชีพเป็นอาจารย์ หรือนักวิจัย คล้ายๆ กับเป็นผลงาน ผลบุญที่สะสมมาตลอดทั้งชีวิตของการทำงานคือ ตั้งใจทำตั้งแต่ตอนแรกๆ ยึดว่าจะต้องทำงานให้มีคุณภาพ ซึ่งมาวันนี้ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่างานที่เราตั้งใจทำในอดีตส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน จะทำวันสองวันไม่ได้ ปีสองปีไม่ได้ เพราะเป็นการสะสมมาตลอดทั้งชีวิตของการเป็นนักวิจัย

งานวิจัยแต่ละตัวที่ผ่านมา มีแนวคิดในการทำงานวิจัยแต่ละครั้งอย่างไร เพื่อประโยชน์อะไรบ้าง
     จุดเริ่มต้นของตัวเอง มองไปถึงสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สิ่งที่ได้เรียนรู้มา เมื่อเรียนจบจากต่างประเทศ อาจจะเอามาได้บางส่วน แต่ที่ได้มาอยู่ตรงนี้ อยู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ อยู่สถานที่แบบนี้ สิ่งแวดล้อมคือ อยู่ภาคอีสาน สิ่งที่อาจารย์คิดจริงๆ ตอนนี้ก็คือ พยายามที่จะทำวิจัยภายใต้บริบทที่ทำได้ และเหมาะสม เพราะว่าสมัยก่อนเวลาที่เราสอนนิสิต ทุกครั้งที่เราพูดถึงการอ้างอิง ทฤษฎี หรืองานวิจัยต่างๆ มักจะหยิบยกเอาผลงานของต่างประเทศ ของฝรั่งมาสอน จะมีความคิดตลอดว่าทำไมเราไม่ทำวิจัยกับสิ่งที่บ้านเรามี จะได้นำมาเล่าให้นิสิตฟัง และเข้าใจง่ายขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาสอนเรื่องโภชนาการ เวลาการแปรรูปผัก ผลไม้ จะยก บรอกโคลี แอลแฟลฟา ผักโขมฝรั่ง ซึ่งอาจารย์พอถามนิสิตก็จะนั่งงงๆ ยิ่งสมัยก่อนไม่มี google ให้หาข้อมูล หรือดูภาพได้ง่ายๆ เหมือนทุกวันนี้ นิสิตก็จะ.. แฟลฟาๆ คืออะไร อาจารย์ก็เลยกลับมามองหามะระขี้นกดีไหม ผักติ้ว สะเดาดีไหม ว่าก็เป็นอะไรที่อยู่รอบตัวเรา อะไรที่เราควรจะรู้ เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็คิดตลอดว่าทำวิจัยคือการทำกับสิ่งที่เราอยากรู้ รู้แล้วมันเกิดประโยชน์กับพวกเรา 



กลุ่มเป้าหมายในการทำงานวิจัย
  กลุ่มเป้าหมายคือ แน่นอนว่าผลที่ได้ถึงกลุ่มนักวิจัยวิชาการนิสิต เพราะว่าอาจารย์ได้ความรู้วิจัยตรงนี้เข้ามา อาจารย์จะสามารถขยายไปสู่ชุมชนได้ สู่บริบททีละเล็กทีละน้อย อาจจะไม่ได้อยู่แค่ food ตอนแรกมองว่าเทคนิคที่สอนเด็ก จะสามารถนำไปบอกพ่อแม่ได้ และเราเข้าไปสู่ชุมชนได้ คืออาจารย์พูดได้เลยว่า ณ ตอนนี้ คือสิ่งที่ทำในอดีต อาจารย์สร้างองค์ความรู้ เริ่มจาก basic science เขาเรียกว่าเริ่มจากองค์ความรู้ก่อน เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ อันนี้มีดีอะไร พอมาถึงจุดนี้จบมาแล้ว ซึ่งทำวิจัยมาเกือบ 20 ปี อาจารย์จบมา 19 ปีแล้ว ก็ก้าวมาอีกระดับหนึ่งว่าสิ่งที่เราสะสมความรู้มาเรื่อยๆ สามารถที่จะเอาไปใช้ได้จริง ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว อาจารย์ไปช่วยทั้งผู้ประกอบการในระดับอุตสาหกรรม แก้ปัญหาโจทย์วิจัย วิสาหกิจชุมชน หรือชาวบ้านเอง เราได้เอาความรู้นี้ลงไปช่วยเขาจริงๆ อีกทั้งใช้ในเชิง practice คือทำได้จริง ตรงนี้คือเป้าของนักวิจัยจริงๆ แต่ถ้านักวิจัยมีองค์ความรู้ไม่แน่นบางครั้งก็จะไปถึงทางตัน แล้วต่อไม่ได้ 



งานที่ผ่านมามีการนำองค์ความรู้ที่ทำงานวิจัยพัฒนาขึ้นมาสู่ชุมชนอย่างไร วิธีการใดบ้าง
ที่ผ่านมาอาจารย์มีการนำผลงานวิจัยจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ชุมชน ด้วยสาขาที่อาจารย์ทำ คือในเชิงอุตสาหกรรมอาหาร แต่อุตสาหกรรมอาหารก็เริ่มจากขนาดเล็ก อาจจะเป็นแค่วิสาหกิจชุมชน โรงงานขนาดเล็ก รวมไปถึงไปโรงงานขนาดใหญ่ แม้กระทั่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศ เพราะฉะนั้นอาจารย์จะเอาไปช่วย ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าว จากแค่ทำข้าวธรรมดา ตอนนี้ก็สามารถที่จะนำเอาส่วนต่างๆ ของข้าวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ผลิตภัณฑ์ที่เราทำก็จะต้องเหนือจากคู่แข่ง โดยการที่จะใส่องค์ความรู้เทคโนโลยีเข้าไป เช่น จะต้องมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด มากกว่าเดิม เป็นการเพิ่มมูลค่าจากที่กินแต่เมล็ดข้าวอย่างเดียว เอาส่วนอื่นมาใช้ด้วย เช่น ใบ ยอด เอามาได้ไหม แกลบ รำ เอามาได้ไหม จากผลิตภัณฑ์เล็กๆ กินข้าว แปรรูปเป็นขนม ตอนนี้ชาวบ้านสามารถทำเป็นชาใบข้าว ที่มีสารออกฤทธิ์สูง ขายเป็น commercial ครีมเทียมจากข้าว ก็คือชาวบ้านสามารถทำได้ แล้วในส่วนของอุตสาหกรรม จะมีปัญหา การเพิ่มมูลค่า หรือแก้ปัญหาในบางจุด เช่น คอนเซ็ปต์ที่คนชอบคิดว่าการแปรรูปทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหาร สูญเสียคุณประโยชน์ ในบางมุมของการทำงานวิจัย การแปรรูปที่ดีส่งเสริมด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเราเอาข้อมูลนี้ องค์ความรู้นี้ ไปช่วยขับเคลื่อนในส่วนที่เป็นอุตสาหกรรม แล้วก็บอกว่าแปรรูปหมู่นี้ จะยังคงคุณค่า แปรรูปแบบนี้ กระตุ้นให้สร้างสารที่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นตัวเขาเองก็มีจุดตรงนี้ เป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ ณ ตอนนี้เราก็สามารถที่จะกระจายองค์ความรู้ได้ นั่นคือแผนที่จะนำความรู้ลงสู่ชุมชนต่อไป พูดได้เต็มปากเต็มคำเพราะเราทำวิจัย 


การทำงานวิจัยที่ผ่านมาพบปัญหา หรืออุปสรรคอย่างไร และเคยท้อไหม ในการทำงานวิจัย
     ขอบคุณสำหรับคำถาม คือเป็นคำถามที่คิดว่าทุกคนรู้คำตอบ มีปัญหาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ซึ่งอาจารย์ชอบมองอะไรที่เป็นบวกคือ ได้ทำดีกว่าไม่ได้ทำ และจะตั้งโจทย์เสมอว่า งานวิจัยคือสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อนหน้าเพราะฉะนั้น success กับ fail จะมาคู่กัน คิดตลอดว่างานวิจัยคือ สิ่งที่นักวิจัยจะต้องทำ อุปสรรคถ้ามีก็ต้องข้ามไปให้ได้ อุปสรรคแรกๆ เลยสำหรับนักวิจัยทุกคนที่ต้องเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จบมาจากต่างประเทศ ซึ่งเคยไปใช้ facility เคยไปใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ต่างประเทศมาแล้ว พอกลับมาบ้านตัวเอง มีความรู้สึกว่าจะเริ่มตรงไหน จะจับอย่างไร เพราะฉะนั้นถึงจะต้องบอกตัวเองเสมอว่าทำอะไรให้เหมาะกับตัวเอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวอาจารย์เคยถูกเชิญให้ไปบรรยายหัวข้ออะไรรู้ไหม ฮอตฮิตที่สุดคือ การทำวิจัยในมหาลัยภูธร อาจารย์ตั้งเองเลย เราไม่อยากบอกว่าบ้านนอกจริงๆ เขาบอกว่าทำวิจัยในมหาลัยภูธรยังไงให้มีคุณภาพ เราบอกว่ามหาวิทยาลัยบ้านนอก ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่บ้านนอก ข้อได้เปรียบของเราคือ เรามีความเป็นเอกลักษณ์ มหาวิทยาลัยในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ๆ เขาคงไม่มาหาหอย หาผักติ้วเหมือนเรา กว่าเขาจะมาได้ แต่เราคลุกคลีอยู่กับตรงนี้ เราเอาตรงนี้ให้เป็นจุดแข็ง บางครั้งอาจมองอุปสรรคให้กลายเป็นจุดแข็ง แล้วเราจะมองข้ามอุปสรรค สรุปถ้าถามว่ามีอุปสรรคไหม มีค่ะ ถามว่าท้อไหม น้อยมากค่ะ เพราะเรามองว่า ต้องทำความเข้าใจว่างานวิจัยมี fail กับ success เพราะฉะนั้น ไม่ท้อ หากท้อให้มองความเป็นจริง ก็เป็นจริงแบบนี้ และเราไม่จำเป็นต้องทำตามกระแส เราสามารถทำในสิ่งที่เรารักหรือสนใจได้แต่ต้องตั้งใจทำให้ดี

จุดเด่นในการทำงานวิจัยแต่ละชิ้น และทำจุดเด่นให้เกิดประโยชน์กับตัวกลุ่มเป้าหมาย ตัวชุมชน ในแต่ละครั้งอย่างไร
      ในมุมมองของนักวิจัย ความสำเร็จ หรือความภูมิใจคือการที่งานวิจัยของเรามีคนอ้างอิง หรือนำไปใช้ประโยชน์ งานวิจัยที่ดีจะต้องเป็นงานใหม่ ไม่ซ้ำซ้อน และที่สำคัญมีความน่าสนใจ บทความวิจัยที่อาจารย์ยกตัวอย่าง บทความที่อาจารย์ถูกอ้างอิงมากที่สุดที่ตีพิมพ์ ไม่ใช่เรื่องที่หวือหวามากมาย แต่เป็นเรื่องมะระขี้นก ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอะไรบ้างและมีฤทธิ์ทางชีวภาพอย่างไร เราเป็นคนนำเสนอเป็นคนแรกๆ ด้วยวิธีการตอนนั้น ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือไม่มาก แต่เรา create งานว่าเราลองศึกษาหลายๆ วิธี แล้วเอามาเปรียบเทียบกันดู ไม่มีใครทำมาก่อน เราดูแล้วเราจะเห็นได้ว่าฤทธิ์มันแตกต่างในหลายๆ วิธี อย่างบทความวิจัยมะระขี้นกเป็นบทความที่ถูกอ้างอิง มากกว่า 300 ครั้ง เพราะฉะนั้นอาจารย์เลยมองว่าจุดเด่นของมันคือ 1. ใหม่ 2. น่าสนใจเชิงวิชาการ 3. เป็นความน่าสนใจของคนในวงกว้าง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ถูกอ้างอิงมากแบบนี้ อีกหนึ่งตัวอย่างของงานวิจัยคือ แมลงกินได้ อาจารย์ตีพิมพ์เมื่อสิบปีที่แล้ว ไม่คิดว่าจะเป็นจุดสนใจหรือเทรนด์วิจัยของโลกในวันนี้ ตีพิมพ์เรื่องแมลงครั้งแรกน่าจะเมื่อปี 2008 หรือ 2010 ตีพิมพ์ด้วยความที่คิดว่าให้ลูกศิษย์จีนไปทำเรื่องผัก ผลไม้ ตัวอาจารย์เองเราสนใจกรดไขมันโอเมก้า 3 ในผัก ผลไม้ ก็เลยมอบหมายให้นิสิตทำวิจัย แล้ววันหนึ่งนิสิตคนนี้เขาไปเที่ยวตลาดชุมชนดินดำ ไปเห็นแมลงที่วางขายในตลาดชุมชน เช่น กุดจี่ แมลงตับเต่า แมลงจีซอน แมลงดานา จิ้งหรีด จิโป่ม เขาก็เดินมาถามว่าขอทำแมลงได้ไหม อาจารย์ก็ตอบตกลง เวลาเราดีไซน์งาน เราจะต้องดีไซน์ไม่ใช่ว่าจับอะไรมาวิเคราะห์ก็ได้ แต่เรามองว่าจากทฤษฎี หรือว่าเราสนใจเรื่องโอเมก้า 3 จากทฤษฎีโอเมก้า 3 ซึ่งเราถูกฝรั่งใส่หัวเรามาอยู่ว่าอยู่ในปลาแซลมอน ปลาน้ำลึกนะ เพราะบ้านเขามีปลาแซลมอน แล้วเราต้องไปตามกินปลาแซลมอน บ้านเราไม่มี อาจารย์เลยบอกลองไปจับแมลงมาดู มันอยู่ในน้ำเหมือนกัน กินสาหร่ายเหมือนกัน    อยากรู้ว่ากินสาหร่ายน้ำตื้นบ้านฉันมีไหม ไล่ให้คนนี้ไปจับเอาแมลงจากน้ำมา 8 ตัว ถ้าจำไม่ผิด 8 ชนิด แมลงดา แมลงสีเสียด แมลงตับเต่า พอได้มาปรากฏว่าเจอโอเมก้า 3 ชนิดเดียวกับปลาแซลมอน เอาแมลงตับเต่า ตีพิมพ์ งานอื่นนะ ถ้าอยากได้ใน ISI อย่างน้อย 6 เดือน บทความวิจัยนี้นี้ใช้เวลาเพียง 13 วัน ISI ตอบกลับมา ชอบมากคือ ตอบกลับมาแบบ accepts ทันที คือแสดงว่าเป็นมุมมองที่ทำให้เรารู้ว่า นี้แหละคืองานวิจัยที่น่าสนใจ บางครั้งนักวิจัยมองอะไรที่กว้าง ที่ใหญ่ตามกระแสโลก จนลืมมองไปว่าสิ่งที่ใกล้ตัวที่คนอ่านหรือที่อื่นเขาไม่มี หลังจากนั้นปีสองปีนั้นเราก็ตีพิมพ์บทความวิจัยเกี่ยวกับแมลงอีก และถูกเชิญให้เขียน Book chapter  เรื่องแมลง และถ่ายทำสารคดีเรื่องแมลงกับ BBC จากประเทศอังกฤษ เพราะฉะนั้นนี่คือตัวอย่างที่อยากเล่าให้ฟังว่า การสร้างงานวิจัย ที่ดีให้มีจุดเด่น อาจต้องคิดให้ต่างจากคนอื่น แล้วเอาความเป็นเอกลักษณ์เข้ามา งานวิจัยที่ดีต้องไม่ซ้ำใคร และนี่คือ “จุดเด่น”



ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิททยาลัย มีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานของเราอย่างไรบ้าง
มากเลยค่ะ มากอยู่แล้ว ด้วยความที่เราเป็นศิษย์เก่า เราได้รับทุนเรียนต่อในระดับปริญญาโท เอก  ก็จากมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ทุนทบวงมหาวิทยาลัยตอนนั้น อันนี้ก็เป็นจุดที่อย่างน้อยได้เรียนต่อ ได้มีความรู้ในระดับปริญญาเอกกลับมาพัฒนามหาวิทยาลัย แล้วก็ได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนวิจัยเรื่อยๆ บางโอกาส จำได้แม่นเลยค่ะว่า ทุนวิจัยแรกในชีวิต คือ ทุนวิจัยงบรายได้มหาวิทยาลัย 20,000 บาท ตัวเองทำหมดไปเกือบ 200,000 ทำไมถึงกล้าทำ เพราะว่าถ้าเราทำแล้วไม่ถึงที่สุด ถ้ามันไม่ได้คุณภาพ มันก็ต่อไม่ได้ ก็เลยพยายามทำให้ได้คุณภาพไว้ก่อน มันก็เลยได้บทความวิจัยที่ดี พอมีบทความวิจัยที่มีคุณภาพ ตีพิมพ์ในฐานข้อมูลที่มีคุณภาพก็ทำให้เรามีประวัติการตีพิมพ์ที่ดี เหมือนกับบ้านที่ตอกเสาเข็มมันก็แข็งแรง ทำให้เป็นผลพวงวันนี้ว่าเราก็มีศักยภาพพอที่จะไปแข่งขันกับโลกภายนอก หาทุนสนับสนุนจากภายนอกทั้งในและต่างประเทศได้ค่ะ 


ฝากอะไรให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ อย่างไรบ้าง
สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ สิ่งแรกที่จะให้ก็คือ ให้กำลังใจ ในยุคที่งานวิจัยมีการแข่งขันมากขึ้น ต้องบอกว่าแข่งขันมาก มากกว่าสมัยในอดีตคือ จำนวนนักวิจัยมากขึ้น ต้องพยายามมีจุดยืน แล้วก็ทำวิจัยอย่างเข็มแข็ง ต่อเนื่อง ไม่อย่างนั้นพลังเราจะหายไป เพราะฉะนั้นขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง ทำด้วยความตั้งใจแล้วก็พยายามทำให้มีคุณภาพ แล้วผลที่เราทำนะวันนี้ จะส่งผลให้เราในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวันนี้

คติในการทำงาน
จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นคนยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก จะชอบมองบวกคือ ถ้าใครพาเราคิดลบ เราก็จะอยู่ห่างๆ จะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นบวก แล้วก็ให้กำลังใจตัวเอง เหมือนอย่างการทำวิจัย ถ้ารู้คำตอบแล้วจะทำทำไม ฉะนั้น จะเป็นคนที่ให้เกียรติความคิดของคนอื่นเสมอ ถึงบอกว่า บางครั้งโจทย์วิจัยอันนี้ได้แนวคิดจากไหน อาจเป็นเพราะเราชอบไปถามสาขาอื่น ชอบไปถามเด็กประถม เด็กมัธยม พวกนี้ความนึกคิดเขายังบริสุทธิ์ เขาจะพูดออกมาด้วยความจริงใจ เช่น หนูอยากกินอาหารแบบนี้ ทำไมไม่ลองทำแบบนี้ โดยที่เราคิดไม่ถึง เพราะฉะนั้นคุณสมบัติหนึ่งของนักวิจัยสำหรับตัวเองและชอบบอกตัวเองเสมอว่าต้องอ่อนน้อมถ่อมตน คำว่าอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ไม่ได้หมายถึงว่าแค่การแสดงออกทางกาย แต่เราควรจะยอมรับฟังหรือน้อมรับความคิดเห็นของคนอื่น มันจะทำให้งานวิจัยเราก้าวไปข้างหน้า เพราะว่าเราจะไม่ตีกรอบให้ตัวเอง อาจารย์จะไม่คิดแบบนั้น เช่น เวลาไปนั่งฟังชาวบ้านพูดหรือสนทนากับผู้ประกอบการ บางทีมันมีศาสตร์ที่มันซ่อนอยู่ที่เราไม่เคยรู้ ไม่มีในตำรา ไอเดียดีๆ จากคนเหล่านี้ จากคนข้ามศาสตร์จะมีประโยชน์เยอะมาก การคิดบวกและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มันจะทำให้งานเราก้าวหน้าในหลายมิติทั้งเชิงวิชาการและสังคม

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์/พิสูจน์อักษร : นางสาวมลฤดี โคตมูล

Related Posts