นักวิจัย มมส ค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ตัวที่ 13 ของไทย  โดยมีชื่อว่า "มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส" (Minimocursor phunoiensis gen. et sp. nov.) เจ้าของฉายานักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ จากการค้นพบของ ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัย ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 



ชื่อผลงาน และชื่อ-ตำแหน่ง นักวิจัย
ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัย ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา
ผลงานวิจัยเรื่อง ไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนแรกเริ่มชนิดใหม่ จากหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสซิกตอนปลาย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตีพิมพ์ลงในวารสาร Divetrsity
(Manitkoon, Sita; Deesri, Uthumporn; Khalloufi, Bouziane; Nonsrirach, Thanit; Suteethorn, Varavudh; Chanthasit, Phornphen; Boonla, Wansiri; Buffetaut, Eric (2023). A New Basal Neornithischian Dinosaur from the Phu Kradung Formation (Upper Jurassic) of Northeastern Thailand. Diversity. 15 (7): 851. doi:10.3390/d15070851.)



กล่าวถึงที่มาของการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ตัวที่ 13 ของไทย
ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ตัวนี้ถูกค้นพบจากแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตั้งอยู่ที่ต.บ้านดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ สถานที่แห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์คเมืองไทย” เนื่องจากเป็นที่ที่มีการสะสมตัวของซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังจำนวนมหาศาลจากยุคจูแรสซิกตอนปลาย หรือประมาณ 150 ล้านปีก่อน นับเป็นแหล่งขุดค้นที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากชนิดของซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ขณะนี้ นับตั้งแต่การค้นพบในปี พ.ศ. 2551 จวบจนปัจจุบัน มีซากดึกดำบรรพ์มากกว่าห้าพันชิ้นที่ถูกค้นพบ ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเครือข่ายนักวิจัยจากทวีปยุโรป การศึกษาในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้พบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก ได้แก่ ปลาฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า และสัตว์กลุ่มจระเข้ จำนวนถึง 7 ชนิด 



ที่มาของชื่อ "มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส" (Minimocursor phunoiensis gen. et sp. nov.)
ชื่อสกุลมาจากคำในภาษาละติน มินิมัส (minimus) หมายถึงขนาดเล็กสุดในภาษาละติน บ่งชี้ถึงซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบที่มีขนาดเล็กกว่าไดโนเสาร์ตัวอื่น ๆ ที่พบในแหล่งขุดค้น เคอร์เซอร์ (-cursor) คำลงท้ายหมายถึงนักวิ่ง อันเป็นคุณลักษณะโดดเด่น ชื่อชนิด ภูน้อยเอนซิส คือสถานที่ค้นพบ โดยรวมชื่อวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ตัวนี้ จึงความหมายว่า “นักวิ่งขนาดเล็กจากแหล่งภูน้อย”

ความพิเศษของไดโนเสาร์ชนิดใหม่เป็นอย่างไร
นอกจากมินิโมเคอร์เซอร์จะเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังตัวใหม่ (ชนิดที่แปด) จากแหล่งภูน้อยแล้ว ยังเป็นไดโนเสาร์ตัวแรกที่ถูกตั้งชื่อทั้งจากแหล่งภูน้อยและของจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกทั้งยังเป็นไดโนเสาร์ตัวแรกที่ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการจากหมวดหินภูกระดึงอีกด้วย ไดโนเสาร์ตัวนี้ลักษณะของบริเวณกระดูกเชิงกรานที่กระดูกหัวหน่าวชี้ไปทางด้านหลังวางตัวขนานกับกระดูกก้นบ่งชี้ว่าเป็นไดโนเสาร์กินพืชที่มีสะโพกคล้ายนก (ออร์นิธิสเชียน) แม้จะมีขนาดเล็ก ไม่มีอาวุธเพื่อป้องกันตัว แต่มันมีกระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่องที่ยาวกว่ากระดูกต้นขาหลัง บ่งบอกว่าไดโนเสาร์พวกนี้เป็นนักวิ่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อหลบหนีผู้ล่า ฟอสซิลต้นแบบของมินิโมเคอร์เซอร์ถูกพบราวปี พ.ศ. 2555 ใช้เวลาอนุรักษ์ตัวอย่างนานมากกว่า 5 ปี และมีความพิเศษอย่างมากเนื่องจากถูกรักษาสภาพในลักษณะโครงกระดูกเรียงต่อกัน ประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกสันหลังส่วนคอไปจนถึงโคนหาง มือซ้าย กระดูกเชิงกราน ขาหลังทั้งสองข้าง รวมถึงเอ็นกระดูก นับว่าเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สัตว์ตัวนี้มีความยาวประมาณ 0.6 เมตร และน่าจะยาวได้ถึง 2 เมตรเมื่อโตเต็มที่ 



ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
การศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยาเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความอดทนสูง เพราะกระบวนการวิจัยแต่ละขั้นตอนนั้นมีความละเอียดอ่อนและใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน เริ่มตั้งแต่การออกสำรวจขุดค้นภาคสนามในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งต้องทำงานท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่อาจควบคุมได้ ซากดึกดำบรรพ์มักจะฝังตัวอยู่ในชั้นหินที่มีความแข็ง ต้องใช้แรงงานคนสกัด ทุบ ตอก นำกระดูกพร้อมชั้นหินกลับมาอนุรักษ์ ณ ห้องปฏิบัติการ สภาพของซากดึกดำบรรพ์ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในสภาพเสียหาย ต้องใช้ปากกาลมสกัดตะกอนที่ปิดทับออกจากกระดูก ซ่อมแซมด้วยกาว ซึ่งขึ้นตอนนี้อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์จนถึงหลายปี เมื่อซากดึกดำบรรพ์พร้อมสำหรับการวิจัยแล้ว นักวิจัยแต่ละคนจะเลือกศึกษาตามความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยพบก่อนหน้านี้ หลังเสร็จสิ้นการบรรยาย และอภิปรายผลก็จะเข้าสู่กระบวนการยื่นเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งล้วนใช้เวลาและมีมูลค่าในการดำเนินการ ในกรณีของมินิโมเคอร์เซอร์ การอนุรักษ์ตัวอย่างใช้เวลานานมากกว่า 5 ปี และตรงกับช่วงเวลาเดียวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้การศึกษาวิจัยยากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปเทียบตัวอย่างไดโนเสาร์กลุ่มใกล้เคียงกันที่ต่างประเทศได้ 



มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “ความหลากหลายทางชีวภาพ และนิเวศบรรพกาลของสัตว์มีกระดูกสันหลังจากแหล่งภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์” นำโดยอาจารย์วราวุธ สุธีธร อดีตผู้อำนวยการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554-2561 ซึ่งช่วยให้คณะวิจัยสามารถดำเนินงานขุดค้นภาคสนาม และกระบวนการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการและการเผยแพร่ผลงานวิจัย

เราจะยังมีการค้นหา หรือวิจัย และพัฒนางานที่เกี่ยวกับการค้นพบไดโนเสาร์อย่างไรบ้าง
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในประเทศไทยยังมีอีกมาก การสำรวจขุดค้นภาคสนามทำให้เราพบตัวอย่างเพิ่มเติมทุกปี ขณะนี้มีชนิดที่คาดว่าจะเป็นพันธุ์ใหม่อยู่ในกระบวนการวิจัยและจะถูกตีพิมพ์ในอนาคต สิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาบรรพชีวินวิทยาในปัจจุบันคือการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการวิจัย นอกจากจะช่วยให้งานน่าสนใจมากยิ่งแล้ว เราสามารถเข้าใจสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วได้มากกว่าเดิม เราเริ่มรู้ว่าไดโนเสาร์บางชนิดมีสีแบบไหน มีการเจริญเติบโตหรือพฤติกรรมอย่างไร อีกทั้งความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่างหน่วยงานสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานวิจัยให้มากยิ่งขึ้น



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
การศึกษาบรรพชีวินวิทยาในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังต้องการนักวิจัยรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกำลังสำคัญ น่าดีใจที่เยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมากให้ความสนใจและมีบทบาทในการขับเคลื่อนให้วงการบรรพชีวินวิทยาของไทยมีสีสันและเข้าถึงสาธารณชนได้มากขึ้น หากน้อง ๆ คนไหนมีความตั้งใจจริง ขอให้อดทนตั้งใจเรียน และพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด เพราะมีทุนสนับสนุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศให้สมัครอย่างต่อเนื่อง สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ การศึกษาบรรพชีวินวิทยาเป็นวิทยาศาตร์บริสุทธิ์ (Pure science) ที่อาจจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานผู้ให้ทุนในประเทศไทยน้อยกว่างานวิจัยด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าทางเศรฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความท้าทายของนักวิจัยที่ต้องประยุกต์การเขียนข้อเสนองานวิจัย แต่ขอให้ทุกคนยึดมั่นให้ความตั้งใจของตัวเอง เพราะบรรพชีวินวิทยาก็มีความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้รากฐานในการเข้าใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและโลก อีกมีบทบาทในการสร้างสังคมการเรียนรู้แก่เยาวชน และกระตุ้นเศรฐกิจการในพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์จากการท่องเที่ยวได้อีกด้วย



คติในการทำงาน
จงทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับใคร ให้ผลลัพธ์ของงานพิสูจน์ประสิทธิภาพและความตั้งใจของเราเอง

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts