MSU Online ขอแสดงความยินดีกับ  นางสาวช่อผกา  บุญประกอบ  นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  คว้ารางวัล ชนะเลิศ การประกวดพูดเพื่อสังคมที่ยั่งยืน โครงการ“พจนศิลป์ ปี4” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับถ้วยพระราชทาน พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท จัดโดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท  อสมท จำกัด (มหาชน)  และเธอจะมาถ่ายทอดเรื่องราวดีๆจากการประกวดครั้งนี้ให้เราได้รับรู้ ตามเรามาค่ะ




            ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนว่าโครงการนี้มีการคัดเลือกโดยให้นิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศ  ส่งคลิปพูดความยาว 2 นาที ไปที่เพจเฟซบุ๊กของโครงการ จากนั้นจะทำการคัดเลือก 20 คลิปเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ซึ่งคลิปที่ได้ออกอากาศจะได้รับทุนการศึกษา 2,000 บาท ผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ออกอากาศอาจจะได้ผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้ายหรือไม่ก็ได้ ซึ่งบางคนก็ได้ออกอากาศแต่ไม่เข้ารอบ ส่วนหนูได้อากาศและได้เข้ารอบค่ะ หากถามว่ารู้จักโครงการนี้ได้อย่างไร จริง ๆ คือรู้จักโครงการนี้ตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ ปี 1 ซึ่งตอนนี้อยู่ปี 3 แล้ว ด้วยความที่เราเป็นสายประกวดแข่งขันด้านการพูดจึงมีเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่อยู่ในวงการเดียวกันหลายคน ก็เห็นจากที่เพื่อน ๆ แชร์มาค่ะ และเคยส่งคลิปเข้าประกวดตอน ปี 1 แต่ตอนนั้นไม่ผ่านเข้ารอบค่ะ ทำให้คิดว่าคนส่งประกวดเยอะเราคงไม่ได้จึงไม่ได้ส่งคลิปในปีถัดมา แต่เมื่ออยู่ปี 3 พี่ ๆ ที่กองกิจการนิสิตก็ได้ส่งข้อมูลการประกวดมาให้จึงตัดสินใจลองส่งดูอีกครั้ง โดยปรับเปลี่ยนการพูดให้แตกต่างจากครั้งก่อนที่ส่งไป ตอนปี 1 จะพูดแบบค่อนข้างเป็นสุนทรพจน์แบบทางการ ก็เลยเปลี่ยนแนวมาพูดแบบเน้นความเป็นธรรมชาติ ผลปรากฏว่าผ่านเข้ารอบ 20 คนแบบไม่คาดคิดค่ะ 

 


            การเตรียมตัวก่อนการแข่งขัน  ในส่วนของโครงการได้มีการจัดอบรมให้กับผู้เข้ารอบทั้ง 20 คน เป็นเวลา 2 วันค่ะ ซึ่งในระหว่างที่อบรมเราก็ได้เรียนรู้เรื่องเทคนิคการพูด การปรับบุคลิกภาพ การใช้สายตา ท่าทาง น้ำเสียง จากผู้ทรงวุฒิหลายท่านค่ะ ก็ทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันมีความมั่นใจมากขึ้นด้วยค่ะ ในส่วนของตัวหนูเองก็ได้ทำการศึกษาจากปีก่อน ๆ ว่าหัวข้อรอบฉับพลันประมาณไหน แล้วก็วิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทย์ทุก ๆ ปีก็อยู่ในเรื่องของจิตอาสา การทำความดี ก็เลยคิดเล่น ๆ ว่าถ้าเป็นเรา เราจะพูดถึงอะไร ความดีหรือจิตอาสาของเราคืออะไร ใครเป็นต้นแบบของเราบ้าง ก็พยายามตอบคำถามตัวเองให้ได้ค่ะ แล้วก็ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เข้าไปถึงรอบฉับพลันคือแน่นอนว่ามันต้องผ่าน 20 คนเพื่อเข้าไปรอบ 5 คนให้ได้ ก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีเพราะมีรุ่นพี่ที่อยู่ในวงการการพูดนี่แหละค่ะช่วยแนะนำวิธีการพูดเพราะพี่ ๆ ก็เคยผ่านการแข่งขันเวทีนี้มาก่อน แล้วก็พี่ในสาขาที่ช่วยดูบทให้เพราะตอนนั้นเขียนบทไป 2 บท เนื่องจากว่าโครงการกำหนดว่าสามารถปรับเปลี่ยนบทใหม่ได้ เอาเข้าจริง ๆ ก็กังวลว่าจะพุดบทไหนดี ก็มีการปรับแต่งอยู่เรื่อย ๆ โดยมีรุ่นพี่นักพูดในสาขาเป็นที่ปรึกษาค่ะ ก็นับว่าโชคดีของตัวเองที่มีผู้สนับสนุนอยู่รอบข้างคอยแนะนำและให้คำปรึกษามาโดยตลอดค่ะ



 

             บรรยากาศในวันแข่งขัน ค่อนข้างตื่นเต้นในช่วงแรก ๆ ค่ะเพราะแข่งอยู่เซ็นทรัลเวิร์ล ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนเยอะอยู่แล้ว อีกทั้งโครงการก็เป็นโครงการระดับประเทศที่มีสื่อมวลชนมาทำข่าวค่อนข้างเยอะ ตื่นเต้นแต่ไม่กดดันค่ะเพราะไม่ได้รู้สึกว่ามันคือการแข่งขัน ไม่ได้มาแข่งกับใคร แต่มาแข่งกับตัวเองค่ะ แล้วก็ด้วยความที่ผู้เข้ารอบทั้ง 20 คนก็ผ่านการอบรมและทำกิจกรรมร่วมกันมาจึงรู้สึกว่าทุกคนเป็นเพื่อนและถึงเราไม่ได้ เราก็ยินดีกับเพื่อนค่ะ ในวันนั้นก็พอใจการพูดของตัวเองในรอบแรกค่ะแต่ถามว่าตรงกับบทที่เขียนไว้มั้ยก็ไม่ตรงทั้งหมดค่ะ เรียกได้ว่าเป็นปกติของหนูที่ไม่ว่าจะแข่งเวทีไหนก้จะต้องมีจุดที่ลืมและผิดอยู่เสมอค่ะ แต่เราก็พยายามให้มันเนียน ๆ ที่สุด พอผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย ก็ดีใจมาก ๆ แล้วนะคะเพราะไม่คิดว่าตัวเองจะผ่านเข้ามาลึกขนาดนี้ แต่ก็ทำใจสบาย ๆ ค่ะ ตอนเก็บตัวอยู่หลังเวทีพี่ ๆ ทีมงานก็เอาอุปกรณ์มาใส่อุดหูเราเพื่อไม่ให้ได้ยินคนที่กำลังพูดอยู่ แล้วกเสียบหูฟังใส่กับโทรศัพท์เปิดเพลงดังชนิดที่ไม่ได้ยินอะไรเลยค่ะนอกจากเสียงเพลง หนูก็สบาย ๆ ไปตามเพลงเลยค่ะ หนูได้พูดคนสุดท้ายจึงไม่มีโอกาสได้ฟังเพื่อน ๆ ทั้ง 4 คนก่อนหน้าก็เป็นการไม่กดดันตนเองค่ะ ในรอบฉับพลันจะมีเกณฑ์อยู่ว่าให้เวลาเตรียมตัว 15 วินาที พูด 2 นาที ซึ่งเมื่อเห็นโจทย์ก็คือเตรียมตัวอยู่บนเวทีเลย ปีนี้เซอรไพรส์มากค่ะคือโจทย์รอบฉับพลันเป็นรูปภาพซึ่งไม่มีใครคาดคิดแม้แต่ตัวหนูเองเพราะทุก ๆ เวทีจะเป็นตัวอักษรที่อ่านแล้วเข้าใจแต่นี่ต้องตีความค่ะว่าจะพูดถึงอะไร รูปในวันนั้นคือรูปมือที่กำลังปลูกต้นไม้ พอเจอโจทย์ก็แอบยิ้มนิด ๆ เหมือนกันนะคะ ด้วยความที่หนูรู้จักกับ ร.ต.ต. วิชัย สุริยุทธ ท่านเป็นปราชญ์ต้นไม้ที่บ้านเกิดค่ะ และได้มีโอกาสร่วมงานบ่อยครั้งก็เลยสามารถพุดออกมาได้ค่อนข้างดี และก็พอใจในการพูดของตัวเองค่ะ



             นาทีที่ประกาศรางวัล แล้วเหลืออยู่ 2 คน คือ หนูรู้สึกว่ามาไกลมาก ๆ ต่อให้ชื่อที่พิธีกรประกาศจะไม่ใช่ชื่อตัวเองก็รู้สึกภูมิใจและทำดีที่สุดแล้วค่ะ แต่พอพิธีกรประกาศแล้วเป็นชื่อเราก็ยิ่งตื่นเต้นและตื้นตันไปหมด และภูมิใจมากค่ะนับว่าเป็นรางวัลที่สูงที่สุดในเวทีประกวดพูดทั้งหมดที่เคยได้มาแล้วก็เป็นเกียรติต่อหนูและครอบครัวมากค่ะ ไม่คิดว่าจะเป็นเราจริง ๆ เมื่อรับรางวัลเสร็จลงมาด้านล่างเวทีก็มีเพื่อน ๆ มารวมถ่ายรูปกันด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น และอบอุ่นที่สุดในบรรดาเวทีประกวดต่าง ๆ ค่ะรู้สึกว่าเต็มไปด้วยมิตรภาพซึ่งจะหาเวทีแบบนี้ได้ยากมาก และวันนั้นก็มีพี่ ๆ นักข่าวหลายช่องมาสัมภาษณ์ค่ะก็ตอบไปตามความจริงค่ะ




             


             สำหรับข้อคิดดี ๆ สำหรับหนูก็คือ หนูคิดว่าทุกคนมีความสามารถอยู่ที่ว่าเรากล้าเอามันออกมาใช้หรือเปล่า เราต้องไม่ดูถูกตัวเอง และอีกอย่างที่สำคัญมากคือโอกาสไม่ได้วิ่งเข้าหาเรา เราต่างหากที่ต้องวิ่งเข้าหาโอกาส 







Author

ผู้เรียบเรียง : สุกัญญา สิตวัน
Email : sukanya.s@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 2447

Related Posts