มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีดับนิสิต คนเก่ง นายวัฒนชัย แก้วพิมพา นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คว้ารางวัลชมเชย ระดับอุดมศึกษา "การประกวดอ่านออกเสียงภาษาไทย " รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2564 วันนี้สาร MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปรู้จักพูดคุยกับนิสิตคนเก่งของเรา ตามเรามาเลยค่ะ
แนะนำตัวเอง
นายวัฒนชัย แก้วพิมพา ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครับ
รางวัลที่ได้รับจากการประกวด
ได้รับรางวัล ชมเชย จากการประกวดอ่านออกเสียงภาษาไทย รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2564 จัดโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ครับ
อยากหาประสบการณ์ใหม่ จึงตัดสินใจเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
กระผมได้รับทราบข่าวการประกวดในครั้งนี้จากเพื่อนในสาขา ผมสนใจอยากลองหาประสบการณ์จากเวทีใหม่ๆ ในรูปแบบใหม่ๆ โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกกับการประกวดอ่านออกเสียง ซึ่งการประกวดครั้งนี้เป็นการประกวดแบบออนไลน์แบ่งเป็น 2 รอบ คือ 1 รอบคัดเลือกโดยส่งอัดคลิปวิดีโออ่านออกเสียง ซึ่งจะคัดเลือกเหลือ 10 คนจากผู้สมัครทั้งหมด เพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ครับ
ด้วยความที่เป็นครั้งแรกในการประกวดอ่านออกเสียงของกระผม ก็จะมีความตื่นเต้น และความเครียดค่อนข้างมาก จึงพยามดาวน์โหลดบทอ่านออกเสียงมาฝึกฝนซึ่งในการประกวดครั้งนี้ กระผมมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 2 สัปดาห์ และด้วยคำแนะนำของ อ.ดร.รัญชนีย์ ศรีสมาน อ.ดร.มุจลินทร์ ลักษณะวงษ์ และกำลังใจคณาจารย์ทุกท่านทำให้กระผมสามารถผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้ครับ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจาก คณะวิทยากาสารสนเทศ ที่ได้เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายทำ นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ห้องโสตทัศนศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในการถ่ายทำคลิปวิดีโอ ซึ่งในการประกวดอ่านออกเสียงครั้งนี้กระผมได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ คณะ และมหาวิทยาลัย ซึ่งกระผมต้องขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
ความสำคัญในการ “การอ่านออกเสียงภาษาไทย” ต่อการดำเนินชีวิตของเรา
การอ่านเป็นเรื่องที่สำคัญและอยู่ใกล้ตัวเรามาก ในชีวิตประจำวันเราอาจคุ้นเคยกับการอ่านในใจ ซึ่งสามารถอ่านได้ง่ายและรวดเร็วมากกว่าการอ่านออกเสียง ซึ่งในการอ่านออกเสียงจะมีความยาก ในการอ่านให้ถูกต้องตามอักขรวิธี การเว้นวรรคและการไม่ตู่ ต่อ เติม หรือคำเพิ่ม โดยในฐานะที่เราเป็นเยาวชนที่สามารถฝึกในการอ่านออกเสียงให้ถูกต้องตามภาษามาตรฐานได้จะเป็นการอนุรักษ์ภาษาไทย และจะทำให้เราสามารถสื่อสารได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ สามารถส่งสารได้อย่างถูกต้อง ได้ใจความ และการอ่านยังสามารถพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราได้ ครับ
เล่าบรรยากาศในการแข่งขัน
ในการแข่งขันรอบแรกมีผู้ส่งคลิปวิดีโอเข้าประกวดทั้งสิ้น 70 คน ซึ่งทำให้เราค่อนข้างกังวลว่าจะไม่เข้ารอบชิงชนะเลิศได้ แต่เมื่อประกาศผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศมีชื่อกระผมอยู่ในลำดับที่ 6 วินาทีนั้นยอมรับว่าดีใจมาก ๆ คณาจารย์และเพื่อน ๆ ได้มาแสดงความยินดีและให้คำแนะนำในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศต่อไป ดีใจมากครับ
กับความรู้สึกวินาทีที่ได้รับรางวัล และความภาคภูมิใจกับความสำเร็จในครั้งนี้
ในรอบชิงชนะเลิศมีเวลาเตรียมตัวอ่านบท และอัดคลิปวิดีโอ จาก 9.00-12.00 ในขณะนั้นยอมรับว่าทำเต็มที่จนถึงวินาทีสุดท้าย และเมื่อประกาศผลผู้ชนะเลิศ และรางวัลชมเชยกระผมดีใจมากถึงแม้ว่าจะได้รับรางวัลชมเชยแต่เป็นความประทับใจที่ยิ่งใหญ่ของกระผมเลยทีเดียว เพราะเป็นครั้งแรกในการประกวดอ่านออกเสียงและสามารถเข้ารอบชิงชนะเลิศได้ครับ
การเรียนในมหาวิทยาลัยให้มีความสุข
การเรียนมหาวิทยาลัยให้มีความสุขนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมากครับ เพราะความสุขอยู่ที่ตัวเรา เพียงแค่เรารู้จัดการกับจิตใจของเราให้เป็นมิตรและคิดบวกอยู่เสมอ ซึ่งตัวเองผมจะมีเคล็ดลับในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้มีความสุข คือการแบ่งเวลาและลำดับความสำคัญในสิ่งที่ต้องทำก่อนและหลังอยู่เสมอ เช่น หากว่างเว้นจากการเรียน ผมก็จะเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย หรือคิดกิจกรรมใหม่ ๆ ให้สาขาอยู่เสมอ นอกจากการจัดการกับเวลาที่เป็นเรื่องสำคัญแล้ว การมีเพื่อนที่คอยสนับสนุน คอยรับฟัง และลุยไปกับเรา ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เรามีความสุขกับชีวิตในมหาวิทยาลัยได้ครับ
ฝากข้อคิดดีๆ ถึงเพื่อนพ้องน้องพี่
อยากฝากข้อคิดนะครับว่า หากไม่เดินออกจากจุดเดิมที่เคยอยู่ เราก็จะจมอยู่กับความไม่รู้ และเมื่อความไม่ไม่รู้เข้าครอบงำ เราก็จะมองทุกอย่างเป็นเรายากเสมอ ดังนั้นเดินออกมาจากจุดเดิม แล้วเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มองโลกให้กว้างขึ้นเราจะรู้ว่ามีอีกหลายอย่างที่จะให้เราได้เรียนรู้อยู่มากมายครับ
เชิญชวนน้องๆ ที่สนใจเข้ามาเรียนในสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
หลายคนคงคิดว่า ภาษาไทย เป็นภาษาที่ง่ายใช้พูดคุยกันอยู่ทุกวันจะเรียนไปทำไม กระผมก็เป็นหนึ่งคนที่เคยมีความคิดเช่นนี้ จนกระทั่งได้เข้ามาศึกษาที่ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้กระผมเข้าใจว่าในลึก ๆ แล้วภาษาไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีอักขระอักษร มีกลวิธีการเขียน การพูดที่เป็นเอกลักษณ์ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เราหลายคนมองข้าม ทั้งนี้ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยภาษาก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสาร เพียงแค่เราลองมาสัมผัส ลองมาทำความรู้จักกับภาษาไทยให้มากขึ้นเราจะรู้ว่าภาษาไทย คือ มรดกแห่งความภาคภูมิใจที่ถูกส่งต่อมา ขอบคุณครับ