นักวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค้นพบ แมลงชนิดใหม่ของโลก “ริ้นมหาสารคาม” Culicoides mahasarakhamense แมลงในสกุล Culicoides หรือริ้น ในวงศ์ Ceratopogonidae ริ้นสปีชีส์ใหม่นี้ค้นพบครั้งแรก ณ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ค้นพบโดยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะ



ชื่อผลงาน ผู้รับผิดชอบ และชื่อผลงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ 
        Pramual, P., Jomkumsing, P., Piraonapicha, K., & Jumpato, W. (2021). Integrative taxonomy uncovers a new Culicoides (Diptera: Ceratopogonidae) biting midge species from Thailand. Acta Tropica, 220, 105941.
ผู้แต่ง
        ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล
        นายปัญญา จอมคำสิงห์
        นายกัลยกร พิราอรอภิชา
        นางสาววราภรณ์ จำปาโท  

กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
งานวิจัยเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย เรื่อง ความหลากหลายของแมลงพาหะ และความสัมพันธ์กับเชื้อก่อโรคลิวโคไซโตซูโนซิสในสัตว์ปีกในประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความหลากหลายของแมลงที่เป็นพาหะของเชื้อก่อโรคลิวโคไซโตซูโนซิสในสัตว์ปีกในประเทศไทย ซึ่งโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อโปรโทซัวในสกุล Leucocytozoon ที่มีแมลงดูดเลือดในวงศ์ Simuliidae หรือแมลงริ้นดำ และแมลงในสกุล Culicoides หรือริ้น ในวงศ์ Ceratopogonidae เป็นพาหะ 



       ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาความหลากหลายของแมลงกลุ่มนี้ เนื่องจากองค์ความรู้ด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายทางชีวภาพของริ้นในสกุล Culicoides ของประเทศไทยยังมีน้อยมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากต่อความรู้ ความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบาดวิทยาของโรคต่างๆ ที่มีแมลงเหล่านี้เป็นพาหะ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการหาแนวทางป้องกัน หรือกำจัดโรคที่เกิดในสัตว์เลี้ยงที่สำคัญทางเศรษฐกิจในอนาคต
 
ที่มาของชื่อ “ริ้นมหาสารคาม”
       สำหรับที่มาของชื่อ “ริ้นมหาสารคาม” นั้น มาจากสถานที่ ที่ค้นพบแมลงชนิดนี้ครั้งแรก โดยพบที่บ้านหวาย ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม จึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามจังหวัดที่ค้นพบ คือ Culicoides mahasarakhamense Pramual, Jomkumsing, Piraonapicha, Jumpato, 2021 หรือ “ริ้นมหาสารคาม” ริ้นชนิดนี้นอกจากจะพบในจังหวัดมหาสารคามแล้ว ยังพบในพื้นที่อื่นๆ เช่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ เป็นต้น

จุดเด่นของงานวิจัย 
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยโดยใช้วิธีบูรณาการ ข้อมูลทั้งด้านสัณฐานวิทยา นิเวศวิทยา พฤติกรรม และพันธุศาสตร์โมเลกุล เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของริ้นสกุล Culicoides นอกจากนี้ยังตรวจหาเชื้อก่อโรคในริ้นเหล่านี้ด้วย ทำให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมในหลายมิติ เช่น ทราบว่าริ้นมหาสารคาม เป็นริ้นชนิดใหม่ของโลก โดยการเปรียบเทียบข้อมูลจากทั้งสัณฐานวิทยา และพันธุศาสตร์โมเลกุล นอกจากนี้การใช้เทคนิคพันธุศาสตร์โมเลกุลตรวจสอบชนิดของสัตว์ ที่ริ้นมหาสารคามดูดเลือด ทำให้ทราบว่าริ้นชนิดนี้ดูดเลือดไก่พื้นเมือง รวมถึงอาจเป็นพาหะนำเชื้อก่อโรคบางชนิด ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม

ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน
ปัญหา และอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการวิจัย ในระยะที่ผ่านมา คือข้อจำกัดในการเดินทางออกภาคสนาม เพื่อเก็บตัวอย่าง เนื่องจากสถาณการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการสนับสนุนอย่างไร
ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะโครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2564 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ และแก้ไขบทความวิจัยก่อนที่จะส่งไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ



ในอนาคตจะมีการพัฒนางานวิจัยอย่างไรบ้าง
งานวิจัยที่ดำเนินการอยู่ เป็นงานวิจัยพื้นฐาน ซึ่งโดยเป้าหมายแล้วไม่ได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ แต่ในอนาคต เมื่อมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแมลงพาหะของเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นเชื้อก่อโรคในสัตว์เศรษฐกิจ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกับนักวิจัยท่านอื่นๆ เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ เช่น ชุดตรวจโรค สารป้องกัน หรือไล่แมลงดูดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ในอนาคตจะพยายามที่จะรวบรวมข้อมูล ความหลากหลายของแมลงพาหะนำโรคที่สำคัญในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นโรคเฉพาะถิ่น เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนในนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
ในความเป็นจริง ผู้วิจัยก็ยังเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่เช่นกัน เนื่องจากการทำงานวิจัยเป็นงานที่จะต้องทำสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อค้นหาสิ่งที่ยังไม่มีคำตอบในปัจจุบัน ดังนั้นก็ขอฝากให้ท่านที่เริ่มทำงานวิจัย อยากให้ทำในสิ่งที่สนใจ และทำในประเด็นเดียวอย่างต่อเนื่อง อย่าเปลี่ยนสิ่งที่ทำบ่อยเกินไป ควรมุ่งเน้นในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อสะสมความเชี่ยวชาญ

คติในการทำงาน

ผู้ที่สนใจงานวิจัยชิ้นนี้สามารถติดต่อได้ที่ไหน
ท่านที่สนใจสามารถสืบค้นงานวิจัยได้จากวารสาร Acta Tropica ฉบับที่ 220 เดือนสิงหาคม 2564 ตาม link https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0001706X21001200
หรือติดต่อผู้เขียนได้ทาง E-mail: pairot.p@msu.ac.th

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts