“ผมเชื่อว่าถ้าหากเราตั้งใจทำอะไรอย่างจริงจัง ไม่ท้อต่อปัญหาและอุปสรรคที่เจอ แม้บางครั้งจะเกิดปัญหาและมีอุปสรรค แต่หากเราไม่ย่อท้อและสนุกกับการทำงาน ท้ายที่สุดปัญหาทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไข” ...เป็นคำพูดที่ประทับใจจาก รัฐพล ภูมาตนา นิสิตสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ คนเก่ง เจ้าของผลงาน “THE SEA OF NANODOT” ผู้ซึ่งคว้า รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งระดับนานาชาติ International Sci Art Image Competition 2021
วันนี้ MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปพูดคุยกับเขา เกี่ยวกับผลงานซึ่งได้รับรางวัลและแนวคิดดีๆในการดำเนินชีวิตกับนิสิตคนเก่งคนนี้ของเรา ตามมาเลยค่ะ
แนะนำตัว
สวัสดีครับผมชื่อ นายรัฐพล ภูมาตนา ชื่อเล่น ดิว ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาท่านรองศาสตราจารย์พรรณวดี จุรีมาศ และท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์เจษฎา จุรีมาศ ครับ
รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้
ได้รับรางวัล ชนะเลิศอันดับ 2 ประเภท modeling and simulation category ในชื่อผลงาน “THE SEA OF NANODOT” จากการแข่งขัน International Sci Art Image Competition 2021 จัดขึ้นโดย INYAS The Indian National Young Academy of Science ซึ่งมีการส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 200 ผลงาน จาก 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ และ ประเทศไทย แบ่งเกณฑ์การพิจารณาเป็น 2 ประเภทได้แก่ Modeling and Simulation Category และ Experimental Category ซึ่งผมได้รับรางวัลในด้าน Modeling and Simulation Category และเป็นงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาในระดับปริญญาตรีครับ
เข้าร่วมโครงการประกวด “International Sci Art Image Competition 2021” ได้อย่างไร?
ได้รับข่าวสารจากทางท่านรองศาสตราจารย์พรรณวดี จุรีมาศ และท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์เจษฎา จุรีมาศ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยที่กระผมกำลังศึกษา โดยได้ให้โอกาสส่งรูปผลงานวิจัยเข้าประกวดในงาน “International Sci Art Image Competition 2021” ซึ่งมีการส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 200 ผลงาน จาก 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ และ ประเทศไทย
เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดของโครงการ “International Sci Art Image Competition 2021”
การจัดโครงการ “International Sci Art Image Competition 2021” จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษา และนักวิจัย โดยการนำเสนอผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ผ่านภาพทางวิทยาศาสตร์และศิลปะ Modeling and Simulation Category และ Experimental Category
แนวคิด/รายละเอียดของผลงานที่ได้รับรางวัล
ได้ทำการศึกษาและพัฒนาหน่วยความจำแบบสุ่ม Random-Access Memory หรือ RAM ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะนำความรู้ทางด้านฟิสิกส์เชิงลึก และความรู้ทางด้านวัสดุแม่เหล็กมาพัฒนาและประยุกต์ในเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูล ในอุปกรณ์การบันทึกข้อมูลเชิงแม่เหล็ก สู่การพัฒนาหน่วยความจำแบบสุ่มเชิงแม่เหล็กรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Spin transfer toque Magnetoresisive Random-Access Memory หรือ STT-MRAM ซึ่งมีโครงสร้างการบันทึกข้อมูลคือ Magnetic tunnel junction หรือ nanodot MTJ ทำให้สามารถเพิ่มค่าความจุที่มากขึ้น มีความเร็วที่สูงขึ้น และประหยัดพลังงานมาก
ยิ่งขึ้น โดยทำการศึกษาเชิงทฤษฎีผ่านการคำนวณในระดับอะตอมจึงเกิดเป็นผลงาน “THE SEA OF NANODOT” ที่ได้จากการศึกษาในงานวิจัยนี้ โดยโครงสร้างนี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้สำหรับกระบวนการอ่านและเขียนในการบันทึกข้อมูลของอุปกรณ์
สปินทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) หน่วยความจำแบบสุ่มเชิงแม่เหล็ก (MRAM) และหน่วยความจำแบบ racetrack
ความภาคภูมิใจของรางวัลนี้
รางวัลนี้เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ผมรู้สึกดีใจ และขอบพระคุณอาจารย์ที่ปรึกษาท่านรองศาสตราจารย์พรรณวดี จุรีมาศ และท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์เจษฎา จุรีมาศ เป็นอย่างสูงที่ได้กรุณาให้ผมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในหน่วยวิจัยและได้ส่งเสริม ชี้แนะแนวทาง อบรมสั่งสอน ขัดเกลาให้ผมมีการพัฒนาจนมีโอกาสได้รับรางวัลนี้ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านในภาควิชาฟิสิกส์ และมหาวิทยาลัยที่ได้ให้ความรู้ แนวคิด และสอนการปฎิบัติตน ขอบคุณรุ่นพี่ทุกคนที่หน่วยวิจัยที่คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจและเสนอข้อคิดเห็นให้ผลงานออกมาดี ขอขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้ให้การสนับสนุนในทุกด้านเป็นอย่างดี ขอขอบคุณครับ
มองอนาคตต่อไปของเรา
ในอนาคตกระผมคาดว่าจะเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ เพื่อนำเอาความรู้ที่ได้เรียนมาไปต่อยอดในการพัฒนางานวิจัยทางด้านวิทยาศาตร์ต่อไป
ข้อคิดในการดำเนินชีวิต
สำหรับข้อคิดเห็นในการดำเนินชีวิต โดยส่วนตัวผมแล้วคิดว่าสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตคือ การจัดการเวลาให้เป็น รู้หน้าที่ รู้เวลา ตั้งใจทำในทุกอย่าง ถึงแม้ต้นทุนเราอาจจะไม่เท่าคนอื่น แต่เราก็สามารถสร้างมันขึ้นมาได้ด้วยตัวเราเอง ขอให้เราเชื่อมั่นในตนเองก็พอว่าเราสามารถทำมันได้ เพราะปัญหาคือความท้าทายครับ
ความภาคภูมิใจ ความประทับใจ ในการเป็นนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ความภาคภูมิใจสำหรับการเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามคือ การได้เจอเพื่อนที่ดี อาจารย์ที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี และการสนับสนุนที่ดีจากทางคณะและมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษามักจะสอนผมอยู่เสมอว่า “โอกาสไม่ได้มาหาเราได้ง่ายๆ แต่ทุกครั้งที่เราได้รับโอกาสจงทำมันให้ดี และถ้ามีโอกาสก็จงส่งต่อโอกาสนั้นให้คนต่อๆ ไป” นี่เป็นความภาคภูมิใจและความประทับใจที่ผมได้มาอยู่ที่นี่ เป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ
แนะนำและเชิญชวนรุ่นน้อง ที่สนใจอยากเรียนในสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ : ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?
สำหรับรุ่นน้องที่อยากจะมาเรียน สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าน้องๆ คงจะมีคำถามในใจแล้วว่า “เรียนฟิสิกส์ยากไหม ???” มันคือคำถามยอดฮิต “ผมก็จะตอบตรงๆ เลยว่า มันยาก” แต่เราสามารถทำมันได้ เราสามารถเปลี่ยนความยากให้เป็นความสนุกได้ ขอแค่เราตั้งใจกับมัน ไม่ท้อแท้ ถ้าสนใจในวิชาฟิสิกส์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยินดีต้อนรับครับ ที่นี้มีอะไรให้เราได้ตื่นเต้นอยู่เสมอ…….ขอบคุณครับ
รางวัลที่ได้รับและผลงานที่ผ่านมา
ปี พ.ศ 2563 ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในโครงการ “Young Rising Stars of Science 2020” ในชื่อหัวข้องานวิจัย “Advanced device design of CoFeB-based magnetic tunnel junction for STT-MRAM applications” ในงานประชุมวิชาการ The 46th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT46) จัดขึ้นโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปี พ.ศ 2563 ได้รับรางวัลคนดี ศรีมมส ในระดับคณะซึ่งได้รับมอบรางวัล ในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปี พ.ศ 2564 ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ประเภท modeling and simulation category ในชื่อผลงาน “THE SEA OF NANODOT” จากการแข่งขัน International Sci Art Image Competition 2021 จัดขึ้นโดย INYAS The Indian National Young Academy of Science
ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ประเภท modeling and simulation category ในชื่อผลงาน “THE SEA OF NANODOT” จากการแข่งขัน International Sci Art Image Competition 2021 จัดขึ้นโดย INYAS The Indian National Young Academy of Science ซึ่งมีการส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 200 ผลงาน จาก 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ และ ประเทศไทย แบ่งเกณฑ์การพิจารณาเป็น 2 ประเภทได้แก่ Modeling and Simulation Category และ Experimental Category ซึ่งผมได้รับรางวัลในด้าน Modeling and Simulation Category และเป็นงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาในระดับปริญญาตรีครับ