มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีดับนิสิต คนเก่ง นางสาวเจียมใจ สายรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา "การประกวดอ่านออกเสียงภาษาไทย " รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2564  วันนี้สาร MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปรู้จักพูดคุยกับนิสิตคนเก่งของเรา ตามเรามาเลยค่ะ



แนะนำตัวเอง
    สวัสดีค่ะดิฉัน นางสาวเจียมใจ สายรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ค่ะ

รางวัลที่ได้รับจากการประกวดครั้งนี้
    รางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา การประกวดอ่านออกเสียงภาษาไทย รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2564 จัดโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ค่ะ

รับทราบข่าวการประกวดได้อย่างไร / รูปแบบในการจัดประกวด 
 ทราบข่าวจากอาจารย์ที่สอนวิชาเอกโพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กของชั้นปีค่ะ จริง ๆ แล้วอยากประกวดโครงการนี้ตั้งแต่ตอนอยู่ปี 1 แล้วค่ะ แต่ตอนนั้นเป็นนิสิตใหม่ยังไม่ค่อยรู้จักกับอาจารย์มากนัก เลยไม่กล้าปรึกษาใครค่ะ พอปีนี้ทราบข่าวว่ามีการจัดประกวดอีก ก็รีบไปขอสมัครกับอาจารย์เลยค่ะ เพราะสนใจอยากลงประกวดนานแล้ว โดยการประกวดนี้จะแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศค่ะ รอบคัดเลือกเขาจะให้อัดคลิปวิดีโออ่านบทที่กำหนดให้ส่งไป จากนั้นจะคัดให้เหลือ 10 คนค่ะ ส่วนรอบชิงชนะเลิศ จัดในวันที่ 31 กรกฎาคม กรรมการจะส่งเรื่องที่ใช้ประกวดเข้ากลุ่มไลน์ ได้รับพร้อมกันทุกคน แล้วให้เวลาอัดคลิปวิดีโอส่งได้ถึง 12.00 น. มีเวลา 3 ชั่วโมงในการอัดคลิปส่งไปค่ะ



มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
    พอรู้ว่ามีการประกวดโครงการนี้ก็ซ้อมอ่านออกเสียงทุกวันเลยค่ะ บทข่าวบ้าง นิทาน เรื่องสั้น อ่านทุกอย่างที่ได้ฝึกออกเสียงค่ะ จะได้เรียนรู้คำศัพท์ยากที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อนด้วยค่ะ มีเวลาประมาณ 1 เดือนในการฝึกซ้อม ซึ่งอาจารย์ที่ฝึกซ้อมให้ ก็คือ อาจารย์รัญชนีย์ ศรีสมาน และอาจารย์มุจลินทร์ ลักษณะวงษ์ ค่ะ ช่วงนี้โควิดระบาดหนัก ก็ต้องฝึกซ้อมออนไลน์ค่ะ อาจารย์ก็จะนัดประชุมให้อ่านให้ฟังผ่าน Webex แล้วก็จะให้คำแนะนำไปปรับปรุงในส่วนที่ยังมีปัญหาในการออกเสียงหรือการแบ่งวรรคตอนค่ะ



    อาจารย์ดูแลอย่างดีตลอดช่วงการฝึกซ้อมเลยค่ะ ตอนรอบคัดเลือกท่านก็ทำเรื่องขอใช้สถานที่ห้องอัดเสียงของคณะ IT ให้ แล้วก็ให้รุ่นพี่มาช่วยบันทึกวิดีโอให้ค่ะ รอบชิงชนะเลิศท่านก็คอยเตือนเรื่องการรักษาเสียงให้พร้อมสำหรับวันแข่ง 
คอยเช็คว่ามีปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตไหมตลอดเลยค่ะ  อาจารย์ดูแลดีมาก

ความสำคัญในการ “การอ่านออกเสียงภาษาไทย” ต่อการดำเนินชีวิตของเรา
    การออกเสียงเป็นเรื่องที่สำคัญมากซึ่งเราไม่ควรมองข้ามไปเลยค่ะ ถ้าออกเสียงผิด ความหมายก็จะผิด คนฟังก็เข้าใจผิดด้วย การส่งสารรับสารก็จะล้มเหลวไม่มีประสิทธิภาพ  ร ล คำควบกล้ำต่าง ๆ ควรจะออกเสียงให้ชัดเจน เช่น คำว่า รัก กับ ลัก ถ้าออกเสียงผิด ความหมายก็จะเปลี่ยนไปคนละขั้วเลย ในอาชีพผู้ประกาศข่าวถ้าออกเสียงผิด อ่านผิด ข่าวนั้นก็จะขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ส่งผลเสียเป็นวงกว้างต่อไป การอ่านออกเสียงให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญมากค่ะ



เล่าบรรยากาศในการแข่งขัน/มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวนเท่าไหร่?
    รอบคัดเลือกมีประมาณ 60 กว่าคนที่ส่งเข้าประกวดค่ะ แล้วก็คัดให้เหลือ 10 คน ตอนแรกกังวลมากกลัวจะไม่ผ่านเข้ารอบ
1 ใน 10 ด้วยซ้ำ เพราะเป็นครั้งแรกของเรา ยังไม่มีประสบการณ์มาก่อนค่ะ พอผ่านมาได้โล่งอกมาก และรอบชิงชนะเลิศยิ่งกดดันกว่าเดิมอีก เพราะคนที่ผ่านมาในรอบนี้ส่วนใหญ่คือคนที่เคยเข้าร่วมประกวดมาก่อน เขาย่อมรู้เทคนิคมากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็ทำได้ คว้าชัยชนะมาได้สำเร็จ ดีใจมากค่ะ 

บอกเล่าความรู้สึกวินาทีที่ได้รับรางวัล และความภาคภูมิใจกับความสำเร็จในครั้งนี้
    ตอนนั้นกำลังนั่งเล่นอยู่หน้าบ้านค่ะ พอเห็นประกาศในเพจ ดีใจมากรีบวิ่งไปบอกแม่คนแรกเลยค่ะ จากนั้นก็ส่งข้อความบอกอาจารย์ ทุกคนก็ดีใจกับความสำเร็จนี้ด้วยค่ะ ดิฉันภูมิใจในตัวเองมาก ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นจริง ๆ สมกับที่เราทุ่มเทฝึกซ้อมในสิ่งที่เรารัก จากนี้ก็จะเก็บรางวัลนี้ไว้เป็นกำลังใจ ฝึกฝนต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อเตรียมแข่งขันในเวทีอื่นต่อไปค่ะ



ข้อคิดดีๆ  ถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ 
    การเรียนทำให้เรารู้แค่เรื่องที่อยู่ในกรอบ แต่หากเราได้ทำกิจกรรมไปด้วยจะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากมายที่คาดไม่ถึง อาจจะมีเหนื่อยบ้างแต่ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้เราภูมิใจในตัวเองที่สามารถข้ามผ่านมาได้ค่ะ มีความสุขกับสิ่งที่เลือก สนุกไปกับสิ่งที่ทำ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามขอเพียงมีความขยัน อดทน มุ่งมั่น เชื่อแน่ว่าไม่มีอะไรที่คนเราทำไม่ได้ นอกเสียจากว่าไม่อยากทำค่ะ

เชิญชวนน้องๆ ที่สนใจเข้ามาเรียนในสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 
    สำหรับสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เหมาะสำหรับทุกคนที่สนใจในการศึกษาภาษาถึงแก่นของภาษาจริง ๆ เลยค่ะ มีหลายอย่างให้เราได้ค้นคว้า ภาษาไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ตราบใดที่เรายังต้องใช้ภาษาในการสื่อสารกัน เพราะภาษาไทยคือหัวใจของทุกวิชา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในอาชีพต่าง ๆ ได้มากมายตามที่เราสนใจ ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไรดีอีก ต้องลองมาเป็นครอบครัวเอกไทยด้วยกันนะคะ^^

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts