"จักรวาลคู่ขนาน : พื้นที่แห่งความเท่าเทียม" รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งปี 2563 สาขาสถาปัตยกรรม ภูมิภาคอีสาน อันดับที่ 2  จากการประกวด " THESIS OF THE YEAR AWARD 2020" จาก สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระราชูปถัมภ์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้นักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานวิทยานิพนธ์ที่มีสัมฤทธิ์ผลสูงสุด และเป็นเวทีสำหรับนักศึกษาแต่ละสถาบันในการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน มีผลงานเข้าประกวดแต่ละสถาบันทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 301 ผลงาน MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเจ้าของผลงานดังกล่าว  ตามเรามาเลยค่ะ



แนะนำตัว

    ชื่อ นายปิยะวัฒน์ โพธิขำ ชื่อเล่นปังปอนด์ (ปอนด์)  สาขาสถาปัตยกรรม (AR) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์  มหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ

ผลงานที่ได้รับรางวัล

    ชื่อรางวัล : รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งปี 2563 สาขาสถาปัตยกรรม ภูมิภาคอีสาน อันดับที่ 2

                    (ข้อมูลจาก : Page สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์)

    ชื่อผลงาน : จักรวาลคู่ขนาน : พื้นที่แห่งความเท่าเทียม  (Parallel Universe : The Space of Equality)



แนวคิดในการออกแบบ 

    ปัจจุบันผู้พิการทางสายตา มีจำนวนมากเป็นอันดับที่สามของจำนวนผู้พิการในประเทศไทย ความพิการทางดวงตา ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างยากลำบาก และมีปัญหาอื่นตามมา เช่น ผู้พิการทางสายตามีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาค่อนข้างน้อย คนทั่วไปมีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตาไม่ถูกต้อง สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ชีวิได้ในที่สาธารณะยังไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมศักยภาพในการศึกษา และสนับสนุนให้คนทั่วไปได้เข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้พิการทางสายตาอย่างเท่าเทียม 
    วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสของผู้พิการทางสายตา การเรียนรู้และอยู่ร่วมกันระหว่างผู้พิการทางสายตา และคนสายตาปกติ โดยการวิเคราะห์ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ที่ช่วยให้เกิดการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทางประสาทสัมผัสให้กับผู้ใช้โครงการผ่านความเข้าใจในศักยภาพของกันและกัน 
    การออกแบบสถาปัตยกรรม จักรวาลคู่ขนาน : พื้นที่แห่งความเท่าเทียม มีรายละเอียดในการออกแบบ ดังนี้ 
ลักษณะโครงการ เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์/ศูนย์การเรียนรู้ มีองค์ประกอบหลัก คือ นิทรรศการการรับรู้ทางประสาทสัมผัสผ่านการจำลองกิจกรรมในโลกเสมือนจริง และพื้นที่กิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของทุกคนทั้งด้านในอาคารและด้านนอกอาคาร โดยมีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 8,815.30 ตารางเมตร
ที่ตั้งโครงการ ด้านหน้าติดกับถนนมะลิวัลย์ และด้านหลังติดกับโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งนี้ง่ายต่อการเข้าถึง และสามารถเชื่อมต่อกิจกรรมของโครงการกับทางโรงเรียนอีกด้วย โดย มีขนาดที่ดิน 7,165.57 ตารางเมตร
แนวคิดในการออกแบบ คือ สร้างพื้นที่ของคนสายตาปกติและผู้พิการทางสายตา ให้เรียนรู้การใช้ชีวิต การรับรู้ถึงข้อจำกัดของกันและกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการการเรียนรู้และช่วยเหลือกันอย่างถูกวิธี เกิดมุมมองที่เท่าเทียมกันในด้านของศักยภาพงานสถาปัตยกรรมที่รับรู้ผ่านทางประสาทสัมผัส
รูปแบบโครงการ เป็นอาคาร 2 ชั้น จำนวน 3 อาคาร แบ่งเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ อาคารศูนย์การเรียนรู้ และอาคารนิทรรศการ/กีฬา พื้นที่โครงการส่วนกลางเป็นลานกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้พิการทางสายตาและคนสายตาปกติ มีการตกแต่งผนังด้วยผิวสัมผัส ผ่านการออกแบบวัสดุ ที่ว่าง และสี ที่แตกต่างกันเพื่อช่วยจำแนกพื้นที่ใช้สอยและทางสัญจรที่ชัดเจน ซึ่งเอื้อต่อกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้ใช้โครงการ
    การออกแบบโครงการ จักรวาลคู่ขนาน : พื้นที่แห่งความเท่าเทียม เป็นการสร้างความเสมอภาคโดยใช้การออกแบบสถาปัตยกรรมในโครงการมาสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของผู้ใช้งานผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการสร้างกิจกรรมที่ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดการช่วยเหลือกันในขณะที่เข้าใช้งานนิทรรศการ รวมถึงมีพื้นที่ทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในศักยภาพของกันและกันและสามารถช่วยเหลือกันตามวิธีที่ถูกต้อง

ความภูมิใจของรางวัลนี้ 
    รู้สึกภูมิใจมากครับ ที่ผลของการศึกษาเรื่องคนตาบอดในวิทยานิพนธ์ มีผู้ให้ความสนใจ เพราะคนตาบอดมักจะโดนเข้าใจผิดในเรื่องศักยภาพที่มีเสมอ อาจจะเพียงแค่เรามองดูเขาเพียงผิวเผิน ว่าการที่ไม่สามารถมองเห็น หรือมองเห็นได้เลือนราง จะมีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆได้ไม่เท่าเทียมกับคนสายตาปกติ ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ไม่จริงเลย คนตาบอดมีศักยภาพที่เท่าเทียมกับคนสายตาปกติ แต่เขามักไม่ได้รับโอกาสให้ได้แสดงศักยภาพที่มีออกมาให้ใครได้เห็นสักเท่าไหร่ และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ที่คนตาบอดได้รับยังน้อยมาก หากเทียบกับคนสายตาปกติ ผลงานชิ้นนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยพูดแทนคนตาบอดได้ว่าเขามีศักยภาพที่จะทำหลายๆสิ่งๆหลายๆอย่างได้เท่าเทียมกับคนสายตาปกตินะ เพียงแค่มอบโอกาสให้คนตาบอดได้ลงมือทำ ได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงในการช่วยพัฒนาสังคมของเรา เพียงแค่เราเปิดใจไปสัมผัสกับการทำสิ่งๆต่างๆของคนตาบอด เราจะรับรู้ได้เลยว่า เขาก็คือบุคคลที่มีศักยภาพคนๆนึงในสังคม ใช้ชีวิต ทำงานได้ปกติเหมือนคนทั่วๆไป
    ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อาจารย์ ดร.นิลปัทม์ ศรีโสภาพ ที่ได้ช่วยแนะนำการเก็บข้อมูล การเข้าไปศึกษาสถานที่จริง การสัมผัลการใช้ชัวิตของคนตาบอดจริงๆ เพื่อให้เข้าใจถึงวัตุประสงค์ที่เราอยากจะนำเสนอออกมาให้หลายๆคนได้รับรู้ให้ได้มากที่สุด


มองอนาคตในการทำงานด้านการออกแบบของเราอย่างไร 
    ในอนาคตก็คิดไว้ว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง มีออฟฟิศอยู่ใกล้บ้าน ก็อยากจะเริ่มทำให้แถวๆบ้าน มีสถาปัตยกรรมที่แปลกใหม่ขึ้น แต่สามารถอยู่ร่วมกันกับบริบทเดิมของชุมชนได้ด้วย เพราะผมมองว่าสิ่งแปลกใหม่มีขึ้นได้ แต่ไม่จำเป็นต้องไปทำลายสิ่งเดิมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา แล้วค่อยๆขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ให้คนรอบข้างเริ่มเข้าใจคำว่า สถาปัตยกรรม จริงๆแล้วคืออะไร มีไว้ทำไม ทำงานแบบไหนได้บ้าง 

แนะนำ เชิญชวน รุ่นน้อง ที่สนใจอยากเรียนในคณะสถาปัตย์ฯ มมส
    สำหรับคณะสถาปัตย์ หลายๆคนอาจจะได้ยินมาว่านอนน้อย งานหนัก งานเยอะ นั่นเป็นคำตอบที่จริงครับ แต่... หากเรามีการจัดสรรเวลาที่ดี มีการวางแผนการทำงานในการทำโปรเจคแต่ละอัน เราก็สามารถที่จะตัดเรื่องของการนอนน้อยนั่นออกได้ครับ แถมยังมีเวลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไปพักผ่อน ไปทำกิจกรรมยามว่างได้อีกเยอะแยะครับ
    สิ่งที่เราได้รับจากการเรียนถาปัตย์ คือ เราจะมองสิ่งต่างๆรอบๆตัวเรา ได้แปลกใหม่เสมอ ในหัวจะผลุดความคิดแปลกๆใหม่ๆออกมา...ว่าสิ่งของสิ่งๆนึง มันต้องทำอะไรได้มากกว่าที่มันเป็นอยู่ นั่นคือสิ่งที่คนเราเรียกว่า “ความคิดสร้างสรรค์” ถ้าพูดถึงสถาปัตย์ก็นั่นละครับความแปลกใหม่ ความแวกแนว ความมีสไตล์ และเป็นอีกหนึ่งสายอาชีพที่จะช่วยพัฒนาสังคมให้มีทางเลือกมากกว่าหนึ่งอย่างเสมอ สร้างความแปลกใหม่ให้กับสังคม ทำให้สังคมมีความหลากหลาย มีสีสรรค์มากขึ้นอีกด้วย
    ถ้าน้องๆคนไหนชอบในการออกแบบสิ่งต่างๆรอบตัว ชอบวาดรูป ชอบสเก็ตไอเดียต่างๆ แนะนำเลยครับ คณะสถาปัตย์ มมส มีมากกว่า 6 สาขา ลองมองหาสาขาที่ใช่ แล้วมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวสถาปัตย์ มมส ของเรากันครับ






     


Author

ผู้เขียน : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts