วินาทีที่ชื่อของ "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" จากประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถูกประกาศสู่สาธารณชนทั่วโลกนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ผมรู้สึกดีใจ ภาคภูมิใจ และปลาบปลื้มใจมากครับ นั่นคือประโยคที่นิสิตคนเก่ง  รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 กับ ผลงาน  “THE LIGHT OF THE FUTURE”  ในการแข่งขัน  International Sci Art Image Competition 2021ของเราได้ถ่ายทอดความรู้สึกออกมา  วันนี้ MSU ONLINE  จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ กับ  วสันต์  พันทะศรี  นิสิตคนเก่งเจ้าของรางวัลดังกล่าว  กับแนวคิดในการจัดทำผลงาน  ตลอดจนข้อคิดดีๆในการดำเนินชีวิต ตามเรามาเลยค่ะ 


แนะนำตัว
    ชื่อ นายวสันต์  พันทะศรี ชื่อเล่น สันต์ ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกชั้นปีที่ 3 ที่หน่วยวิจัย เทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลแม่เหล็ก Magnetic Information Storage Technology (MINT) ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจษฎา จุรีมาศ (อาจารย์โค้ก) และรองศาสตราจารย์พรรณวดี จุรีมาศ (อาจารย์หน่อย) ครับ

รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้
    รางวัลชนะเลิศ (modeling and simulation category การแข่งขัน International Sci Art Image Competition 2021  จัดขึ้นโดย INYAS The Indian National Young Academy of Science ครับ

เข้าร่วมโครงการประกวด “International Sci Art Image Competition 2021” ได้อย่างไร?  
    สำหรับการแข่งขัน International Sci Art Image Competition 2021 จัดขึ้นโดย INYAS The Indian National Young Academy of Science ซึ่งมีการส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 200 ผลงาน จาก 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ และ ประเทศไทย โดยจุดเริ่มต้นของการส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันมาจาก ทางอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์เจษฎา และอาจารย์พรรณวดี จุรีมาศ ได้แจ้งข้อมูลข่าวสารการเปิดรับสมัครการแข่งขันโครงการนี้ โดยทางอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองได้ให้โอกาสและแนะนำให้ผมส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขัน  หลังจากที่ทราบข่าวหลังจากวันนั้น ก็ได้เตรียมตัวและจัดทำผลงานวิจัยดังกล่าว โดยได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด ตลอดการจัดเตรียมผลงาน



รายละเอียดของโครงการ “International Sci Art Image Competition 2021” 
    การแข่งขัน International Sci Art Image Competition 2021 จัดขึ้นโดย INYAS The Indian National Young Academy of Science ซึ่งเปิดโอกาสให้ Young Academy from Indian, Bangladesh and Thai Young Scientists ส่งรูปผลงานวิจัยที่กำลังทำการศึกษาเข้าร่วมแข่งขันรวมกว่า 200 ผลงานจากทั้ง 3 ประเทศ อินเดีย บังคลาเทศ และ ประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ของโครงการคือ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษาและนักวิจัยในการนำเสนอผลงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ที่มีความสำคัญ โดยการนำเสนอผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ผ่านภาพทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทการจำลอง (Simulation Categories) และ ประเภทการทดลอง (Experimental  Categories) ครับ

แนวคิดของผลงานที่ได้รับรางวัล “THE LIGHT OF THE FUTURE”
    ชื่อผลงาน "THE LIGHT OF THE FUTURE"ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานวิจัย ที่ผมกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นงานวิจัยทางด้าน simulation หรือการสร้างแบบจำลองเพื่อใช้ในการอธิบายกระบวนการต่างๆ ทางฟิสิกส์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการใช้ความรู้ทางด้านฟิสิกส์เชิงลึกเข้ามาอธิบาย สำหรับเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลเชิงแม่เหล็กแบบใช้ความร้อนช่วย หรือ Heat Assisted Magnetic Recording technology (HAMR) เป็นเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลเชิงแม่เหล็กแบบใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้และมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทนที่เทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลเชิงแม่เหล็กแบบตั้งฉากที่ใช้ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ความหนาแน่นเชิงพื้นที่ที่สูง หรือมีค่าความจุของฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่สูงขึ้น ผ่านกระบวนการให้ความร้อนสูงบนแผ่นบันทึกข้อมูลด้วยเลเซอร์ในช่วงเวลาสั้นๆ ในระหว่างกระบวนการเขียนข้อมูล จากหัวใจหลักของกลไกการทำงานของเทคโนโลยี HAMR ซึ่งเป็นการใช้ความร้อนจากแสงเลเซอร์เข้ามาช่วยในการเขียนข้อมูล โดยการลดสภาพความเป็นแม่เหล็กของวัสดุแม่เหล็ก นำไปสู่ชื่อผลงาน “THE LIGHT OF THE FUTURE  



ความภาคภูมิใจกับรางวัลนี้
    ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณท่านที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ทุกท่านนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจษฎา จุรีมาศ และรองศาสตราจารย์พรรณวดี จุรีมาศ ที่ให้โอกาส ให้คำแนะ ให้คำปรึกษาตลอดการจัดทำผลงานวิจัยและสอนแต่สิ่งดีๆ เสมอมา จนนำไปสู่การได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ สำหรับรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลในระดับนานาชาติ ซึ่งมีการส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 200 ผลงาน จาก 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ และ ประเทศไทย และผลงานจากนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับรางวัลชนะเลิศ วินาทีที่คณะกรรมการประกาศชื่อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ผมดีใจ มีความสุข และยิ้มออกมาแบบภาคภูมิใจ ชื่อมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากประเทศไทย ถูกประกาศสู่สาธารณชนทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ หนึ่งความสำเร็จ หนึ่งประสบการณ์ ที่ดีและภูมิใจมากๆ ครับ

มองอนาคตในการทำงานของเรา
    จริงๆ อนาคตในการทำงานเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือตอนนี้ เรามีความรู้ ความสามารถอะไร ที่จะนำไปใช้สำหรับการทำงานในอนาคต เพื่อพัฒนาชุมชน สังคม หรือประเทศชาติ ฉะนั้นผมมองว่าตอนนี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับผม ที่จะใช้เวลาที่มีในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ในทุกๆ ด้าน เพื่อที่จะนำความรู้ความสามารถ ไปพัฒนาสังคมและประเทศต่อไปครับ เพราะเมื่อไหร่ที่เรามีความรู้ความสามารถมากพอ โอกาสในการทำงานก็ยิ่งมีมากครับ  



ข้อคิดในการดำเนินชีวิต
    Everyone has a diamond inside. we can choose to put yourself in a market or diamond store. choose the people surround you with wisely. that can make the difference in your life
    "ทุกคนมีเพชรอยู่ในตัวเอง"  เราสามารถเลือกได้ว่าจะพาตัวเองไปอยู่ในตลาดหรือร้านขายอัญมณี  เลือกคนที่อยู่รอบตัวเราให้ดี  นั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป” การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เสมอ บ่อยครั้งที่คนเรามักยึดติดในความสำเร็จของตนเอง ความทะนงตน และยึดติดในความเชื่อของตนเอง ซึ่งก็มีถูกบ้าง ผิดบ้าง บางครั้งความเชื่อผิดๆ เหล่านั้นทำให้เราไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมากๆ การเปิดใจยอมรับความคิดเห็น หรือคำสอนของผู้อื่น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปแบบไม่รู้ตัว ฉะนั้นแล้วจงเปิดใจและรับฟังผู้อื่นให้มากๆ เพราะโลกใบนี้นั้นกว้างกว่าที่เราคิด  และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ คือ การพึงระลึกอยู่เสมอมาว่า เรามีวันนี้ได้เพราะใคร ทุกครั้งที่เราประสบความสำเร็จ จงอย่าลืมที่จะขอบคุณที่อยู่เบื้องหลังเราเสมอ “Every your success is someone behind”   
    ท้ายที่สุดผมอยากจะบอกทุกๆ คนว่า การวางแผนชีวิตนั้นสำคัญมากๆ ผมถูกสอนจากอาจารย์ที่ปรึกษาในหลายเรื่อง และเรื่องการวางแผนชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และที่สำคัญกว่านั้นคือ ความมีระเบียบวินัยและความเสมอต้นเสมอปลาย  ทุกๆ วันที่ 1 มกราคมในทุกๆปี เรามักจะมีเป้าหมายของตนเอง แต่ความลับจริงๆ ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จหรือไปให้ถึงเป้าหมายนั้นก็คือ ความมีระเบียบวินัย และความเสมอต้นเสมอปลายครับ   



เรียนฟิสิกส์ อย่างไรให้มีความสุข.
    ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ถ้าเรารักในสิ่งนั้นแล้ว เรามักจะมีความสุขกับมันเสมอ ฉะนั้นแล้วถ้าเรารักสิ่งไหนก็จงทำสิ่งนั้น แล้วเราก็จะมีความสุข และประสบความสำเร็จ สุดท้ายอยากจะฝากถึงคนที่กำลังเรียนฟิสิกส์อยู่นะครับว่า ทุกๆเรื่องราวากๆ ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นก่อนเรื่องง่ายๆ เสมอ “Everything is hard before it is easy” อย่ายอมแพ้ ถ้าล้มเหลว ก็แค่ลองมันอีกครั้งครับ



ความภาคภูมิใจ ความประทับใจ ในการเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี นับตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2557 ผมเข้ามาศึกษาด้วยความตั้งใจศึกษาที่จะเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ เพื่อพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพซึ่งพร้อมด้วยความรู้และความดี เพื่อช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ และสามารถส่งต่อโอกาสแก่ผู้อื่น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมมีความภาคภูมิใจสถาบันอย่างมาก ประทับใจในหลายๆอย่าง เป็นสถานที่ที่มีคุณภาพ มีสาธารณูปโภคที่ดี  มีการเรียนการสอนที่ดี อาจารย์แต่ละท่านมีความรู้ความสามารถอย่างมาก พร้อมให้คำปรึกษานิสิตตลอดเวลา คอยไกด์ไลน์เส้นทางที่ถูกต้องให้กับนิสิต   นอกจากนั้นผมยังได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยและประทับใจในกิจกรรมต่างๆ เช่นกิจกรรมรับน้อง เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้เจอเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนความคิด ทัศนคติของแต่ละคน  การได้มาเรียนที่นี้ถือว่าได้รับโอกาสที่ดีในการศึกษา ได้พัฒนาตนเองในหลายๆ ด้าน และได้เจอสังคมใหม่ๆ สุดท้ายผมขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ให้โอกาสผมได้เข้ามาศึกษา ทำให้ผมได้รับโอกาสต่างๆ มากมาย ถ้าย้อนเวลากลับไปตอนเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเข้าศึกษาต่อ ผมก็ยังยืนยันที่จะเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามแห่งนี้ครับ "พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"

รางวัลและผลงานที่ได้รับ
2564 รางวัลชนะเลิศ (modeling and simulation category การแข่งขัน International Sci Art Image Competition
                2021 จัดขึ้นโดย INYAS The Indian National Young Academy of Science
2563 เข้ารับพระราชทานทุนภูมิพล ระดับปริญญาเอก (Bhumibol Scholarships for Ph.D. student) ในพิธี
                พระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2563
2563 Exchange student 2020 at University of York, United Kingdom 
                ได้รับโอกาสให้เดินทางไปทำวิจัยที่ มหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ  ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือ
                ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม University of York และบริษัท Seagate Technology (Thailand).
25561 ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก full scholarship เข้าศึกษาในภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
                มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากภาคอุตสาหกรรมบริษัทซีเกทเทคโนโลยี ประเทศไทย ในปี 2561 ภายใต้การดูแล
                ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจษฎา จุรีมาศ และรองศาสตราจารย์พรรณวดี จุรีมาศ
25561 รางวัล Excellent presentation  ภายใต้โครงการ  student presentation of work  Faculty of Science ครั้งที่
                 7  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2560 รางวัลช่อราชพฤกษ์ ประเภทบุคคลด้านบำเพ็ญประโยชน์ ระดับดีเด่นพิเศษ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื่องใน
                โอกาสวันขอบคุณนักกิจกรรม ปีการศึกษา 2560
2559 รางวัลนิสิตต้นแบบ (MSU FOR ALL) ระดับดีมากปี 2559 ภายใต้โครงการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อรับรางวัล
                พระราชทาน ระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แนะนำและเชิญชวนรุ่นน้อง  ที่สนใจอยากเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ :  ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
    สำหรับศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างสำคัญอย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและในอนาคต เพราะทุกๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ถูกอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับน้องๆ ที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ อาจารย์ทุกท่านมีความรู้ความสามารถอย่างมาก พร้อมที่จะมอบความรู้ ให้กับน้องๆ ที่สนใจจริงในด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับการเตรียมตัว จริงๆ การเตรียมตัวก็ไม่ได้มีอะไรมากเลยครับ เราแค่ต้องถามตัวเองก่อนว่าเราชอบ และอยากเรียนจริงๆ หรือเปล่า เพราะถ้าเรามีความตั้งใจ รักในการเรียนด้านนี้แล้ว อะไรก็เป็นไปได้เสมอ “Everything is hard before it is easy”  


Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts