ภายใต้พันธกิจของหน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) สังกัดคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บูรณาการความร่วมมือกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะการบัญชีและการจัดการ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ คณะวิทยาการสารสนเทศ  คณะศิลปศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน และองค์การบริหารส่วนตำบลนาเชือกภายใต้การดูแลของ ดร.ธายุกร พระบำรุง หัวหน้าโครงการและผู้ประสานเครือข่ายนักวิจัยสหวิทยาการ อาจารย์สังกัดคณะสิ่งแวดล้อมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  


        เพื่อยกระดับพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน เป็นแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของความร่วมมือ สหวิทยาการ  จากฐานทุนทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  สอดรับกับความเป็นเมืองตักสิลานคร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการวางโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชื่อโครงการ และผู้รับผิดชอบ
        การพัฒนาศักยภาพพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพันเป็นศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมแบบองค์รวม (แหล่งทุน:  กองทุนสิ่งแวดล้อม)

กล่าวถึงที่มาของการจัดทำโครงการ
          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพันมีความโดดเด่นด้านระบบนิเวศวิทยา ในฐานะเป็นถิ่นอาศัยของปูทูลกระหม่อม ที่พบได้แห่งเดียวในโลก จึงนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้เพียงแห่งเดียวในจังหวัดมหาสารคามที่มีความจำเพาะ และเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ และสามารถบูรณาการให้เกิดภาพของการเป็นตักสิลานครได้ โดยอาศัยความร่วมมือการดำเนินการในรูปแบบสหวิทยาการ ด้วยองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  ในขณะที่องค์ความรู้ทางวิชาการ ทั้งสถานภาพของปู ระบบนิเวศวิทยาและปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรของปู  รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพรรณไม้ และสัตว์ป่า  จำเป็นต้องมีการศึกษา การรวบรวมจากฐานความรู้เดิมที่ยังกระจัดกระจายอยู่ รวมถึงความสัมพันธ์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น และประสบการณ์ของพื้นที่  และปรับปรุงให้มีความทันสมัย และทันเหตุการณ์ ร่วมกับการจัดการองค์ประกอบเชิงพื้นที่ที่อาศัยสื่อในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย และการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งมีบทบาทด้านการสร้างการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน และสามารถเชื่อมกับหัตถกรรม และศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยว ในการสื่อสารข้อมูล เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับกลุ่มคนทุกเพศวัย ให้สามารถเข้าถึง จนเกิดความรู้ เข้าใจ และความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ หวงแหน และเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการนี้ ที่ดำเนินการ โดยอาศัยการกำหนดเป้าหมายร่วม การดำเนินการร่วม การผลักดันร่วมโดยกิจกรรมของพื้นที่ ที่จะทำให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน   


วัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการ
      เพื่อยกระดับพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน เป็นแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของความร่วมมือ สหวิทยาการ  จากฐานทุนทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  สอดรับกับความเป็นเมืองตักสิลานคร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการวางโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบและการพัฒนาที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีส่วนร่วมดำเนินการอย่างไรบ้าง
       ภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพันเป็นศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมแบบองค์รวม” ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแก้ข้อเสนอเพิ่มเติม และได้เชื่อมผลลัพธ์จากการดำเนินการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเกิดผลลัพธ์  ที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำเนินการโดยบูรณาการร่วมมือในรูปกิจกรรมของแต่ละคณะดำเนินการ โดยมีหัวหน้าโครงการ เป็นผู้เชื่อมผลลัพธ์การดำเนินการ  แบ่งเป็น
       1) คณะทำงานฝ่ายพัฒนาข้อมูลวิชาการและสารสนเทศภูมิศาสตร์นำโดยสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช  พร้อมด้วยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และคณะวิทยาการสารสนเทศ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน   
      2) คณะทำงานฝ่ายพัฒนาภูมิสถาปัตย์ สื่อสร้างสรรค์ และระบบข้อมูลดิจิทัล นำโดยคณะศิลปศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ คณะวิทยาการสารสนเทศ  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์   และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน   
      3) คณะทำงานฝ่ายพัฒนากลไกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และการสร้างอาชีพ นำโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะการบัญชีและการจัดการ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ และองค์การบริหารส่วนตำบลนาเชือก  ทั้งนี้ได้ทบทวนผลลัพธ์จากโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และเชื่อมโยงเกิดผลลัพธ์เชิงบูรณาการ โดยหัวหน้าโครงการ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานเครือข่ายนักวิจัยสหวิทยาการ ภาคชุมชน  และดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ  รวมถึงการขอความอนุเคราะห์การบริการวิชาการจากหลายคณะ ที่มีพันธกิจในการช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว เพื่อนำเอาความรู้ และความเชี่ยวชาญของศาสตร์นั้นๆ มาเป็นฐาน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่มิติต่างๆ โดยเริ่มจากการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ ที่เชื่อมรูปแบบการสื่อสาร ผ่านสื่อสร้างสรรค์ ได้แก่ ประติมากรรม จิตรกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และระบบข้อมูลดิจิทัล และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดความตระหนักด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และได้รับประโยชน์ร่วมกัน  

 
แผนผังในการกำหนดฐานการเรียนรู้ดิจิทัล
      การดำเนินการของโครงการครั้งนี้ อาศัยเครือข่ายภาคชุมชน ได้แก่ กลุ่มคนรักนาเชือก ในเครือข่ายของโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์  โดย ดร.สุปราณี รัตนธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ เป็นประธานกลุ่มฯ ในการอำนวยการให้เกิดการผลักดันการพัฒนาพื้นที่นาเชือก โดยที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน มีโครงการต่างๆ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นการดำเนินการในรูปแบบสหวิทยาการ ร่วมกับโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์และโรงเรียนเครือข่าย และชุมชน ประกอบด้วย โครงการบริการวิชาการกึ่งวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ ฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์จอมปลวก   และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง สำหรับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน จ.มหาสารคาม https://termite-data.msu.ac.th โครงการการจัดการองค์ความรู้ท้องถิ่น สำหรับเยาวชน สู่การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน ปีที่ 1 และการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน แบบสหวิทยาการ สู่การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปีที่ 2 ทั้งปีที่ 1 และ 2 โดยความร่วมมือระหว่างคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะการบัญชีและการจัดการ และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว)  โดยได้พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3 มิติ (เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม)  เฉพาะบริบทของพื้นที่นาเชือก  โดยมีครูพี่เลี้ยงต่างกลุ่มสาระร่วมพัฒนา ประกอบด้วย ครูรัชนี เปาะศิริ ครูธัญญาณี ดีพลงาม ครูศุฑาวัฒน์  ไชยสา ครูนุชรินทร์  ปีนะกาตาโพธิ์ และ ครูยงยุทธ  วงผักเบี้ย กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ และได้สะท้อนบทเรียน สู่การจัดทำภาพยนตร์สั้น เรื่อง “วัด เถอะ นะ ทำ” โดยภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นภาพยนต์ที่คนนาเชือกมีส่วนร่วมและสะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่นาเชือก ในทุกมิติ  คาดว่าจะสามารถฉายในเดือนกันยายน 2564 รวมถึงการแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ โดยเนื้อร้องทำนอง  โดยคุณสิงห์ สารคาม เนื้อหมอลำ  โดยคุณสนั่น รัตนธรรม  เรียบเรียง โดยชบาไทยอีเว้นท์  ขับร้องโดย คุณณรงค์กร กมลคุณพนา   และทีมนักดนตรี ประกอบด้วย  คุณธีรวัฒน์ ปิตโต  (เสียงแคน/ร้องลำ) คุณธนวิทย์  เอกะรงค์  (พิณ, ออร์แกน) คุณเกียรติภูมิ ล่ามแขก (ร้องแรพ)  และคุณณัฐพล เนื่องไชยยศ (เบส) นอกจากนี้ ยังต่อยอดสู่การพัฒนาเว็บไซต์ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น และนิทรรศการออนไลน์ (E-exhibition) โดยการบูรณาการความร่วมมือกับคณะวิทยาการสารสนเทศ โดยนำร่องใน 3 ประเด็น คือ 1) กลุ่มอาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชน  2) ภูมิปัญญาท้องที่เกี่ยวกับความเชื่อและศาสนา และ 3) พืชสมุนไพรท้องถิ่นและตำรายาพื้นบ้าน


       
         โครงการบูรณาการหลักสูตร เรื่อง “การจัดการองค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีของตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก  จ.มหาสารคาม” โดยความร่วมมือของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ และคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท ทราเวลเทคโนโลยี เซอร์วิส จำกัด  โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะของเยาวชนให้เพียงพอต่อการเป็นยุวมัคคเทศก์ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่นาเชือก ครอบคลุมถึง การพัฒนาองค์ความด้านวิจัย โดยนิสิตปริญญาตรีของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ในการสกัดคุณค่าของวัตถุดิบด้านสมุนไพรในท้องถิ่นสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ และการฝึกประสบการณ์ให้กับนิสิตภาควิชาภาษาเกาหลี ในการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมและสื่อ ทั้งนี้ได้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ ในรูปของการ์ตูนแอนิเมชัน ภาษาเกาหลี: https://www.facebook.com/dunlamphanmodel/videos/497526187794052 กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อำเภอนาเชือก คือ กลุ่มพลังสตรีอำเภอนาเชือก โดย คุณวิลาวรรณ พิพัฒน์ชัยกร ประธานกลุ่มฯ ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอนาเชือก และโรงเรียนผู้สูงอายุ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ บริเวณสะพานฮักนาเชือก และผลักดันการฟื้นอัตลักษณ์ของพื้นที่อำเภอนาเชือก  โดยความร่วมมือของพี่น้องคนนาเชือก ประกอบด้วย    การปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ จำนวน 100 ต้น การปล่อยปลาบู่ (Oxyeleotris marmorata) ซึ่งปัจจุบัน มีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก  จำนวน  20,000 ตัวลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ  โดยได้รับการสนับสนุนของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสารคาม (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ร่วมกับ อบต. เขวาไร่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม กพสอ.นาเชือก โรงแรมตักสิลามหาสารคาม สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ จะมีการขยายเป็นหัวข้อวิจัย เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพของปลาในอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ อ.นาเชือก โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้มีการปลูกต้นเชือก 2,000 ต้น ในทุกหมู่บ้านและสถานที่ราชการ และหากดูแลต้นไม้ที่ปลูก จนมีเส้นรอบวงระดับอก จนมีค่ามากกว่า 14.14 เซนติเมตร จะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่ากับ 16.8 ตัน ซึ่งการดำเนินการนี้ สอดรับกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดมหาสารคามในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเตรียมพร้อมแหล่งวัตถุดิบที่จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ของชุมชน และการบรรเทาภาวะโลกร้อน  ทั้งนี้ ต้นเชือกหรือรกฟ้า  (Terminalia alata Heyne ex Roth) นั้น  มีความเกี่ยวข้องกับที่มาของพื้นที่อำเภอนาเชือก รวมถึงมีสรรพคุณด้านสมุนไพรและภูมิปัญญาที่ต่อยอดเป็น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ได้   ซึ่งได้มีการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ริมอ่างห้วยค้อขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของพื้นที่สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเน้นด้านวิถีชีวิตการทำการเกษตรอินทรีย์ริมอ่างห้วยค้อและผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปจากต้นเชือก ที่ผนึกกำลังกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชน (บ้านหนองทิศสอน) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะกล้าเชือก ไม้ยืนต้น และพืชสมุนไพร  และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านห้วยทราย ผู้ผลิตผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ โดยได้ย้อมสีผ้าจากเปลือกเชือก ซึ่งใช้เป็นอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์จากพื้นที่นาเชือก และยังสามารถเชื่อมการดำเนินการไปยังวิสาหกิจแห่งอื่น ๆ ในพื้นที่ โดยในการดำเนินโครงการนั้น พยายามผลักดันให้เกิดการสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วม กล่าวคือ มีสัญลักษณ์ปูทูลกระหม่อม ปรากฎในแบรนด์สินค้าของชุมชน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่เป็นจุดแข็งเชิงพื้นที่ที่พื้นที่อื่นไม่มี  นอกจากยังครอบคลุมถึงการจัดการขยะ ที่เน้นทั้งต้นทางและปลายทาง ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนและมีความท้าทาย ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ จะได้บูรณาการความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อผลักดันให้เทศบาลตำบลนาเชือก 

       
         การนำเอาอัตลักษณ์ของพื้นที่ มาเป็นฐานในการพัฒนาวิถีชิวิตและความเป็นอยู่ สู่เศรษฐกิจโมเดลใหม่ (BCG Model) ที่มุ่งเน้นการเข้าใจทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ การหมุนเวียนวัตถุดิบ และการใช้ กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากพัฒนาศักยภาพของชุมชน ได้แก่ กลุ่มอาชีพ เยาวชน และผู้สูงวัย ได้แก่  การพัฒนาสบู่สมุนไพรจากเปลือกต้นเชือก (จากฐานการพัฒนาเยาวชน โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ และสร้างบทบาทในการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และพัฒนาพื้นที่ ผ่านการจัดการเรียนและการสอนในหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)  การย้อมผ้าจากเปลือกเชือก (จากฐานทุนฝีมือและภูมิปัญญาของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านห้วยทราย) การพัฒนาหมอนปู            (อยู่ระหว่างการพัฒนาต้นแบบและต่อยอดสู่การสร้างอาชีพ) การพัฒนากระถางปู (อยู่ระหว่างการพัฒนาต้นแบบ) การแปรรูปปลาบู่ตากแห้ง (อยู่ในแผนการดำเนินการ) และการพัฒนาทุงรูปปู (อยู่ระหว่างการพัฒนาต้นแบบเพื่อเชื่อมกับกิจกรรมและบทบาทของผู้สูงวัยด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น) 
      การพัฒนาที่มุ่งเน้นการการเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น อาศัยเวลา และคนในพื้นที่ ต้องมีส่วนร่วมในการผลักดันไปสู่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดจากการบูรณาการโครงการหรือกิจกรรมจากหลายภาคส่วน มาเติมเต็มพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายที่ชัด ทั้งระยะสั้นและยาวที่มองควบคู่กันทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนพื้นที่นาเชือก ภาคจังหวัด และประเทศ ที่สอดรับกับเศรษฐกิจโมเดลใหม่และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) อย่างแท้จริง 



พื้นที่นาเชือกพิเศษอย่างไรถึงเลือกดำเนินโครงการ  
      ต้นทุนของพื้นที่ด้านทรัพยากรธรรมชาติของอำเภอนาเชือก ได้แก่ พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน ที่มีความโดดเด่นด้านระบบนิเวศวิทยา และถิ่นอาศัยของปูทูลกระหม่อม ซึ่งมีศักยภาพที่จะยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติดิจิทัล ที่เกิดจากดำเนินการในรูปแบบสหวิทยาการ ที่สอดรับกับการเป็นเมืองตักสิลานครและเมืองสมุนไพร  และแหล่งกักเก็บน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ ที่มีศักยภาพหลายด้าน ทั้งแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว และการประกอบอาชีพ  และพลังกลุ่มสตรี กลุ่มคนรักนาเชือก เครือข่ายภาคชุมชน และผู้นำท้องถิ่น ที่สามารถผลักดันการพัฒนาในมิติของการบูรณาการความร่วมมือทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน  โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Co-Mission)  รวมถึงสามารถกำหนดตัวชี้วัดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น อีกทั้งความพร้อมของพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ที่ได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับ เช่น การสร้างโรงอาหาร ห้องน้ำ และอาคารเอนกประสงค์    ซึ่งสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน  และสามารถเป็นนาเชือกโมเดลได้ 


มิติด้านสังคม
(การกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน การพัฒนาอัตลักษณ์ของพื้นที่นาเชือก การสร้างการรับรู้ การพัฒนเครือข่ายชุมชน และการพัฒนาศักยภาพของชุมชน)

มิติด้านเศรษฐกิจ
(ทุนฝีมือด้านอาชีพ การนำอัตลักษณ์ของพื้นที่สู่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการสร้างรายได้)

มิติด้านสิ่งแวดล้อม
(การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ/การจัดการสิ่งแวดล้อม)
   
     
ความโดดเด่นพื้นที่นาเชือกเป็นอย่างไร 
       สำหรับพื้นที่อำเภอนาเชือกมีความโดดเด่นด้านระบบนิเวศวิทยาของพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพันที่จำเพาะกับการเป็นถิ่นอาศัยของปูทูลกระหม่อม (Thaipotamon chulabhorn) ซึ่งเป็นปูน้ำจืดที่มีสีสันสวยงาม ประกอบด้วย 4 สีคือ ม่วง แสด เหลือง ขาว โดยกระดองมีสีม่วงเปลือกมังคุด ที่พบได้แห่งเดียวในโลก รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสัตว์และพืช โดยเฉพาะพืชสมุนไพร ที่จะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และจุดรวบรวมพรรณไม้ที่สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการใช้ประโยชน์ด้านศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่น เช่น สีย้อมธรรมชาติจากต้นเชือกหรือรกฟ้า ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่พบมากในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน และเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่นาเชือก  ที่จะสร้างเศรษฐกิจฐานรากได้  นอกนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ ที่มีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร รองรับภัยแล้ง และการอุปโภค   แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  ได้แก่ พัทยา1 และ 2 ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ เช่น ปลาบู่ ที่เชื่อมโยงกับการทำมาหากินของคนในพื้นที่นาเชือก  และวิถีชีวิตการทำสวนผักริมอ่าง  รวมถึงที่พักสงฆ์เกาะโน่นข่า ที่สามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในพื้นที่  รวมถึงคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาในด้านสถาปัตยกรรมในพุทธสถานในพื้นที่ เช่น  วัดหนองเลาและวัดบ้านเหล่าค้อ
      เรามีวิธีการดำเนินงานอย่างไรถึงจะดึงความเป็นอัตลักษณ์ของนาเชือกสื่อออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
สำหรับวิธีการดำเนินอย่างไรที่จะสามารถดึงความเป็นอัตลักษณ์ของอำเภอนาเชือกออกมาได้นั้น คือโครงการฯ ได้จัดกิจกรรมจัดการองค์ความรู้  โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งการทบทวนภูมิปัญญาท้องถิ่นและข้อมูลความเป็นมาของพื้นที่นาเชือก และสิ่งค้นพบในพื้นที่ และความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ ในด้านทุนทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี วิถีชีวิต ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการประกอบอาชีพ เพื่อสะท้อนจุดแข็งของพื้นที่ ที่เป็นจุดขาย หรืออัตลักษณ์ของพื้นที่ ที่เป็นรากฐานความเป็นมาของพื้นที่นาเชือก และโอกาสทิศทางที่เป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ในแบบสหวิทยาการ รวมถึงจุดอ่อน และสิ่งคุกคามที่มีอยู่ 



เรามีการพัฒนาและดำเนินงานอย่างไร
         เรามุ่งเน้นให้ส่วนพื้นที่ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Co-Mission) สำหรับการพัฒนาพื้นที่นาเชือก ว่าต้องการเห็นนาเชือกเป็นอย่างไร ใน 3 ปี ข้างหน้า 6 ปีข้างหน้า และต่อไป ที่พิจารณาควบคู่กับความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง โดยสะท้อนทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นจุดแข็งของพื้นที่ให้พื้นที่รับทราบ การดำเนินกิจกรรมของโครงการ พยายามที่จะบูรณาการกับแผนกิจกรรมของแต่ละส่วนงาน เพื่อให้เกิดภาพของตัวชี้วัดร่วม (Joint Indicator)  และเชื่อมกับผลลัพธ์จากการดำเนินการที่ได้ดำเนินการที่ผ่าน โดยวิเคราะห์ช่องว่าง  เพื่อนำมาต่อยอด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ และได้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นไปในเป้าหมายเดียวกันและต่อเนื่อง โดยชุมชนร่วมดำเนินการในทุกมิติ 



ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ไปในทิศทางไหนเพราะอะไร
         สำหรับแผนต่อไปคือ การยกระดับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน เป็นแหล่งเรียนรู้ดิจิทัลที่อำนวยให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจ สำหรับทุกเพศและวัย  แบ่งเป็น 2 บริเวณ: 1) เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และ 2) ฐานการเรียนรู้ที่จะพัฒนาขึ้น  8 ฐาน ประกอบด้วย ประวัติความเป็นมา ปูทูลกระหม่อม ระบบนิเวศวิทยา พรรณไม้ พืชสมุนไพร สัตว์ หัตถกรรม/ศิลปวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งเป็นขยายผลจากฐานการเรียนรู้ที่เชื่อมในภาคของอำเภอนาเชือก ในรูปแบบของระบบข้อมูลดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการ ในเป้าหมายหลัก คือ เป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน เป้าหมายรอง เป้าหมาย  1 ขจัดความยากจนทุกรูปแบบทุกสถานที่ เป้าหมาย 2 ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เป้าหมาย 3 รับรองการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกช่วงอายุ เป้าหมายที่ 4 รับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ พัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง เป้าหมาย 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และเป้าหมายรอง เป้าหมาย 13 ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
  ทั้งนี้ แผนในอนาคต คือ การบูรณาการองค์ความรู้ที่ได้พัฒนาขึ้นในแต่ละฐานการเรียนรู้ ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน สู่การพัฒนาอัตลักษณ์และต่อยอดสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ในฐานะเป็นจุดเชื่อมไปยังกิจกรรมต่าง ๆ ของพื้นที่ รวมถึงเศรษฐกิจฐานราก การใช้เครื่องมือดิจิทัล เพื่อสังเกตพฤติกรรมปูในสภาพธรรมชาติแบบทันเหตุการณ์ (Realtime) เพื่อลดการรบกวนและผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของปู และใช้เป็นสื่อการพัฒนาการเรียนรู้ รวมถึงการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นข้อมูล สำหรับทำความเข้าใจปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของปู สัตว์ป่า และพืช ที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการคงความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม สำหรับการเป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน 

พบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานอย่างไร
       ในหนึ่งพื้นที่ที่ต้องการพัฒนา มีหลายโครงการเข้าไป แต่แก้ปัญหาเพียงมิติเดียว ที่ยังไม่มองให้ครบวงจรของการพัฒนาที่จะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งได้ด้วยตนเอง ขาดการเชื่อมผลลัพธ์การดำเนินการที่ผ่านมา เพื่อเห็นช่องว่างและนำมาปรับปรุงในโครงการต่อ ร่วมถึงทิศทางการพัฒนาไม่ชัดและผู้นำ ยังมองภาพไม่ออก และมุ่งเน้นผลประโยชน์ที่ไม่ใช่เพื่อส่วนร่วม ซึ่งเป็นปัจจัยขวางกั้นการพัฒนาของพื้นที่ 


ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างไร
        การทำงานโดยการบูรณาการสหวิทยาการ ที่มุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ที่ภาคท้องถิ่น ต้องมีส่วนร่วมทั้งกำหนดทิศทางการดำเนินการที่ชัดเจน ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน  และร่วมผลักดันให้ไปสู่จุดนั้น เป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เพราะทุกศาสตร์มีเอกลักษณ์ ทั้งองค์ความรู้และการปฏิบัติการ ที่ไม่ขาดออกจากกัน แต่สามารถหลอมรวมกันจนได้ภาพของการพัฒนาที่สวยงามและยั่งยืน เพราะได้มองครอบคลุมทุกมิติ ตามข้อเท็จจริงนั้น  

คติในการทำงาน
         การทำงานด้วยความร่วมมือสหวิทยาการ ครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากฐานทุนความเข้มแข็งที่มีอยู่ของพื้นที่ รวมถึงเครือข่ายภาคชุมชน  และผลักดันให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน (Co-Benefit)  สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ได้กำหนดทิศทางร่วมกัน ด้วยความเข้าใจจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และสิ่งคุกคาม ของพื้นที่ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพ  เพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบแบบองค์รวมและเป็นไปอย่างยั่งยืน และทุกคน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งและภูมิใจในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น 
 


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts