แอปพลิเคชั่นตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”
อาจารย์ มมส ร่วมมือกับนักวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คิดค้น แอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย” เป็นแอปตรวจสอบเห็ดมีพิษ หรือและเห็ดรับประทานได้ แอปของคนไทยสำหรับคนไทยจากโครงการวิจัย โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสู่นวัตกรรม Application Mushroom Image Matching เห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ ปีพ.ศ. 2560-2563 ภายใต้บันทึกข้อตกลงความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญุเรือน นาคสุวรรณ์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



ชื่อผลงาน
แอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”



ที่มาของการทำแอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”
ที่มาของการคิดเริ่มทำแอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”ขึ้นมาเนื่องจากมีคนเจ็บป่วยจากการได้รับสารพิษจากเห็ดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้อนหลังกลับไป 5 ปี จำนวนของคนที่รับประทานเห็ดพิษ เพิ่มมากขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เสียชีวิตกว่า 30 คน และมีผู้ที่เจ็บป่วยอีกจำนวนมาก จากการรับประทานเห็ดพิษมากกว่า 6,000 ราย เมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วย หรือมีอาการอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานเห็ด เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในชุมชน ได้แก่ รพ.สต. หรือโรงพยาบาลต้องทำการสอบสวนโรค และเก็บตัวอย่างอาหารที่เหลือ จากการรับประทาน หรือตัวอย่างเห็ด ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหา และระบุสารพิษ และส่งผลตรวจกลับมายังโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ดูแลผู้ป่วยให้ถูกวิธี เลยมองว่าเราจะมีวิธีทำอย่างไร เพื่อจะให้ลดจำนวนของผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษให้น้อยลง 


ก่อนหน้านี้ มีการจัดอบรมเรื่องเห็ดทั่วไป และมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันเรามีการนำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในปัจจุบันจะมีการใช้สมาร์ทโฟน เราน่าจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมา เพื่อใช้สแกนแยกชนิดของเห็ดลองดูบ้าง โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเห็ด ที่มีความแตกต่างกัน เป็นตัวแยกชนิด เราจึงใช้รูปภาพเห็ดพิษ ที่พบบ่อยในป่าธรรมชาติ และภาพเห็ดรับประทานได้ ซึ่งส่วนใหญ่มีจำหน่ายในตลาด ในช่วงฤดูฝนใส่ในฐานข้อมูล เพื่อให้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้น จดจำลักษณะที่สำคัญ แล้วนำไปเปรียบเทียบ กับเห็ดที่ต้องการสแกน



วัตถุประสงค์ แอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”
     วัตถุประสงค์ แอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย” เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเบื้องต้น ในการเลือกรับประทานเห็ดจากป่าธรรมชาติ เป็นการลดจำนวนผู้ป่วย ที่มีการบริโภคเห็ดมีพิษ และเฝ้าระวังในชุมชน

จุดเด่นของแอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”
        แอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย” มีความสะดวกสบาย ใช้ง่าย ใครก็สามารถใช้ได้ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย” ลงมาในโทรศัพท์มือถือแบบ Android ของเราเท่านั้น และเมื่อติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือแล้ว แม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็ใช้แอปพลิเคชั่นนี้ได้  โดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่องเห็ด เราก็สามารถใช้แอปนี้ได้เลย 


        เมื่อเราเริ่มสแกนเห็ดที่ต้องการทราบชนิด โปรแกรมจะประมวลผลเป็นแบบ Real time และทำการเปรียบเทียบลักษณะทางสัณฐานวิทยา กับรูปภาพที่มีอยู่ในฐานข้อมูล การประมวลผลความถูกต้อง จะบอกเป็นตัวเลข โดยบอกเป็นร้อยละของความถูกต้อง เมื่อโปรแกรม สามารถเปรียบเทียบ ความเหมือนของเห็ดได้ที่ร้อยละ 95 โปรแกรมจะหยุด และแสดงภาพเห็ดพร้อมชื่อบนหน้าจอ โดยแสดงชื่อเห็ด 2 ชนิด หากพบว่าเห็ดที่สแกน เป็นเห็ดมีพิษจะมีโลโก้หัวกะโหลกสีแดง เตือนในภาพ ส่วนเห็ดที่รับประทานได้ โลโก้จะเป็นรูปช้อนส้อม และมีสีเขียว นอกจากนี้ ยังสามารถกดดูข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกชั้นหนึ่ง จากชื่อเห็ดที่แสดง ได้แก่ ข้อมูลชื่อพื้นเมือง ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะที่สำคัญ กลุ่มของสารพิษ อาการที่แสดงหลังรับประทานเห็ดพิษชนิดดังกล่าว และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานเห็ดพิษ


วิธีการใช้ แอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”
วิธีการใช้แอปพลิเคชั่นตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”ง่ายมาก คือเมื่อเราไปพบเห็ด ที่เรายังไม่แน่ใจว่า เป็นเห็ดชนิดไหนนั้น เพียงเราเปิดแอปพลิเคชั่นตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”แล้วสแกนไปที่ดอกเห็ด ที่เราพบนั้น แอปก็จะประมวลผลโดยการเปรียบเทียบกับรูปภาพ ในฐานข้อมูล โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นได้ 2 ช่องทาง
ช่องทางที่ 1 เลือกจาก  Google Play ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย”


ช่องทางที่ 2 สแกนคิวอาร์โค้ด


วิธีการเข้าใช้
   1.เปิดแอป
   2.ลงทะเบียนการใช้แอป
   3.เปิดกล้อง เพื่อเตรียมสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด
   4.โปรแกรมจะเริ่มประมวลผล และจะหยุดพร้อมแสดงภาพเห็ด เมื่อความถูกต้องของชนิดเห็ดอยู่ที่ ร้อยละ 95 
   5.เมื่อแอปพลิเคชั่นประมวลผลเรียบร้อย จะแสดงผลว่า หากเป็นเห็ดชนิดมีพิษ จะขึ้นตัวหัวกะโหลกสีแดง หรือเห็ดที่สามารถรับประทานได้ จะขึ้นภาพรูปช้อนส้อมสีเขียว มาพร้อมกับชื่อเห็ด
   6.สามารถกดเข้าไปดูข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับเห็ดได้เพิ่มเติม จากชื่อเห็ดที่แสดง
   7.แอปพลิเคชันสามารถใช้งานได้ โดยไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต เมื่อดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือเรียบร้อยแล้ว



มีแผนพัฒนา แอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย” ต่อไปอย่างไร
     แผนในการพัฒนาแอปนั้น หัวใจสำคัญของการมีแอป คือการมีฐานข้อมูล ของชนิดเห็ดที่ถูกต้อง และมีรูปภาพจำนวนมากเพื่อใช้เปรียบเทียบ แอปถึงจะมีประสิทธภาพสูง และมีความถูกต้องแม่นยำ หากเรามีฐานข้อมูลรูปภาพน้อย ก็จะทำให้การประมวลผลชนิดของเห็ดต่ำ หรือมีความแม่นยำน้อยลง ปัจจุบันตัวแอปพลิเคชั่นนั้น ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องการจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องไปเพิ่มข้อมูล ในฐานข้อมูล ให้มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ในแอปพลิเคชั่น มีกลุ่มเห็ดพิษ และเห็ดรับประทานได้ จำนวน 14 กลุ่ม ในอนาคตทีมนักวิจัย มีความเห็นพ้องกันว่า ควรเพิ่มจำนวนชนิดของเห็ด ที่พบในป่าธรรมชาติ ให้มีมากขึ้นอีก และข้อมูลชนิดเห็ด ที่ชาวบ้านเก็บมาขาย ในตลาดในช่วงฤดูฝน ยกเว้นเห็ดเศรษฐกิจ ที่ผลิตจากฟาร์มเห็ด เนื่องจากแอปพลิเคชั่นนี้ มุ่งเน้นการใช้งานกับเห็ดจากป่าธรรมชาติ


พบปัญหา และอุปสรรคค์ การสร้าง แอปพลิเคชั่นตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย” หรือไม่
ครั้งแรกเรามีการพัฒนาแอปเวอร์ชั่น ที่ 1 ขึ้นมานั้น เราใช้รูปภาพเห็ดทั้งหมด ที่มีอยู่ใส่ในฐานข้อมูล ปรากฏว่าเมื่อโปรแกรมเริ่มประมวลผล ทำงานได้ช้ามาก และจำนวนข้อมูลรูปภาพ ในแต่ละชนิดมีไม่เท่ากัน ดังนั้นเมื่อแอปเริ่มสแกนเพื่อเปรียบเทียบลักษณะชนิดของเห็ด ที่มีรูปภาพจำนวนน้อย ก็อาจมีลักษณะไม่ตรงกับชนิดของเห็ดนั้นๆ ทั้งที่เป็นชนิดเดียวกัน โปรแกรมก็จะไปเปรียบเทียบลักษณะอื่น จากเห็ดที่มีจำนวนรูปภาพมากกว่า 


        จากนั้นเรามีการพิจารณาว่า เราจะต้องมีการปรับปรุงใหม่ และโปรมแกรมเมอร์ ในทีมวิจัยเสนอแนะ ให้ใช้จำนวนข้อมูลภาพ 1,000 ภาพ ต่อเห็ด 1 ชนิด และมีจำนวนเท่ากันทุกชนิด เพื่อความไม่ลำเอียง ในการประมวลผลเปรียบเทียบชนิดของเห็ด จึงได้แอปพลิเคชั่นเวอร์ชั่นที่ 2 ต่อมาได้พัฒนาเวอร์ชั่นที่ 3 โดยการให้โปรแกรมสามารถเปรียบเทียบลักษณะจากภาพถ่ายเห็ด เช่น มีคนส่งภาพเห็ดมาให้ในโทรศัพท์มือถือ เราสามารถนำภาพนั้น ใช้กับแอป เพื่อสแกนหาชื่อเห็ดได้เลย โดยโปรแกรมการสแกนแบบ real time ยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่เวอชั่นนี้พบปัญหาคือ เมื่อดาวน์โหลดรูปภาพไป เพื่อให้โปรแกรมสแกนเปรียบเทียบ รูปภาพจะกลับหัว และสัดส่วนของภาพผิดเพี้ยนไป จึงยกเลิกเวอร์ชั่นที่ 3 รอการปรับปรุง ปัจจุบันจึงใช้แอปพลิเคชั่นเวอร์ชั่นที่ 2 เท่านั้น


นอกจากนี้ อุปสรรคในการทำงานที่พบคือ การเจริญของเห็ดในแต่ละปี ไม่มีเวลาที่แน่นอน เช่น บางปีเห็ดพิษชนิดหนึ่งเจริญ และพบดอกเห็ดในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม แต่ปีถัดมาเราไปตามหาเพื่อถ่ายภาพ และเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม กลับไม่พบเจอในพื้นที่เดิม และบางช่วงเวลาที่เรากำหนดออกภาคสนาม กลับไม่พบเห็ดเลย เนื่องจากฝนไม่ตก หรือบางครั้งเห็ดก็ย่อยสลายไปหมดแล้ว เนื่องจากเราต้องออกภาคสนามทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการรายงานการเจ็บป่วย จากการรับประทานเห็ดพิษ ดังนั้นทีมวิจัย จึงต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อที่จะได้ข้อมูลให้มากที่สุด และครบถ้วนที่สุด


มีแผนในการนำ แอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย” ถ่ายทอดลงสู่ชุมชนอย่างไร
            ปัจจุบันทีมนักวิจัย ได้ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเห็ด และการใช้แอปพลิเคชั่นตรวจสอบเห็ด โดยโครงการวิจัยนี้ได้จัดทำ “คู่มือการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเห็ด เห็ดพิษและการเฝ้าระวังในชุมชน” ขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจเห็ดทั่วไป และเพื่อใช้อบรม โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ชุมชน คือ เจ้าหน้าที่ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และเจ้าหน้าที่ใน รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ก่อนอันดับแรก เนื่องจาก อสม. นั้นจะมีความใก้ลชิดกับชุมชนอยู่แล้ว หากมีเหตุการณ์พบผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดมีพิษขึ้น ในชุมชน เจ้าหน้าที่ อสม.จะเป็นคนที่ทราบลำดับแรก และส่งต่อมาที่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. จะต้องมีการคัดกรอง โดยการสอบสวนโรคอย่างละเอียด พร้อมนำส่งอาหารที่เหลือจากการรับประทาน และตัวอย่างเห็ดให้แก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาชนิดของสารพิษ ว่าเป็นพิษชนิดใด และส่งข้อมูลผลตรวจกลับมายังโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง เราจึงต้องนำ แอปพลิเคชั่นตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย” ไปถ่ายทอดกับเจ้าหน้าที่ อสม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เพื่อเจ้าหน้าที่เหล่านี้ จะได้ช่วยเหลือ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง หรือหากชาวบ้าน ที่ไม่มีโทรศัพท์ที่เป็นสมาทโพน อาจจะให้เจ้าหน้าที่ อสม. หรือเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ช่วยสแกนตรวจสอบชนิดของเห็ด ที่ชาวบ้านเก็บมาจากป่าธรรมชาติ ก่อนนำไปปรุงอาหารได้ 


          ในส่วนของมหาวิทยาลัย ตนเองได้นำเรื่องแอปพลิเคชันตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย”เพิ่มลงในหลักสูตรการเรียนการสอน ในรายวิชาที่เป็นหลักสูตรที่อยู่ในภาควิชาชีววิทยา เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้ เกี่ยวกับเห็ดพิษ และเห็ดรับประทานได้ และตระหนักถึงอันตราย จากการรับประทานเห็ดพิษ และนิสิตที่ผ่านการใช้แอปพลิเคชั่นนี้ยัง เป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ อีกทั้งสามารถ นำกลับไปถ่ายทอดวิธีการใช้แอปพลิเคชั่นนี้ต่อที่บ้านได้อีก 
           นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มีโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ในโรงเรียนมัธยม โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย หรือ โครงการ วมว. ขึ้นในโรงเรียนสาธิตฝ่ายนมัธยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีการจัดหลักสูตรการเรียนรู้ มีการสอนในรายวิชา วิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ตัวเองเป็นผู้สอนในรายวิชาดังกล่าว จึงได้นำหัวข้อการเรียนรู้ เกี่ยวกับเห็ดตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้แอปพลิเคชั่นตรวจสอบเห็ด ไปสอนให้นักเรียน ได้ศึกษาเกี่ยวกับเห็ด  ในท้องถิ่น ทั้งเห็ดพิษ และเห็ดรับประทานได้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง การรับประทานเห็ดพิษ ที่เก็บจากป่าธรรมชาติ ในครอบครัวและในชุมชน ต่อไปในอนาคตได้



มหาวิทยาลัยมีการสนับสนุนงานวิจัยอย่างไร
ต้องขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างมาก ที่สนับสนุนการทำงานวิจัยนี้ภายใต้ความร่วมมือ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อย่างมาก อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังมีศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเห็ด คือ พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ตั้งอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งที่พิพิธภัณฑ์เห็ดฯ นอกจากจะมีตัวอย่างเห็ดแห้ง และเห็ดที่ดองไว้ในสารละลาย ซึ่งเป็นตัวอย่างอ้างอิง เพื่อการเรียนการสอน และการวิจัยแล้ว ยังมีเห็ดไว้จัดแสดง เพื่อเปิดให้เยี่ยมชม และมีฐานข้อมูลชนิดของเห็ด ชื่อวิทยาศาสตร์ ฐานข้อมูลรูปภาพ ข้อมูลลักษณะทางกายภาพ และแหล่งอาศัยของเห็ด ที่เราเดินป่าสำรวจชนิดของเห็ดทั่วทั้งประเทศ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เราจึงมีข้อมูลเห็ด จำนวนหนึ่งที่สามารถนำมาพัฒนาแอปพลิเคชั่นตรวจสอบเห็ด “คัดแยกเห็ดไทย” ให้ดียิ่งขึ้น


 ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
อยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ทุกคน ค้นหางานวิจัยที่ตัวเองตกหลุมรัก และชอบเป็นพิเศษ มุ่งมั่นในการทำงานสิ่งนั้น มีเป้าหมาย และมีความสุข กับการทำงาน แสวงหาเพื่อนร่วมงานที่ตกหลุมรักในสิ่งเดียวกัน

คติในการทำงาน
  ต้องมีความสุขในการทำงาน

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล

Related Posts