ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหลักฐาน และข้อมูลเกี่ยวกับซากสิ่งที่มีชีวิตในมหายุค Mesozoic ซึ่ง ครอบคลุมตั้งแต่ยุค Triassic ไปจนกระทั่งถึงยุค Cretaceous โดยได้พบซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ทั้งซากพืชซากสัตว์มากมาย ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา” ขึ้น เพื่อผลิต ส่งเสริม และเผยแพร่งานวิจัย ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เป็นศูนย์รวมนักวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา ในระดับสากล อีกทั้งมีการถ่ายทอด และพัฒนาความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยา ให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบการจัดโครงการค่ายสำรวจเรียนรู้ทางบรรพชีวินวิทยา (Paleo Camp) ครั้งที่ 22 ตอน ตระเวนถิ่นไดโนเสาร์ ระหว่างวันที่ 15-18 มกราคม พ.ศ. 2564 ภายใต้การดูแลของ นายศิตะ มานิตกุล นักวิจัย ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



ความสำคัญของการจัดโครงการ
ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา จัดค่ายบรรพชีวินวิทยาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งนับว่าเป็นกิจกรรม ที่ได้รับความสนใจ จากผู้คนหลากหลายกลุ่มทั้งเด็ก และเยาวชน ที่ชื่นชอบในเรื่องไดโนเสาร์ และซากดึกดำบรรพ์เป็นพิเศษ ผู้ปกครองที่ต้องการใช้เวลากับครอบครัว และพัฒนาการเรียนรู้ และเสริมสร้างทักษะ การเข้าสังคมของเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่เรียนในสาขาวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในแขนงวิชาชีววิทยา และธรณีวิทยา ตลอดจนบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจ โดยไม่มีการจำกัดช่วงวัย การจัดค่ายบรรพชีวินวิทยา จึงเป็นกิจกรรม ที่เผยแพร่องค์ความรู้ ด้านบรรพชีวินวิทยา สู่คนทุกกลุ่มในสังคม ช่วยประชาสัมพันธ์หน่วยงาน       อันเป็นอัตลักษณ์โดดเด่น ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ตลอดจนจุดประกายความสนใจของเยาวชน ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ในอนาคต 



วัตถุประสงค์
1 เพื่อสร้างองค์ความรู้ และทักษะการปฏิบัติงานด้านบรรพชีวินวิทยาแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
2 เพื่อสร้าง และพัฒนาศักยภาพ คนทำงานด้านบรรพชีวินวิทยาในปัจจุบัน และอนาคต
3 เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม และพันธกิจของศูนย์วิจัย และการศึกษาบรรพชีวินวิทยา



กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายที่ประสงค์จะเข้าร่วมในโครงการค่ายบรรพชีวินวิทยานั้น เป็นบุคคลทั่วไป อายุ 12 ปีขึ้นไป ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมของเราได้โดยไม่มีข้อจำกัด



งบประมาณในการจัดทำโครงการ 
งบประมาณในการจัดโครงการ เรานำมาจากค่าลงทะเบียนของผู้เข้าร่วม โครงการ จำนวน 25 คน เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการค่ายบรรพชีวินวิทยา



ค่าสมัครเข้าร่วมในโครงการ
ค่าสมัครเข้าร่วมในโครงการ 3,500 บาท ต่อคน ในการจัดโครงการค่ายบรรพชีวินวิทยาขึ้นในครั้งนี้



มหาวิทยาลัยมหาสารคามสนับสนุนอย่างไรบ้าง
  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สนับสนุนในการจัดบุคลากร ที่มีความรู้ ความสามารถ ในการเป็นวิทยากรพิเศษ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ สำหรับผู้เข้าร่วมในโครงการค่ายบรรพชีวินวิทยา ในแต่ละครั้งอย่างพร้อมเพรียง



ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
  ระยะเวลาในการเริ่มต้นโครงการ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และสิ้นสุดโครงการวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และจัดโครงการระหว่างวันที่ 15-18 มกราคม พ.ศ. 2564 ซึ่งศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มีการจัดโครงการหลายโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน



การตอบรับการเข้าร่วมโครงการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านมา ล้วนกล่าวถึงความพิเศษของค่ายบรรพชีวินวิทยา โดยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา จัดให้มีความโดดเด่นจากการที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้สัมผัสขั้นตอนการทำงาน ของนักบรรพชีวินวิทยา ในแหล่งซากดึกดำบรรพ์อย่างใกล้ชิด นับเป็นประสบการณ์ ที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ ทุกคนมีโอกาสที่จะพบซากดึกดำบรรพ์ด้วยตนเอง ซึ่งสร้างความประทับใจ และความภาคภูมิใจ ก่อให้เกิดความรัก และความหวงแหน ในทรัพยากรของประเทศ และเรียกร้องให้มีการจัดโครงการอย่างต่อเนื่อง 

ปัญหา และอุปสรรค
เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป ต่างมีช่วงเวลาวันหยุดยาว เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมแตกต่างกัน การเลือกช่วงเวลาสำหรับจัดโครงการ จึงต้องหาข้อมูลให้ถี่ถ้วน นอกจากนั้นพื้นที่จัดกิจกรรม แต่ละบริเวณล้วนมีข้อจำกัดของเวลา ระยะทาง ฤดูกาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอุปสรรคอื่นๆ ที่ผู้จัดโครงการจำเป็นต้องวางแผน การเตรียมงานอย่างรอบคอบรัดกุม เพื่อลดค่าใช้จ่าย และความปลอดภัยในการจัดกิจกรรม



ความคาดหวังในการจัดโครงการ
ผลผลิต และผลลัพธ์ที่สำคัญจากค่ายบรรพชีวินวิทยา คือการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนวงการบรรพชีวินวิทยา ของประเทศไทย ช่วยสร้างความเชื่อมั่น และแนะแนวการศึกษาต่อ โดยพิสูจน์จากการที่เยาวชนเคยร่วมโครงการค่าย ได้กลับมาฝึกงาน หรือแนะแนวการศึกษาต่อ ในแขนงวิชาที่เกี่ยวข้อง มีการทำวิจัย การค้นคว้าพิเศษ ตลอดจนเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ ด้านบรรพชีวินวิทยา หลายคนยังกลับมาร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา จัดอย่างต่อเนื่อง เกิดเครือข่ายค่ายบรรพชีวินวิทยา หน่วยงานได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรม และเป็นที่รู้จักสามารถสร้างรายได้เพื่อพัฒนากิจกรรม ทั้งการวิจัย และการบริการวิชาการต่อไป


ฝากถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นการจัดค่ายบรรพชีวินวิทยาครั้งที่ 22 แล้ว โดยครั้งนี้ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ได้เน้นการจัดกิจกรรม ในจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และสกลนคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความสมบูรณ์ ของซากดึกดำบรรพ์ ไดโนเสาร์และสรรพสัตว์ ในมหายุคมีโซโซอิก มากที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยภูน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยของหน่วยงานมากว่าสิบปี ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้ที่หลากหลาก จากคณะวิทยากร ผู้มีความเชี่ยวชาญ ในแขนงต่างๆ และได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ กลับบ้าน ตลอดจนจุดประกายความฝัน และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่มากก็น้อย


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

Related Posts