โครงการเยาวชนต้นแบบด้านดนตรีไทย  โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  กระทรวงวัฒนธรรม ได้บูรณาการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายสถานศึกษาทั่วประเทศ ถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมด้านดนตรีไทยให้คงอยู่ การยกย่องเชิดชูเกียรติเยาวชนต้นแบบด้านดนตรีไทย จึงเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเยาวชนและสถานศึกษา ที่เป็นแบบอย่างที่ดี ในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน เกิดความเชื่อ ศรัทธาและเห็นคุณค่าความสำคัญของดนตรีไทย จึงมีส่วนช่วยปลูกฝังและเสริมสร้างค่านิยมที่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชน  อันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการสร้างคนดีและสังคมดีด้วยมิติทางวัฒนธรรม  นายศราวุฒิ พิกุลศรี นิสิตชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหนึ่งในเยาวชนที่ได้รับรางวัล  เยาวชนต้นแบบดนตรีไทย ประจำพุทธศักราช 2563 เราจึงจะพาทุกท่านไปรู้จักกับเขาให้มากขึ้น ตามเรามาเลยค่ะ



แนะนำตัว
    นายศราวุฒิ พิกุลศรี (อาร์มเชลล์) นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาดุริยางค์พื้นบ้าน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์

รางวัลที่ได้รับ
    รางวัลเยาวชนต้นแบบดนตรีไทย ประจำปีพุทธศักราช 2563  ระดับชมเชย  ประเภทอุดมศึกษา จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

พูดถึงรางวัลเยาวชนต้นแบบด้านดนตรีไทย ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร  ถึงจะมีสิทธิได้รับคัดเลือก
    รางวัลนี้มีเพื่อยกย่องเชิดชูสำหรับผู้ที่มีความสามารถด้านดนตรี ผู้ที่มีความสามารถในการเล่นดนตรี ไม่ว่าจะดนตรีไทยหรือพื้นบ้าน ตั้งแต่ 1ชิ้นขึ้นไป และมีผลงานด้านดนตรี ทุกคนสามารถที่จะส่งผลงานเพื่อรับการคัดเลือกรางวัลเยาวชนต้นแบบดนตรีไทยได้ครับ



เริ่มเล่นเล่นดนตรีไทย
    เริ่มเล่นดนตรีครั้งแรกตอน ป. 4 คือขลุ่ยเพียงออ โดยมีครูที่โรงเรียนสอน ต่อมาฝึกเป่าโหวด ด้วยตัวเอง และฝึกดีดพิณตอน ป. 5 ซึ่งดูวิธีการจาก ยูทูป ต่อมามีอาจารย์เดินทางมาจาก กทม. เพื่อมาหาลูกศิษย์ของท่าน ผมก็ขอเข้าร่วมเรียนรู้ในวิธีการเล่นพิณ และซื้อซีดีมาฝึกเล่นด้วยตัวเอง พอสามารถที่จะเล่นได้ระดับหนึ่ง จึงตั้งวงกลองยาวเป็นของตัวเอง.  พอเข้าศึกษาในระดับมัธยมก็เริ่มฝึกเป่าแคน สีซอ และดนตรีไทยเครื่องอื่นๆ ตามมา ฝึกด้วยตัวเองบ้าง บางครั้งก็อาศัยอาจารย์ชี้แนะแนวทาง เนื่องจากมีพื้นฐานดนตรีมาบ้าง  จึงสามารถเรียนรู้ในการเล่นดนตรีชนิดอื่นๆได้เร็ว  ส่วนต้นแบบของการเล่นดนตรีนั้น คือ บรมครูด้านดนตรีทุกท่านทุกแขนง ที่มีความสามารถโดนเด่นเป็นเอกลักษณ์ ผมก็จะยกทุกท่านเป็นแบบอย่าง

เครื่องดนตรีไทยที่เล่น 
    เครื่องดนตรีที่เล่น ส่วนใหญ่จะเป็นงานรื่นเริง วงกลองยาวก็เล่นในการแห่ขบวนต่างๆ ดนตรีแคนวงก็ใช้ในการขับกล่อมงานมงคลหรือ อวมงคล รวมถึงงานพิธีการที่สร้างบรรยากาศครับ

คิดว่าดนตรีไทยมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหลอย่างไร
 ดนตรีสามารถอยู่ได้ในทุกกิจกรรมและทุกงานของคนอีสาน เพราะดนตรีคือสัญลักษณ์ของความเป็นอีสาน สะท้อนวิถีชีวิต การเป็นอยู่ที่ฝังแน่น เป็นการสื่ออารมณ์ผ่านดนตรี ถือได้ว่าเป็นจิตวิญญาณของความเป็นมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ครับ





ในฐานะเราเป็นเยาวชนต้นแบบด้านดนตรีไทย  เราจะถ่ายทอด สืบสานให้กับรุ่นต่อๆ ไปอย่างไร
    ในฐานะที่ผมเป็นเยาวชนต้นแบบดนตรีไทยนั้น ในส่วนของการอนุรักษ์คือการเล่นหรือบรรเลงให้ดนตรีมีชีวิตอยู่บนวิถีความเป็นอยู่ ผลักดันให้ในการจัดกิจกรรมทุกระดับมีการให้ความสำคัญกับดนตรี และยกระดับดนตรีให้เป็นที่รู้จักของคนทุกสายอาชีพ ในการเผยแพร่เนื่องจากทุกวันนี้สังคมออนไลน์เป็นที่เข้าถึงผู้คนได้ง่าย การเผยแพร่ให้ดนตรีมีบทบาทและความสำคัญเข้าถึงผู้คนในสังคมออนไลน์นั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเผยแพร่ หากผู้ใดสนใจที่จะศึกษาและสืบทอดศิลปะแขนงนี้ หากไม่สะดวกที่จะเข้าหาครูอาจารย์ที่สอนโดยตรง ยังสามารถที่จะเข้าศึกษาด้วยตัวเองผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งส่วนตัวผมเอง ได้ทำสื่อเพื่อนำเสนอวิธีการฝึกเล่น เทคนิคต่างๆ วิธีทำเครื่องดนตรี ผ่านช่องทางยูทูป หากผู้ใดสนใจที่จะฝึกฝนเริ่มต้น หรือเพิ่มเติม สามารถค้นหาได้ที่ ช่อง “ศราวุฒิ พิกุลศรี”

แนะนำรุ่นน้อง  ที่สนใจอยากเรียนในสาขา… ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
    สำหรับน้องๆที่สนใจอยากจะมาเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มาเป็น ครอบครัวเสลาช่อต่อไป เพียงแค่น้องมีใจรักในดนตรี ถนัดและสามารถเล่นได้พื้นฐาน น้องสามารถมาศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี้ เตรียมใจให้พร้อม ฝึกฝีมือให้ดี ก้าวเข้ามาด้วยความมั่นใจ วางตัวให้เหมาะสม ยอมรับฝีมือคนอื่นๆ พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน พี่ ในคณะ เพียงแค่ใจกว้าง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก็ยินดีต้อนรับเสมอครับ






Author

ผู้เขียน : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts