“เราไม่ทำ...ใครจะทำ” คลิปวิดีโอสุดเจ๋ง โดนใจ จากการประกวดในหัวข้อ EDU SAVE WORLD FOR LIFE 2021  โดยทีม FTP ETC KHONTHUK (เอฟทีพี อีทีซี คนถึก)  ซึ่งคว้า 2 รางวัล วันนี้  MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปรู้จักกกับพวกเขา ทีม FTP ETC KHONTHUK (เอฟทีพี อีทีซี คนถึก) จะมาบอกเล่าเรื่องราวดีๆ และแนวคิดในการจัดของคลิปวิดีโอนี้ ตามเรามาเลยค่ะ



แนะนำตัว 
    สวัสดีครับ/ค่ะ พวกเราทีม FTP ETC KHONTHUK (เอฟทีพี อีทีซี คนถึก) ซึ่งมีสมาชิกด้วยกัน 3 คน ประกอบไปด้วย นายธีระชัย ศรีพลาย นิสิตชั้นปีที่ 5 #ETC13, นายธีรภัทร ตาลกุล และนางสาวเดือนพลอย ผาดงยาง นิสิตชั้นปีที่ 3 #ETC15 จากทั้งหมดของสมาชิกในทีม ETC KHONTHUK (อีทีซี คนถึก) 12 คน พวกเราเป็นนิสิตสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
รางวัลที่ได้รับจากการแข่งขัน 
    ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดคลิปวิดีโอ และได้รับรางวัลโดนใจศึกษาศาสตร์ Popular Vote ในหัวข้อ EDU SAVE WORLD FOR LIFE 2021  โดยชื่อผลงาน “เราไม่ทำ...ใครจะทำ” ดำเนินการรับผลงานและเปิดโหวต ผ่านทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ สื่อ SMO จัดการแข่งขันโดยสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดของโครงการ “EDU SAVE WORLD FOR LIFE 2021”
    สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ตระหนักถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้น เพื่อปลูกจิตสำนึกให้นิสิตได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณโดยรอบ และตระหนักถึงสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ทางสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงได้จัดการแข่งขันสื่อประชาสัมพันธ์ขึ้น โดยสื่อที่ใช้ในการแข่งขันเป็นวิดีทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมการดูแลรักษาความสะอาดโดยรอบ เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม – 23 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา



จุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจในการทำผลงานชิ้นนี้
    พวกเราได้เห็นถึงสภาพแวดล้อม บรรยากาศภายในรั้วมหาวิทยาลัย สถานศึกษา หรือแม้กระทั่งพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป บริเวณรอบ ๆ เต็มไปด้วยขยะ ต้องขอขอบคุณสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อปลูกจิตสำนึก ตระหนักถึงสภาพปัญหาขยะที่เกิดขึ้น และเนื่องด้วยทีมของพวกเราเป็นนิสิตเรียนครู พวกเราเลยแทรกเนื้อเรื่องของความเป็นครูใส่ในงานชิ้นนี้ด้วย

ระยะเวลา ปัญหาและอุปสรรคในระหว่างการจัดทำผลงาน
    ใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำ ตัดต่อวิดีโอรวม ๆ แล้ว 3 วัน เพราะก่อนหน้านี้ต่างคนก็ต่างมีภาระที่ต้องทำ คนเป็นพี่ก็ติดฝึกงาน คนเป็นน้องก็ติดเรียนติดภาระงานที่ต้องเคลียร์ แต่ก็มารวมกลุ่มกันพูดคุยก่อนหน้าแล้วว่าอยากจะทำอยากจะส่ง เลยได้มีทำแค่ 2-3 วัน ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบเจอ เนื่องด้วยเวลาที่ถ่ายทำ เวลาตัดต่อน้อย เลยจัดทำสื่อออกมาเท่าที่ทำได้ รวมถึงสภาพแวดล้อม ฝนฟ้าอากาศต่าง ๆ เป็นอุปสรรคเป็นอย่างมาก แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยการร่วมด้วยช่วยกันของทุกคนภายในทีม
 
การทำงานเป็นทีม
    ถ้าคิดว่า “ตัวเองเก่งกว่าใคร” ตั้งแต่ขึ้นต้นและลงท้าย “จะทำได้ไหมคนเดียว” นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงานเป็นทีม หากตั้งค่าความคิดตนเป็นใหญ่ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น คำว่า “ทีมเวิร์ค” ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น “ไม่มีสิ่งไหนหรอกที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยคนเพียงคนเดียว คุณจะไปถึงเป้าหมายได้ก็ต่อเมื่อพวกคุณช่วยเหลือกันและกัน”
    นอกจากการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นแล้ว ความสามัคคี การเชื่อใจ การให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว งานที่แพลนหรือวางแผนไว้อาจจะออกมาไม่ดีครับ

ประสบการณ์และความรู้ในห้องเรียนที่นำมาใช้ได้จริง
    ประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากวิชาที่เรียน และศึกษาหาความรู้ พัฒนาทักษะความสามารถตนเองเพิ่มเติม ความรู้จากการเรียนการสอนในด้านการผลิตสื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ พวกเราได้นำเอาองค์ความรู้ และประสบการณ์จากตรงนั้นมาใช้ในการผลิตงานชิ้นนี้ขึ้นมาได้จริง ๆ 

สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้
    นอกจากรางวัลที่ได้รับมาแล้ว โครงการนี้ก็ยังให้ทั้งประสบการณ์และความรู้ การทำงานเป็นทีม หากขาดการร่วมมือของสมาชิกในทีมก็จะไม่เกิดเป็นงานชิ้นนี้ขึ้นมาได้ 



ความรู้สึกเมื่อคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองสำเร็จ
    รู้สึกดีใจและขอบคุณกับรางวัลที่ได้มา รางวัลนี้เป็นอีกรางวัลที่ภาคภูมิใจของทีมพวกเรา เพราะได้เห็นถึงการพัฒนาทั้งตนเองและทีม กว่าจะเป็นงานและสื่อนี้ขึ้นมาก็ต้องขอขอบคุณทีม ETC KHONTHUK (อีทีซี คนถึก) ที่คอยช่วยเหลือกันและกัน ขอขอบพระคุณอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาทุกท่าน ที่คอยให้ความรู้ และให้คำแนะนำทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน คอยสนับสนุน คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจและเสนอข้อคิดเห็นให้ผลงานนี้ออกมาเป็นอย่างดี ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ให้การสนับสนุน และขอขอบคุณสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้น ขอบคุณครับ/ค่ะ

ฝากข้อคิดดีๆ ถึงเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่อยากเข้าร่วมแข่งขันและประสบความสำเร็จแบบนี้บ้าง
    การที่เราได้ทำงานกันเป็นกลุ่มหรือทำงานกันเป็นทีมนั้น เราจำเป็นต้องร่วมงานกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างกันกับเราในหลาย ๆ ด้าน และหลาย ๆ คน ต้องช่วยกันทำงานให้สำเร็จ
    - มองที่เป้าหมาย ทุกอย่างล้วนสำคัญ แต่เป้าหมายหลักของเราคือ งานต้องเสร็จเรียบร้อยและดีตามที่ได้รับมอบหมายดังนั้น เราควรพยายามมองไปที่เป้าหมาย และมองให้ข้ามพ้นอย่างอื่นที่คอยรบกวนจิตใจเรา
    - ทัศนคติต่อผู้อื่น พยายามเปิดใจให้กว้างและยอมรับในความคิดเห็นของคนอื่น อย่าอคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของเขา ที่สำคัญคือ ทำงานให้ได้ลงตัวและเข้าใจกันในเนื้องาน ส่วนเรื่องอื่นนอกเหนือจากนี้เก็บไว้ทีหลัง คนเราต้องรู้จักการมองโลกในแง่ดี และเป็นคนคิดบวกอยู่เสมอ เพื่อให้งานลุล่วงไปด้วยดี
    - ความเปราะบาง อย่าหัดเป็นคนขี้ใจน้อยเวลาเพื่อนในทีมไม่ฟัง หรือเวลาที่โดนตำหนิ จงมุ่งมั่นจนงานสำเร็จเป็นพอ
    - ความสามัคคี ต่อให้จะมาจากต่างที่ต่างทางกัน แต่ในเมื่อมาร่วมหัวจมท้ายทำงานร่วมกันแล้ว จงสามัคคีแบ่งหน้าที่การทำงานให้สัมพันธ์กันให้ได้
    - รับฟังความเห็น ไม่ว่าเราจะเป็นผู้นำของทีมหรือคนร่วมทีม พยายามอย่าเอาความเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ลองรับฟังความคิดจากคนอื่นบ้าง เอาใจเขาใส่ใจเรา เผื่อจะมีอะไรดี ๆ ที่เราอาจจะคิดไม่ถึง
    - ขยันและตั้งใจ การทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องขยันและมีความตั้งใจจริง เพื่อที่งานจะได้เสร็จสมบูรณ์ พยายามอย่าทำตัวเองให้เป็นตัวถ่วงของทีม 
    - ให้อภัย เมื่อทำงาน มันต้องมีการผิดพลาดกันบ้าง จงให้อภัยและช่วยกันแก้ไข หากมัวแต่โทษกันไปมา หรือด่ากันแรง ๆ ก็ไม่ได้ทำให้งานเสร็จได้ นอกจากนั้น ยังจะสร้างความเคืองใจกันไปเปล่า ๆ
    - แยกแยะเรื่องส่วนตัว บางคนอาจจะมีปัญหาส่วนตัวกันมา หรือมีปัญหาชีวิตติดตัวมา จงยกมันออกไปซะ ในเมื่อตอนนี้เป้าหมายของเรา คือการทำงานเสร็จ เก็บมันเอาไว้จนกว่างานจะเสร็จ แล้วค่อยมาว่ากันอีกที จงทำงานอย่างมืออาชีพ
    - การสื่อสาร การทำงานกับคนมากกว่า 1 คนนั้น เวลาจะพูดคุยหรือสื่อสารอะไร ต้องให้เข้าใจตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่อย่างนั้นงานที่ออกมาอาจมีปัญหาเอาได้
    - อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเอานิสัยเห็นแก่ตัวมาใช้ในการทำงานเป็นทีม หรือการทำงานกลุ่ม อย่าเลือกเอาแต่งานสบายหรืองานน้อย อย่าทำตัวเป็นตัวถ่วง ตัวขี้เกียจ นิสัยแบบนี้นอกจากเพื่อนร่วมงานจะรังเกียจแล้ว งานอาจมีปัญหาไม่เสร็จ หรือออกมาไม่ดี ทุกคนจะโทษว่าเป็นความผิดของคุณเอาได้

 

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts