เปราะนภาวรรณ 𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎 𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒 พืชชนิดใหม่ของโลก
นักวิจัย มมส ร่วมกับทีมค้นพบพืชวงขิง "เปราะนภาวรรณ”𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒 Saensouk, P.Saensouk & Boonma" เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก เป็นพืชถิ่นเดียว และเป็นพืชที่หายากมากที่สุดของประเทศไทย นอกจากจะเป็นพืชวงขิงชนิดใหม่ของโลกที่มีความสวยสดงดงามแล้ว ใบอ่อนยังสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารที่แสนอร่อย และมีสรรพคุณทางสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมายของ "เปราะนภาวรรณ" "𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎 𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒 พืชชนิดใหม่ของโลก ภายใต้การนำของรองศาตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข (Surapon Saensouk) นายธวัชพงศ์ บุญมา (Thawatphong Boonma) (จากหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข (Piyaporn Saensouk) (ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์) เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจาก BEDO (สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)) โดยได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ ทีมวิจัยที่มีองค์ความรู้ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ



ที่มาของของการตั้งชื่อ"เปราะนภาวรรณ" "𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎 𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒 
 เปราะนภาวรรณ 𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎 𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒 Saensouk, P.Saensouk & Boonma พืชชนิดใหม่ของโลก  โดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเห็นชอบการใช้ชื่อ "เปราะนภาวรรณ" เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ และมีชื่อไทยที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน "รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์" “นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ประจำปี 2563” ท่านเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ ทำให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

มีการค้นพบ เปราะนภาวรรณ พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดอะไร
เรามีการค้นพบ และทำการศึกษา ค้นคว้า และพบ"เปราะนภาวรรณ" "𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎 𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒 ซึ่งเปราะนภาวรรณ เป็นพืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) สกุลเปราะ (Kaempferia) สกุลย่อยเปราะหอม (Kaempferia) พบครั้งแรกในป่าพื้นที่ จังหวัดนครสวรรค์ และมีสถานภาพการอนุรักษ์เป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) และพืชหายาก (Rare species) ของประเทศไทย เนื่องจากไม่พบรายงานการกระจายพันธุ์ในประเทศอื่นๆ
.

ลักษณะพิเศษของ"เปราะนภาวรรณ" "𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎 𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒
.      สำหรับพืชในสกุลเปราะ (genus Kaempferia) แบ่งออกเป็นสองสกุลย่อย (subgenus) ตามลักษณะการเกิดช่อดอกคือ “สกุลย่อยเปราะหอม” (subgenus Kaempferia) จะมีช่อดอกเกิดอยู่ระหว่างกาบใบ คือ มีใบก่อนแล้วถึงมีช่อดอก โดยมักพบออกดอกในช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ย. ในขณะที่ “สกุลย่อยดอกดิน” (subgenus Protanthium) จะมีช่อดอกเกิดจากตาเหง้าก่อนที่จะมีลำต้น มักพบออกดอกในช่วงเดือน ก.พ. - พ.ค.สำหรับ “เปราะนภาวรรณ” จะมีช่อดอกอยู่ระหว่างกาบใบจึงถูกจัดอยู่ใน “สกุลย่อยเปราะหอม” (subgenus Kaempferia)
.
เปราะนภาวรรณ 𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎 𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒 เป็นพืชชนิดไหน
          ลักษณะทางสัณฐานวิทยา “เปราะนภาวรรณ” เป็นพืชล้มลุก มีการพักตัวในช่วงฤดูหนาว มีลำต้นใต้ดินหรือเหง้ารูปทรงไข่ เหง้าเรียงต่อกันเป็นแถวเมื่อมีอายุหลายปี รากสะสมอาหารอยู่ใกล้กับเหง้า ใบรูปไข่จนถึงรูปเกือบกลมแผ่ราบขนานดิน ปกติจะมีสองใบตรงข้ามกัน บางครั้งอาจพบมีได้ถึงสามใบ ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น ฐานใบกลม ด้านบนของใบสีเขียวมีลายจุดสีเขียวเข้มมากจนถึงจุดสีดำ ช่อดอกเกิดอยู่ระหว่างกาบใบ ดอกสีขาว ดอกบานในระนาบเดียวกันขนานกับดิน คือ กลีบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน (staminodes) ไม่ตั้งขึ้น เมื่อบานจะอยู่ในระนาบเดียวกับกลีบปาก (labellum) และมีแต้มสีเหลืองอ่อนบริเวณโคนกลีบปาก ใบอ่อนที่ยังม้วนอยู่ใช้รับประทานเป็นอาหารเหมือนกับบางชนิดในสกุลเดียวกัน พบออกดอกในช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค.
.

ลักษณะพิเศษของ “เปราะนภาวรรณ” มีความพิเศษอย่างไร
“เปราะนภาวรรณ” มีดอกสีขาวแต้มเหลืองที่กลีบปากและมีใบแผ่ราบกับดินคล้ายกับ เปราะป่า (Kaempferia roscoeana Wall.) แตกต่างกันตรงที่ “เปราะนภาวรรณ” มีกาบใบที่มีขน ใบมีลายจุด และผิวใบมีขนทั้งสองด้าน ใบประดับมีขน กลีบเลี้ยงยาว 2.5-2.9 เซนติเมตร มีขนประปราย รยางค์อับเรณูรูปไข่กว้าง ประมาณ 5.5 x 5.0 มิลลิเมตร ต่อมน้ำหวาน (Epigynous glands) ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร
.           ในขณะที่ “เปราะป่า” (K. roscoeana) มีกาบใบเกลี้ยงไม่มีขน ใบไม่มีลายจุด แต่เป็นลายสีเงิน หรือสีเขียวเข้ม ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ใบประดับผิวเกลี้ยง รยางค์อับเรณูรูปไข่ และมีขนาดเล็กไม่โดดเด่น ประมาณ 1.5 x 1.5 มิลลิเมตร ต่อมน้ำหวาน (Epigynous glands) สั้นประมาณ 3 มิลลิเมตร นอกจากนี้การกระจายพันธุ์ของ “เปราะป่า” ยังอยู่ในโซนตะวันตกเฉียงใต้ของไทย ในขณะที่ “เปราะนภาวรรณ” อยู่ในโซนภาคเหนือตอนล่างค่อนมาทางจังหวัดลพบุรี และคล้ายกับ “เปราะโคราช” (Kaempferia koratensis Picheans.) ที่มีดอกสีขาวแต้มเหลืองที่กลีบปากและมีใบแผ่ราบกับดินเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ “เปราะนภาวรรณ” มีใบลายจุด ใบมีขนทั้งสองด้าน แต่ “เปราะโคราช” ไม่มีลายจุด และ ต่อมน้ำหวาน (Epigynous glands) สั้นประมาณ 4 มิลลิเมตร รวมถึงการกระจายพันธุ์ในธรรมชาติของ “เปราะโคราช” ปัจจุบันพบแค่ในพื้นที่ป่าจังหวัดนครราชสีมา ไม่พบในโซนภาคกลางของไทย


 
        ในขณะที่เมื่อเทียบกับชนิดที่มีใบลายจุดคล้ายกัน ในสกุลเดียวกันและมีการกระจายพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน พบว่า มีพืชในสกุลเปราะที่มีใบลายจุดสองชนิด คือ “เปราะใบลายจุด” (Kaempferia maculifolia Boonma & Saensouk), “เปราะเสือดาว” (Kaempferia pardi K.Larsen & Jenjitt.)
. ทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างจาก “เปราะนภาวรรณ” อย่างชัดเจน คือ กลีบปากมีแต้มสีม่วง “เปราะใบลายจุด” (K. maculifolia) มีลำต้นเทียมที่ตั้งตรง ใบชี้ขึ้นไม่ได้แผ่แบนราบแบบ “เปราะนภาวรรณ” ในขณะที่ “เปราะเสือดาว” (K. pardi) ดอกบานเต็มที่ทำมุมประมาณ 45 องศา ไม่ได้บานในระนาบเดียวกันแบบดอกของ “เปราะนภาวรรณ” รวมไปถึงขนาดของใบ “เปราะเสือดาว” มีขนาดใหญ่กว่า และหนากว่ามาก
.
เปราะนภาวรรณ 𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎 𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒 ชอบขึ้นที่อากาศเช่นไร
ชอบขึ้นในพื้นที่เปิดที่มีลักษณะดินเป็นดินปนทราย อากาศร้อนชื้น ฝนตกปานกลาง 



โอกาส และมีความยากง่ายเพียงใดที่เราจะมีการเพาะเนื้อเยื่อของ  "เปราะนภาวรรณ" ต่อไปได้หรือไม่
เปราะนภาวรรณ เป็นพืชหายากและพืชถิ่นเดียวที่สามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มจำนวนต้นพืชให้มีจำนวนมากขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

 ฝากอะไรถึงนักวิจัยที่มีความสนใจในเรื่องนี้
การศึกษาอนุกรมวิธานและความหลากหลายของกลุ่มพืชแต่ละชนิดจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและมีการศึกษามาอย่างยาวนานถึงจะสามารถชี้ชัดได้ว่าพืชชนิดที่เราศึกษาเป็นพืชหายากหรือพืชถิ่นเดียวจนนำไปสู่การเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกได้ ดังนั้นนักวิจัยจึงต้องมีความมุ่งมั่นและศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสบการณ์ความเชี่ยวชาญได้ในที่สุด พืชชนิดนี้สามารถนำไปพัฒนาและศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมได้ทั้งในศาสตร์ด้านการเกษตรปรับปรุงพันธุ์พืช ด้านเคมีเภสัชในการผลิตพืชสมุนไพร รวมทั้งด้านอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts