"อยากประสบความสำเร็จ ต้องเพิ่มพูนทักษะอยู่เสมอ จงอย่าอ่อนซ้อม จงอย่าอ่อนฝึก และจงอย่าอ่อนขยัน" ข้อคิดดีๆ
จากนนทชัย อามาตย์มนตรี นิสิตสาขาดุริยางคศาสตร  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกกับตัวเองเสมอ 
และจากความพากเพียรนั้น  วันนี้เขาประสบความสำเร็จโดยคว้ารางวัล หรียญทอง ชมเชย ประเภทจะเข้ ระดับอุดมศึกษา จากการประกวดเดี่ยวเครื่องดนตรีไทย และขับร้องระดับชาติ “เสริมประสบการณ์ สืบสานสังคีตศิลป์ไทย” วันนี้ MSU ONLINE 
จะนำทุกท่านไปรู้จักกับเขา ตามเรามาเลยค่ะ



แนะนำตัวเอง..
    สวัสดีครับ ผมชื่อ นายนนทชัย อามาตย์มนตรี นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาดุริยางคศิลป์ไทย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ

เพราะรักในดนตรีไทย  จึงตัดสินใจเลือกเรียนสาขาดุริยางคศิลป์ไทย  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    ต้องขอเล่าย้อนไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ผมศึกษาในระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนหลักเมืองมหาสารคาม ในตอนนั้นศึกษาอยู่ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ทางโรงเรียนได้จัดอบรมดนตรีประจำตำบล ตัวเราก็ไม่ได้คิดอะไรหวังเพียงจะไปเล่นกับเพื่อนในวันเสาร์ อาทิตย์ เพราะสมัยก่อนนั้นยังไม่ได้มีสิ่งแวดล้อมหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่สมัย  สื่อโซเชียลก็ยังไม่มีอะไรมากนัก ความสุขของเด็กคือการที่ได้ไปพบกับเพื่อนๆ พอถึงวันครูก็ให้เลือกเครื่องดนตรีที่อยากเล่น โดยแบ่งแต่ละประเภท เครื่องดนตรีที่คนเลือกมากสุดคือ ระนาดเอก ทำให้กลุ่มนั้นคนเต็ม ตัวผมเลยจำเป็นต้องเลือกเล่น ซอด้วง เพราะคิดว่ามันคงง่าย การอบรมก็ผ่านไปด้วยดี ก็ผ่านไปเลยจริงๆ  เพราะผมก็ไม่จับเครื่องดนตรีไทยเลยเป็นระยะเวลา 1 ปี พอเลื่อนชั้นขึ้นไปเป็นระดับประถมศึกษาปีที่ 5 คุณครูคนแรกที่สอนดนตรีก็คือ คุณครูบุญมาก ปะตังถาโต ก็ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ตัวเราก็ไม่ได้คิดอะไรมากเพียงอยากไปเล่นเพื่อความสนุกตามวัยเด็ก ก็เลยรวมตัวกับเพื่อนๆเป็นตัวแทนเข้าไปแข่งขันครับ
    เวลาก็ล่วงเลยมาจนเรียนในระดับชั้น มัธยมศึกษาที่ โรงเรียนผดุงนารี ก็ได้รับความเมตตาจาก คุณครูพินิจ ชลารักษ์ เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านดนตรีไทยให้กับผม จนเวลาล่วงเลยมาในช่วงปลายของการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมก็เข้าแข่งขันดนตรีไทย ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ ซึ่งผลงานทั้งหมดก็เป็นที่น่าภูมิใจ ทั้งตัวผมเอง ครอบครัว คุณครู และเพื่อนๆ พอถึงช่วงรอยต่อการศึกษา ครูพินิจ ชลารักษ์ ผู้เป็นคุณครูที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้มาโดยตลอด ก็ได้แนะนำตัวกระผมเอง ให้เข้าศึกษาดนตรีไทยต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งคุณครูก็ได้แนะนำสถาบันการศึกษาหลายๆสถาบัน พร้อมบอกกับตัวผมว่า เธอเป็นคนเก่ง ขยันซ้อม ถ้าศึกษาไปในด้านดนตรีไทย จะมีอานาคตที่ดีแน่นอน การตัดสินใจในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาของผมก็ไม่ได้ยากเลย ถึงแม้จะอยากเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความที่เรามีอาจารย์ในดวงใจที่เราเห็นในคลิปในยูทูปมาเสมอซึ่งก็คือ ท่าน รองศาสตราจารย์พิภัช สอนใย ซึ่งสอนดนตรีไทยที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ทำให้เพิ่มการตัดสินใจได้มาก บวกกับเป็นมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน ทำให้เราตัดสินใจมาเรียนดนตรีไทย ที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครับ



เลือกเรียน "จะเข้" เพราะใจรัก
    ในระหว่างการเรียนชั้นปีที่ 1 ผมเลิอกเรียน "ซอด้วง" แต่ด้วยความที่ชอบเสียงของจะเข้ มาเป็นทุนเดิมแล้วในสมัยที่เรียนระดับมัธยมศึกษา แต่ขาดครูผู้สอนเลยทำให้ไม่ได้เรียนจะเข้ และเมื่อผมเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย มีโอกาสได้ศึกษาการเรียน "จะเข้ " ในรายวิชา รวมวง จึงทำให้ชื่นชอบมากขึ้นกว่าเดิม  เมื่อมีโอกาสจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิชาเอกจากเอกซอด้วง มาเป็นเอกจะเข้ จนถึงปัจจุบันนี้ครับ

รางวัลที่ได้รับจากการประกวดในครั้งนี้
    รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้เป็นรางวัล เหรียญทอง ชมเชย จากการประกวดเดี่ยวเครื่องดนตรีไทย และขับร้องระดับชาติ              “เสริมประสบการณ์ สืบสานสังคีตศิลป์ไทย” โครงการ 50 ปี ดนตรีบ้านสมเด็จฯ งานวันคล้ายวันพิราลัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ประจำปีพุทธศักราช 2564 และวาระครบรอบ 50 ปี ดนตรีบ้านสมเด็จฯ ครับ

รับทราบข่าวการประกวดได้อย่างไร       
    ได้รับข่าวสารจากชองทางเพจเฟสบุ๊ค ดนตรีไทย มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยอาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีไทย ว่าจะมีการประกวดดนตรีไทยขึ้น ซึ่งในระยะเวลาที่เข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่เคยกวดหรือแข่งขันกับใครเลย และได้รับกำลังใจสนับสนุนจากอาจารย์ประจำเครื่องมือเอก คือท่าน รองศาสตราจารย์พิภัช สอนใย ว่าให้ลองส่งใบสมัครและคลิปวีดีโอรอบคัดเลือกไปดู ตัวผมเองเลยตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวดครับ



มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
    แข่งขันรอบคัดเลือกจะเป็นการอัดคลิปวีดีโอส่งไปพร้อมใบสมัคร ซึ่งทางอาจารย์ผู้ฝึกสอน คือท่าน รองศาสตราจารย์พิภัช สอนใย ก็ได้นัดมาฝึกซ้อมก่อนส่งคลิปโดยใช้ระยะเวลาเพียง 3 วัน หลังจากส่งผลงานเข้าประกวดแล้ว ผลประกาศออกมาว่า ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ หลังจากนั้นก็มีระยะเวลาในการฝึกซ้อม ประมาณ 3 เดือนจะเป็นการประกวดรอบชิงชนะเลิศ 
ตามกำหนดการเดิมจะเป็นการบรรเลงต่อหน้าคณะกรรมการในสนามแข่งจริง แต่ด้วยการระบาดของ Covid-19 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการประกวดเป็นการส่งคลิปประกวดไปอีกครั้ง ครับ

ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ จึงทำให้ประสบความสำเร็จในวันนี้
    ทางด้านสนับสนุนของ รองศาสตราจารย์พิภัช สอนใย ท่านได้แนะนำ ตั้งแต่ส่งใบสมัคร การอัดคลิป การฝึกซ้อม รวมถึงยังเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางเพลง เทคนิคในการบรรเลง ตลอดจนจบการแข่งขัน และอาจารย์ ดร.พิษณุ บุญศรีอนันต์ ก็ยังเป็นอาจารย์ผู้ที่คอยติดตามข่าวสารการแข่งขัน คอยเป็นห่วงและให้กำลังใจตลอดระยะเวลาในการประกวด ถึงแม้ท่านจะไม่ใช่อาจารย์ประจำเครื่องมือเอกครับ ขอกราบขอบพระคุณทุกๆท่านครับ



เล่าบรรยากาศในการแข่งขัน    
    น่าเสียใจที่ภาพการประกวดที่ทุกคนเคยเห็น ที่มีทั้งความตื่นเต้นสนุกสนาน ได้หายไปเพราะการระบาดของ Covid-19 จึงทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน แต่กระนั้นก็ผ่านมาด้วยความเรียบร้อยดี ซึ่งจำนวนผู้เข้าประกวดในประเภทเครื่องดนตรี จะเข้ ในระดับอุดมศึกษา ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศมีทั้งหมด 10 คนและผมเป็นหนึ่งในนั้นครับ

บอกเล่าความรู้สึกวินาทีที่ได้รับรางวัล  /ความภาคภูมิใจกับความสำเร็จในครั้งนี้
    เป็นการรอคอยและลุ้นผลการประกวดที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิต เพราะเรามีหน้าที่แค่รอผลการประกวดจากทางผู้จัดเท่านั้น แต่เมื่อผลการประกวดออกมาก็ทำให้ดีใจจนพูดไม่ออก นำไปเล่าให้ทางครอบครัวฟัง ทุกคนก็ยินดีและภูมิใจในตัวเรา อีกทั้งคนรอบข้างก็เข้ามาให้กำลังใจเรามากมาย ทำให้เราอยากที่จะสืบสานศิลปะของประเทศเราต่อไปตลอดครับ



ข้อคิดดีๆ  ถึงเพื่อนพ้องน้องพี่
    นักดนตรี นอกจากจะใช้ความจำ ความคิด วิเคราะห์ ในบทเพลงนั้นๆแล้ว ผู้บรรเลงยังต้องฝึกฝนทักษะในการบรรเลงให้มาก เพื่อผลลัพธ์ที่ออกมาจะได้ดี และมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆคืออย่าอ่อนซ้อม อย่าอ่อนฝึก อย่าอ่อนขยัน ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็สามารถเพิ่มพูนทักษะประสบการณ์ของเราได้ตลอดครับ 

เชิญชวนน้องๆ ที่สนใจเข้ามาเรียน
    สุดท้ายนี้ สาขาดุริยางคศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็พร้อมที่จะต้อนรับน้องๆ หรือผู้ที่สนใจที่อยากจะเข้ามาศึกษาหาวิชาความรู้ ได้มาลองมาเรียนรู้ได้เสมอ  พวกเราอยู่กันแบบครอบครัว อาจารย์ มีความเป็นกันเอง ผมอยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสด้วยตัวเองนะครับ ขอบคุณครับผม





Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts