<..." /> นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ คว้ารางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปวัฒนธรรม ประจำปี 2563
นิสิตสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คว้ารางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปวัฒนธรรม ประจำปี 2563 โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักและพูดคุยกับเธอ ตามเรามาเลยค่ะ



แนะนำตัวเอง
นางสาวช่อผกา บุญประกอบ นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เล่าถึงความภูมิใจ ที่ได้รับรางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปวัฒนธรรม ประจำปี 2563
สำหรับรางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปวัฒนธรรม ประจำปี 2563 นับว่าเป็นรางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุด
ในด้านของการเป็นต้นแบบเพราะที่ผ่านมาค่อนข้างที่จะใช้ชีวิตหรือก้าวไปในเส้นทางของการแข่งขันและภาคภูมิใจในการแข่งขันซึ่งในการเวทีของการแข่งขันเราก็จะดีใจหรือภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นความสามารถของตนเอง เมื่อแข่งขันเสร็จก็จะ
ไม่ได้คิดอะไรต่อมากนักนอกเหนือจากการพัฒนาตนเองในด้านนี้ แต่สำหรับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติเป็นรางวัลที่ได้รับแล้วรู้สึกว่าหลังจากนี้คือการตระหนักกับตนเองเสมอว่าจะต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติและคุณค่าแห่งเยาวชนให้สมกับที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ มอบเกียรติบัตรแก่เด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2563 



รางวัลนี้คัดเลือกจากอะไร  มีเกณฑ์คัดคุณสมบัติผู้เข้ารับรางวัลอย่างไร
การสรรหาและคัดเลือกเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน จะมีประกาศสรรหาและคัดเลือกทุกปี แบ่งออกเป็น 11 สาขา 4 ประเภท ซึ่งสามารถศึกษาได้จากประกาศของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ในทัศนะส่วนตัวคิดว่ารางวัลนี้คัดเลือกจากผู้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และที่สำคัญคือคุณค่าเหนือผลงานคือการต่อยอดหรือสร้างประโยชน์ต่อสังคม โดยในขณะที่จัดทำเล่มผลงานและกรอกใบสมัครนั้นให้เลือกผลงานที่ดีที่สุดเพียง 3 ผลงาน และคิดว่าตนเองน่าจะได้เพราะจุดนี้ที่อธิบายถึงคุณค่าของรางวัลแต่ละรางวัลว่าเราได้รับประโยชน์อะไรจากผลงานนั้น ๆ และเราได้ต่อยอดหรือสร้างสรรค์สิ่งที่ตนเองทำให้เกิดคุณค่าต่อสังคมอย่างไร ในด้านของเกณฑ์หรือคุณสมบัติผู้เข้ารับรางวัลก็จะแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามจำนวนประเภทและสาขาของรางวัล ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะประเภทเด็กและเยาวชน คุณสมบัติหลัก ๆ ที่จะต้องมีคือ เป็นเด็กและเยาวชนอายุ 15-25 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย มีความประพฤติดี มีผลงานดีเด่นที่ได้รับการยอมรับ และไม่เคยได้รับรางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติของกรมกิจการเด็กและเยาวชนมาก่อน ซึ่งรายละเอียดอื่น ๆ ได้ระบุไว้ในประกาศการสรรหาอย่างชัดเจน

เริ่มรู้จักการประกวดสุนทรพจน์ตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้สึกชอบเลยไหม 
ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่าการพัฒนาด้านการพูดมิได้เริ่มต้นจากสุนทรพจน์ แต่เริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนประกวดโครงงานทั้งโครงงานคณิตศาสตร์ โครงงานวิทยาศาสตร์ โครงงานสุขภาพ และโครงงานคุณธรรม ซึ่งได้เป็นตัวแทนแข่งขันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเป็นคนหนึ่งที่กล้าพูดได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์เพราะเป็นเด็กขี้อายแต่ด้วยข้อจำกัดที่โรงเรียนที่ไม่ได้มีนักเรียนเยอะในห้องมีกันเพียง 8 คน ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้พูดและกล้าแสดงออก เมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนประจำอำเภอก็ได้สานต่อการพูดมาเป็นตัวแทนแข่งขันโครงงานอีกเช่นเคยและเพิ่มเข้ามาคือการเป็นมัคคุเทศก์กลางของโรงเรียน เป็นพิธีกรภาคภาษาไทย และการพูดเป็นทีมที่เรียกว่าพาทีสร้างสรรค์และคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ได้พัฒนาจากการพูดพาทีสร้างสรรค์คือการฝึกฝนการเขียนบทพูดด้วยตนเองเพราะทุกครั้งที่จะได้ไปแข่งขันเราจะต้องเป็นผู้เขียนบทด้วยตนเองก็ต้องขอขอบคุณคุณครูที่ฝึกซ้อมที่ไม่ได้เขียนบทให้เราแต่ให้อาวุธที่ดีที่สุดคือการพึ่งพาตนเองเพราะนั่นทำให้เรามีทักษะ
สุนทรพจน์ เริ่มต้นเวทีแรกตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นการประกวดครั้งแรกที่ต้องยืนอยู่คนเดียวบนเวทีท่ามกลางกล้องถ่ายภาพ กล้องบันทึกวิดีโอ และผู้คน จำได้ว่าตอนนั้นเกิดการลืมบทแต่ก็สามารถพูดได้จนจบ แล้วกลับลงมานั่งและบอกกับตัวเองว่าจะไม่มาประกวดอีก เพราะไม่อยากขายหน้าต่อหน้าผู้อื่น ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ได้ชอบเลยเสียทีเดียว แต่ครั้งนั้นกรรมการกลับมองว่าเรามีไหวพริบและแก้ปัญหาได้ดีทำให้เวทีแรกในตอนนั้น เราได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โดยได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัลหลายพันบาท หลังจากนั้นก็ได้เริ่มเข้าสู่การหาเวทีด้วยตนเองมาจนถึงทุกวันนี้ และคิดว่าเวทีทุกเวทีคือโอกาสในการพัฒนาทักษะไม่ว่าจะเป็นงานพิธีกร หรือเวทีประกวด แม้ว่าหลาย ๆ เวทีเราจะเกิดความรู้สึกที่กดดัน ผิดหวัง แต่นั่นคือการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ดีที่สุด



หลายคนมองเรื่องการเขียนหรือการกล่าวสุนทรพจน์เป็นเรื่องยาก ทำไมเราถึงชอบ
จริง ๆ ก็แอบคิดเหมือนคนอื่น ๆ เหมือนกันว่ามันยาก และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกครั้งที่ต้องเขียนบทมันกดดันมาก ๆ เพราะเราต้องกลั่นและกรองความรู้ ภาษา เนื้อความให้ออกมาดีที่สุดเพราะคะแนนจากเนื้อหาค่อนข้างเยอะ แต่ในความกดดันมันก็รู้สึกท้าทายอยู่ลึก ๆ ว่าเราจะทำได้หรือเปล่าเหมือนอย่างบางเวทีเรารู้ว่ามีประกวดในวันสุดท้ายที่เขาปิดรับสมัครก็ต้องเขียนบท จำ และถ่ายวิดีโอภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เราจะได้รู้ว่าตัวเองพร้อมรับต่อสถานการณ์ข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน 
เรื่องการเขียนบทจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไปเลยเมื่อเรายืนอยู่บนเวทีในรอบฉับพลัน บางเวทีให้เวลาคิดหลังจากเห็นหัวข้อ 15 วินาที บางเวทีให้เวลาคิด 2 นาที ตรงนี้เราจะได้เห็นศักยภาพตัวเองมากที่สุด 
กล่าวโดยสรุปแล้วรู้สึกชอบเพราะเราได้พัฒนาตนเองทั้งด้านการเขียนและการพูดไปพร้อม ๆ กัน และสองทักษะนี้สำคัญมาก หากมีพื้นฐานที่ดีจะสามารถต่อยอดได้อย่างหลากหลาย 

ช่วงใกล้การแข่งขัน เรามีการเตรียมตัว ซักซ้อมอย่างไร 
ช่วงใกล้แข่งจะต้องฝึกซ้อมให้ได้เยอะที่สุด บทจะต้องนิ่งให้ไวที่สุด หมายถึง จะต้องได้บทที่สมบูรณ์ ยิ่งเร็วก็ยิ่งดีเพราะจะได้มีเวลาซ้อม ส่วนการซ้อมนั้นเราซ้อมเยอะมากและอยากให้หลายคนเข้าใจคนเดินสายพูดว่าเราไม่ได้ทำมันแค่วันเดียว แต่เราเอาความตั้งใจไปทุ่มเทกับมันด้วยเช่น รูมเมทจะรู้ดีที่สุดว่าเราทุ่มเทแค่ไหนเพราะเขาจะเห็นเราติดบทพูดไว้ที่ประตูห้องน้ำ ข้างตู้หนังสือที่มองเห็นได้ชัด ๆ  หรือแม้แต่ข้างผนังตรงที่นอน อัดเสียงใส่โทรศัพท์มือถือเปิดฟังแทนการฟังเพลง ท่องบททุกครั้งที่อาบน้ำ หรือทุกครั้งที่ขับรถเพราะสามารถพูดได้เต็มเสียงที่สุด นี่คือวิถีชีวิตที่น้อยคนจะเห็นเพราะส่วนมากจะเห็นแค่ตอนที่เราได้รับรางวัลมาแล้ว 
ข้อดีของการซ้อมให้หนักคือเราจะพูดมันออกมาด้วยความคล่องปากเพราะตอนอยู่บนเวทีเราอาจจะจำเนื้อหาไม่ได้เลยแต่เราจะสามารถพูดมันออกมาได้จากความเคยชินหรือที่เราอยู่กับมันทุกวัน นอกจากฝึกซ้อมเรื่องการพูดแล้วจะต้องอ่านหนังสือ ดูสื่อ หรือศึกษาข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะแข่ง รวมถึงเก็งหัวข้อฉับพลันหรือคาดเดาหัวข้อรอบฉับพลันว่าน่าจะเป็นหัวข้ออะไรได้บ้างและถ้าเป็นหัวข้อนี้เราจะพูดถึงอะไรบ้าง 



การประกวดสุนทรพจน์ทุกครั้ง  รางวัลคือเป้าหมายของเราหรือไม่  หรือมองอะไรเป็นเป้าหมาย
เรื่องรางวัลเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เวทีไหนที่มีการอบรมก่อนแข่งจะชอบมากเพราะจะได้รู้จักเพื่อน ๆ ในวงการเดียวกันและรับความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อยากได้วิชาความรู้จากเขาเพื่อที่ว่าวันหนึ่งหากได้เปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากผู้แข่งขันไปเป็นครูผู้ฝึกซ้อมหรือผู้บรรยายจะได้มีองค์ความรู้ไปใช้ เพราะตั้งใจว่าหากไปเป็นครูก็อยากจะส่งเสริมให้นักเรียนของเราพูดได้ พูดเป็น ไม่ใช่เพื่อแข่งขันแต่เพื่อให้เขาสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เขาทำให้เกิดประโยชน์ที่สุด หรือหากใครอยากจะแข่งขันก็ยินดีที่จะสนับสนุนเสมอ 
ทุกเวทีเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไปแล้วจะได้รับรางวัลหรือเปล่า หลายเวทีก็กลับมามือเปล่า แต่ไม่เคยมองว่าไม่ได้อะไร เพราะเราได้ประสบการณ์และได้พัฒนาทักษะการพูดจากทุกเวทีเสมอ เป้าหมายจึงเป็นการไปหาประสบการณ์บนพื้นฐานของความพอเหมาะพอดี หมายความว่า บางเวทีไกลเกินไปเราก็ไม่ไปเพราะคิดว่าตัวเองไม่ไหวด้วยปัจจัยหลายประการ เราจึงต้องแข่งขันอย่างมีสติมิใช่กระหายต่อการแข่งขัน

เราได้รับการสนับสนุนจากใคร  มีใครให้กำลังใจให้คำแนะนำบ้าง /อาจารย์ที่ปรึกษา/อาจารย์ในคณะ
ข้อนี้ตอบง่ายที่สุดและคงยาวที่สุดเพราะผู้สนับสนุนมากมายเหลือเกิน อันดับแรกของผู้สนับสนุนคือ พ่อแม่ เพราะในช่วงที่เราเริ่มหาเวทีเอง ไปแข่งเองทุกบาททุกสตางค์มาจากพ่อแม่ แม้ท่านจะเคยห้ามเราไม่ให้ไปแข่งเพราะเห็นเราแพ้และคงเป็นห่วงเรื่องการเรียน แต่การกระทำตรงกันข้ามกับคำพูดคือไม่ให้ไปแข่งแต่ทุกครั้งที่จะไปก็จะสนับสนุนค่าอยู่ค่ากินค่าเดินทางเสมอ พอเราโตขึ้นเริ่มมีทุนพอที่จะดูแลตัวเองได้ก็ไม่ได้ขอ 
    นอกจากพ่อแม่แล้วก็ต้องขอขอบคุณคุณครูตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาที่ท่านได้จุดไฟให้เห็นความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวของเด็กขี้อายคนหนึ่ง คุณครูปรารถนา ป้องกัน คุณครูคำศรี แผ่นศิลา คุณครูสมทรง แผ่นศิลา คุณครูสาวินี พิมพ์จันทร์ ครูระดับชั้นประถมศึกษาที่ร่วมกันปลูกปั้นและส่งเสริม
    ขอบคุณคุณครูในรั้วฟ้า-ม่วง โรงเรียนปรางค์กู่ ผู้หยิบยื่นเวทีและโอกาสดี ๆ ให้เสมอมา คุณครูสิรินาฏ รชตธำมรงค์ คุณครูธนัญญ์ฎา บึงไกร คุณครูธรรญธร สมบัติ และคุณครูอีกหลาย ๆ ท่าน เพราะช่วงมัธยมเป็นช่วงที่สำคัญมากในการพัฒนาตนเอง หากขาดครูที่สนับสนุนทุกอย่างก็คงจะไม่ได้มาไกลถึงขนาดนี้หากเทียบกับจุดเริ่มต้นของเรา
    ในรั้วอุดมศึกษาก็อยากขอขอบคุณอาจารย์ในสาขาเพราะท่านคือผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้เรามีความรู้ มีทักษะไปใช้ในทุก ๆ เส้นทางของเราเอง ขอบคุณอาจารย์ดนิตา ดวงวิไล อาจารย์อัฐพล อินต๊ะเสนา อาจารย์วรางคนา เทศนา และอาจารย์อาร์รีรัตน์ โนนสุวรรณ ท่านคอยให้กำลังใจและกล่าวชื่นชมเสมอ รวมถึงขอบคุณพี่ ๆ จากฝ่ายพัฒนานิสิตที่ให้กำลังใจและช่วยเหลือในการทำเอกสารต่าง ๆ เมื่อต้องเดินทางไปราชการ ขอบคุณอาจารย์สมปอง ดวงไสว อาจารย์ที่ได้รู้จักเมื่อไปอบรมโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ท่านสอนเขียนสารคดี หลังจากค่ายท่านก็เป็นที่ปรึกษาด้านการเขียนบทมาโดยตลอด และท้ายที่สุดขอบคุณเพื่อน ๆ ในกลุ่มที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยคิด ช่วยตัดสินใจ รวมถึงคอยช่วยเหลือด้านการเรียนมาโดยตลอด หากขาดพวกเขาก็คงต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้งมากขึ้น 


ข้อคิดดี ๆ ในการดำเนินชีวิต
ดิฉันไม่มีข้อคิดหรือคติที่ยึดเหนี่ยวอย่างตายตัว เพราะมีคติที่คอยเตือนตนอยู่หลายเรื่องแล้วแต่สถานการณ์แล้วแต่เหตุการณ์ แต่ที่อยากจะส่งต่อมากที่สุดคงจะเป็นคติที่ว่า... “จงอย่ากลัวที่จะเริ่มต้น จงอย่ากลัวกับการเดินทาง จงอย่ากลัวกับอะไรเพราะความกลัวจะตัดโอกาสเรา” 

ในฐานะที่เป็นแบบอย่างที่ดี  มีรางวัลการันตี อยากฝากบอกอะไรกับรุ่นน้องเยาวชนไทย
อยากจะฝากกับน้อง ๆ ว่าเราทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง แต่เราต้องเห็นคุณค่าในตัวเองก่อน เหมือนกับเราต้องการให้คนอื่นเชื่อมั่นในตัวเรา แต่ถ้าหากเราไม่เชื่อมั่นในตัวเองแล้วใครจะมาเชื่อเรา ฉะนั้นทุกอย่างจึงอยู่ที่เรา
ไม่มีใครสมหวังทุกด้าน แต่ต้องมีสักด้านที่เราทำได้ดีและต้องอย่าลืมที่จะหาเวทีหรือจุดยืนให้ความสามารถของเรา พี่เชื่อเสมอว่าการยืนให้ถูกที่นั้นสำคัญ อย่างพี่อาจจะทำหลายอย่างไม่เก่ง เมื่อเราเอาจิตไปจับกับจุดที่เราทำไม่ได้มาก ๆ ความท้อแท้ท้อถอยย่อมเกิดขึ้น เราจึงต้องลองทำอะไรใหม่ ๆ ทำไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เห็นจุดที่พอดี จุดที่เรายืนแล้วมีความสุข และสุดท้ายอยากฝากว่าอย่างดูถูกตัวเองโดยเด็ดขาด เราต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง อยู่อย่างนอบน้อม เข้าใจ รับฟังและช่วยเหลือผู้อื่นหากมีโอกาส แล้วจะยืนได้อย่างสง่างาม 

รางวัลที่เคยได้รับ 
รางวัลหลัก ๆ ที่ได้รับ มีดังนี้ 
1. 5 สิงหาคม 2561 ได้รับรางวัล ชมเชย ระดับอุดมศึกษา การประกวดเรียงความชิงโล่พระราชทาน ประจำปี 2560 จัดโดยมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
2. 7 กันยายน 2561 ได้รับรางวัล ชมเชย ประเภทนักศึกษา โครงการประกวดสุนทรพจน์ต่อต้านคอร์รัปชั่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในหัวข้อ “ทำอย่างไร...ประเทศไทยจะไร้โกง?” จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
3. 8 ตุลาคม 2561 ได้รับการคัดเลือกเข้าค่ายอบรมงานวิจารณ์ (รางวัลวิจารณ์วรรณกรรม 40 ผลงานสุดท้าย ได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท) บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
4. 18 ตุลาคม 2561 ผ่านการคัดสรรเป็นผู้ประกาศข่าว คนรุ่นใหม่ NBT ภายใต้โครงการ “คนรุ่นใหม่ สดใส เลือดใหม่ NBT” สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
5. 3 มีนาคม 2562 ได้รับรางวัล ชนะเลิศ การประกวดสุนทรพจน์ หัวข้อ “พลังคนรุ่นใหม่ หัวใจประชาธิปไตย” ในโครงการ มมส พลังคนรุ่นใหม่ หัวใจประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
6. 15 มิถุนายน 2562 ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง การสร้างสรรค์วรรณศิลป์ ประเภทสารคดี โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ “ลายลักษ์วรรณศิลป์รุ่น 5” กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
7. 21 กันยายน 2562 ได้รับรางวัล ชนะเลิศ การประกวดสุนทรพจน์ ในเวทีประกวดสื่อสร้างสรรค์ หัวข้อ “สังคมสูงวัย ไร้วยาคติ” มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม
8. 23 พฤศจิกายน 2562 ได้รับรางวัล ชนะเลิศ การประกวดพูดเพื่อสังคมที่ยั่งยืนโครงการ“พจนศิลป์ ปี4” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
9. 19 ธันวาคม 2562 ได้เข้าร่วมการอบรมโครงการเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน พุทธศักราช 2563 (ผ่านเข้ารอบ 15 คนสุดท้าย) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ดร.อุเทน เตชะไพบูรย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
10. 22 มกราคม 2563 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดเรียงความเสริมสร้างค่านิยมแห่งความซื่อสัตย์สุจริต หัวข้อ “สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง” ระดับอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่า (ปวส.) และอุดมศึกษา ตามโครงการ “ลมหายใจไร้มลทิน” ประจำปี 2562 กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ มูลนิธิลมหายใจไร้มลทิน
11. 7 กรกฏาคม 2563 ได้รับรางวัลช่อราชพฤกษ์ ประจำปีการศึกษา 2562 ประเภททั่วไป ด้านสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ระดับดีเด่นพิเศษ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
12. 7 กรกฎาคม 2563 ได้รับรางวัลนิสิตต้นแบบ (MSU FOR ALL) ประเภทนิสิตทั่วไป ระดับมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2562 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
13. 25 กรกฎาคม 2563 ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดอ่านออกเสียงภาษาไทย รางวัลหม่อนหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2563 ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ กองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือเทพยสุวรรณ
14. 29 กรกฎาคม 2563 ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันทักษะการพูดโน้มน้าวใจ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
15. 17 สิงหาคม 2563 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ โครงการภาษาไทยสร้างสรรค์ ครั้งที่ 1 สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม
16. 5-6 กันยายน 2563 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดพูดเพื่อสร้างการรับรู้หัวข้อ “35 ปี พลังเยาวชน พลังพัฒนาชาติ” กรมกิจการเด็กและเยาวชน


ความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ในช่วงของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนหน้าก็มีการส่งข้อมูลไปสมัครกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและติดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกแห่งหนึ่งก็ได้สมัครไว้แต่ไม่ได้ส่งข้อมูล แต่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่เดินทางไปสอบด้วยตนเองซึ่งก่อนที่จะสมัครและเดินทางมาสอบก็ได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในเรื่องของหลักสูตรและการจัดลำดับต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมาก่อนแล้ว และรู้สึกประทับใจในการต้อนรับ การดูแลเอาใจใส่ของรุ่นพี่แม้เราจะอยู่ในช่วงสอบที่ยังไม่ได้เป็นตัวจริง รุ่นพี่ในสาขาดูแล ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี นับเป็นความประทับใจแรกของการเข้าสู่รั้ว MSU 
เมื่อได้เข้ามาศึกษาในสถาบันแห่งนี้แล้วก็รู้สึกได้ว่าเราเลือกไม่ผิดที่มาเรียนที่นี่ เพราะ มมส ค่อนข้างตอบโจทย์ในความชอบของเราได้ดี มีกลิ่นอายของความเป็นวัฒนธรรมอีสานอย่างชัดเจน เป็นเมืองที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเรียบง่าย การจราจรไม่ติดขัด ค่าครองชีพไม่สูง ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็มีพื้นที่กว้างขวางซึ่งเราชอบตรงนี้มากเพราะจะรู้สึกอึดอัดหากมีตึกเรียงรายใกล้ชิดติดกันจนเกินไป อีกทั้งในเรื่องของวิวทิวทัศน์ก็สวยงามอย่างน่าหลงใหล สมกับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว
นอกจากบริบทภายนอกที่ทำให้หลงรักมหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว ในเรื่องของการเรียนการสอน กิจกรรม ต่าง ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ชอบเช่นกัน กิจกรรมของที่นี่สอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน” รู้สึกว่าได้อยู่ใกล้กับชุมชนทำให้เราสามารถนำความรู้ทางวิชาชีพไปสู่ชุมชนได้จริง ๆ ผ่านการจัดค่ายของชมรมต่าง ๆ และผ่านการจัดกิจกรรมค่ายบริการความรู้สู่ชุมชนของสาขาวิชา กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกได้ว่า นี่คือสถานที่บ่มเพาะให้เยาวชนเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อสังคม บ่มเพาะเด็กคนหนึ่งให้เป็นเยาวชนได้อย่างเต็มตัว กิจกรรมแล้วกิจกรรมเล่าถูกจัดโดยนิสิตเพื่อนิสิตซึ่งเราเองก็ได้มีส่วนร่วมทั้งการเป็นผู้จัดและผู้เข้าร่วมทำให้เกิดความรู้สึกว่านี่เป็นการสอนให้เราเติบโตและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีที่สุด 
    “ตั้งใจเรียน ประพฤติดี มีจิตอาสา” นี่คือสิ่งที่นิสิตพึงมีซึ่งเรายึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาตลอด กระทั่งมีการรับสมัครนิสิตทุนก็ได้ไปสมัครและได้รับคัดเลือก ซึ่งตรงนี้อยากจะบอกว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคามมีทุนค่อนข้างเยอะหลากหลายทุนซึ่งเปิดโอกาสให้กับนิสิตทุกคนเพราะฉะนั้นแล้ว หากมีความตั้งใจที่จะศึกษาเล่าเรียนเชื่อว่าสถาบันแห่งนี้พร้อมที่จะสนับสนุน ช่วยเหลือ และมอบโอกาสนั้นให้กับผู้ที่มีความตั้งใจเสมอ
    สุดท้ายนี้อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังมองหาสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยก็อยากจะฝากมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้เป็นหนึ่งในทางเลือกดี ๆ กับน้อง ๆ ทุกคน มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนที่บ่มเพาะนิสิตให้ออกไปเป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพกลับไปสู่สังคม ยินดีต้อนรับน้อง ๆ สู่รั้วเหลือง-เทา ล่วงหน้านะคะ

Author

ผู้เขียน : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts