"ความพยามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" สำนวนนี้เกิดขึ้นได้เสมอกับทุกคนที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีความเพียรพยายาม อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และผลจากความพยายามนั้นจะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างที่มุ่งหวังไว้ เช่นเดียวกับ “Sreyly Heng [ เสรี่ย์ เฮง]” ซึ่งเธอมีความฝัน และมีความมุ่งมั่น ตั้งใจเป็นอย่างมาก ที่จะได้มาศึกษาต่อที่ประเทศไทย ผลจากความพยายาม และมุ่งมั่นของเธอ ส่งผลให้เธอได้รับเลือกเป็นนิสิตภายใต้โครงการทุนการศึกษาทุนพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

    จากการได้พูดคุยกับ “Sreyly Heng [ เสรี่ย์ เฮง]” สัมผัสได้เลยว่าเธอเป็นคนที่มีความมุ่งมานะ เดินตามความฝันของตนเอง และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทั้งเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี เป็นมิตรกับเพื่อน ๆ จึงทำให้เธอมีเพื่อนคนไทยเป็นจำนวนมาก และเธอก็ไม่เคยรู้สึกผิดหวังเลยที่ได้มาศึกษาต่อที่ประเทศไทย วันนี้จะพาทุกไปทำความรู้จักกับ “Sreyly Heng [ เสรี่ย์ เฮง]” นิสิตทุนชาวกัมพูชา ตามเรามาเลยค่ะ



     นางสาว Sreyly Heng [ เสรี่ย์ เฮง] เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะการบัญชีและการจัดการ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ หลักสูตรนานาชาติ  เป็นนักเรียนทุนพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ค่ะ

    ก่อนหน้าที่ดิฉันจะได้รับทุนนั้น  ดิฉันเป็นนักเรียนชั้นปีที่ 2 ที่ประเทศกัมพูชา แต่ดิฉันได้ตระหนักว่าต้องการเปลี่ยนแปลง
ชีวิตของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ได้เดินตามความฝัน ได้ลองใช้ชีวิตแบบอิสระ เริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ได้ตั้งใจไว้ เพื่อทำให้ชีวิตของตนเองดีขึ้น และเพื่อทำให้พ่อแม่ของดิฉันภาคภูมิใจ ดังนั้นดิฉันจึงค้นคว้าหาทุนเพื่อที่จะได้เข้ามาศึกษาต่อที่ประเทศไทย  และได้เห็นประกาศจากทางเพจของกระทรวงการศึกษาและการกีฬาแห่งกัมพูชา ภายใต้โครงการทุนการศึกษาทุนพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเห็นประกาศดิฉันจึงรีบลงชื่อสมัครอย่างไม่ลังเล เพราะนั่นคือความใฝ่ฝันที่ดิฉัน  อยากจะทำให้ได้เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศไทยอย่างที่มุ่งหวังไว้ตั้งแต่แรก  ซึ่งขั้นตอนในการสอบเชิงทุนนั้นมี 3 ขั้นตอน ดังนี้

     1.) การสอบคัดเลือกโดยทางกระทรวงการศึกษาและการกีฬาแห่งกัมพูชา การสอบเป็นข้อสอบรายวิชาวิทยาศาสตร์ และสังคม เมื่อรู้ผลคะแนนการสอบแล้ว จากนั้นคณะกรรมการคุมสอบทางกระทรวงการศึกษาและการกีฬาแห่งกัมพูชาจะคัดให้เหลือเพียงแค่ 100  คน

    2.) การสอบวิชาสามัญ วิชาภาษาไทย และวิชาภาษาอังกฤษ โดยมีคณะกรรมการจากสำนักทุนพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้ดำเนินการในการแจกข้อสอบ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการศึกษาและการกีฬาแห่งกัมพูชา (ณ ตอนนั้นดิฉันได้เลือกสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ โดยที่เลือกมหาวิทยาลัยไว้ 2 ที่ ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2. มหาวิทยาลัยรังสิต ดิฉันได้มีคะแนนผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 มหาวิทยาลัย จึงเลือกมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะดิฉันไม่เคยเห็นและไม่รู้จักมหาลัยนี้มาก่อน ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ดิฉันอยากมาศึกษาต่อที่มหาลัยมหาสารคาม เพื่อจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมมากยิ่งขึ้น)

     3.) การได้สัมภาษณ์ในรอบสุดท้าย โดยแต่ละสาขาจะมีการคัดเลือกจำนวนทั้งหมด 2 คน และดิฉันเป็น 1 ในผู้ที่สัมภาษณ์ผ่านในครั้งนี้ ดิฉันรู้สึกดีใจ และภูมิใจเป็นอย่างมากที่จะได้ทำตามความใฝ่ฝันของตนเองไปศึกษาต่อที่ประเทศไทย เพื่อที่จะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ของประเทศไทย ทุกคนในครอบครัวของดิฉันต่างก็ดีใจ ปลาบปลื้ม และภาคภูมิใจ รอที่จะเห็นความสำเร็จของดิฉันค่ะ



       ดิฉันประทับใจมากที่ได้เข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในครั้งแรกที่มาดิฉันมีความกังวลใจในเรื่องของเพื่อนร่วมชั้นเรียน และภาษาที่ไม่แข็งแรงของตัวดิฉันเอง (555555) แต่พอวันเปิดเทอมเพื่อนๆ ทุกคนในชั้นเรียนต่างก็เป็นมิตร และมีอัธยาศัยที่ดี เพื่อนทุกคนน่ารัก เฮฮา สนุกสนาน ทั้งยังสอนดิฉันพูดภาษาไทย ชวนไปนั่งรถบัสของมหาวิทยาลัย ได้รู้อะไรหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อดิฉันมีปัญหาเพื่อนทุกคนก็พร้อมช่วยเหลือดิฉันเสมอ ทำให้ดิฉันคลายกังวล ไม่ผิดหวังเลยที่เลือกมาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  

    อาจารย์ทุกท่านมีความรู้ ความสามารถและถ่ายทอดให้นิสิตได้อย่างดีเยี่ยม และยังสอนได้สนุกสนานมาก รวมไปถึงมีสื่อการสอนที่ดี ทำให้ดิฉันเข้าใจในเนื้อหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และรู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่ได้เรียน และมีความสุขในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมมากมายให้ดิฉันได้มีส่วนร่วม ซึ่งแตกต่างจากวันแรกที่ดิฉันกังวลใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทย แต่กลับกลายเป็นว่าดิฉันมีความสุขทุกวันที่ได้อยู่ที่นี่ค่ะ 

     ดิฉันภาคภูมิใจ ปลาบปลื้มใจในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้รับทุนพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ จากประเทศกัมพูชา  รวมถึงอยากจะขอขอบคุณมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่ให้โอกาส ให้ความรู้ ให้มิตรภาพที่ดีจากเพื่อนคนไทยทุกคน ให้ดิฉันมีประสบการณ์ต่าง ๆ และรวมไปถึงการได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยที่หลากหลาย สังคม อาหาร ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตนเองในประเทศไทย และในรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคามค่ะ



     เคล็ดลับการเรียนของดิฉันคือ จดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ หรือ ไฮไลท์เพื่อเน้นข้อความที่สำคัญไว้ในหนังสือ จะช่วยเรื่องของการจดจำได้ดี รวมไปถึงการสรุปเนื้อหาในการเรียนของแต่ละบท และดิฉันจะทบทวนบทเรียนทุกครั้งหลังจากเรียนเสร็จ อีกทั้งยังมีเพื่อน ๆ คอยให้คำแนะนำต่าง ๆ ในการสรุปเนื้อหาของการเรียนในแต่ละคาบอีกด้วย

    มองอนาคต คือต้องการนำความรู้ที่ได้การจากการเรียนในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อยากจะมีธุรกิจเป็นของตนเองควบคู่กับการช่วยธุรกิจของครอบครัวไปด้วย โดยที่ธุรกิจของดิฉันจะทำเกี่ยวกับการส่งออก และจะต้องทำให้ประสบความสำเร็จให้ได้ เพื่อทำให้ครอบครัวของดิฉันภูมิใจ รายได้จะต้องเลี้ยงดูตนเอง รวมไปถึงเลี้ยงดูครอบครัวได้อีกด้วยค่ะ

    ข้อคิดดี ๆ ที่ใช้ในการดำเนินชีวิตของดิฉันคือ ความผิดพลาดในชีวิตจะสอนให้เรามีประสบการณ์       เพราะประสบการณ์คือ บทเรียนที่เราหาซื้อที่ไหนไม่ได้ และประสบการณ์เหล่านี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จ









Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts