อาการขี้หลงขี้ลืม เป็นปัญหาที่หลาย ๆ คนกำลังเจออยู่ในขณะนี้ บางคนยังไม่ทันแก่เลยก็มีอาการหลงๆ ลืมๆ เสียแล้ว ทั้งการหาของไม่เจอ การลืมทำนู่นทำนี่ ซึ่งปัญหานี้ก็สร้างความหงุดหงิดหรือในบางครั้งก็สร้างปัญหาใหญ่ตามมาได้ค่ะ วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆมาฝากทุกท่านกัน ตามเรามาดูค่ะ
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
หากพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน หรือนอนน้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง จะทำให้สมองทำงานหนักต่อเนื่องจนเกิดความเหนื่อยล้าส่งผลให้เราไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย รวมถึงเกิดอาการขี้ลืมได้ หากเกิดจากการนอนไม่หลับต่อเนื่องหลายวันอาจต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจ และรับคำปรึกษาปัญหาด้านการนอนหลับ
จดบันทึก
เป็นวิธีเบสิคที่ใครๆก็คงนึกถึงเป็นอันดับแรกใช่ไหมครับ การจดบันทึกลงสมุดนั้นช่วยให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้น เพราะการจดจะช่วยย้ำให้สมองจำเรื่องราวต่างๆที่คุณบันทึกลงไป ไม่ว่าจะเป็นการจดบันทึกเรื่องเล็กๆน้อยๆ การจดบันทึกแผนการที่ต้องทำในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์หรือในเดือนถัดไปเป็นต้น การมีสมุดบันทึกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนขี้ลืมนะครับ คุณควรจดในมือถือหรือพกสมุดเล็กๆติดตัวไว้ เพื่อช่วยเตือนสิ่งที่คุณจะต้องทำในแต่ละวัน ซึ่งการฝึกจดบันทึกให้เป็นนิสัยก็จะช่วยแก้นิสัยขี้ลืมของคุณได้มากเลย
แปะกระดาษโน้ต (Post-it)
ใช้กระดาษโน้ตแปะเพื่อเตือนสิ่งที่เราอาจจะลืมได้ และควรแปะในจุดสำคัญเช่น หน้าประตูห้อง/บ้าน,หน้าห้องน้ำ,หน้ารถ เป็นต้น คุณเคยเห็นคนทำงานออฟฟิศที่เขาจะแปะโน้ตไว้ตามจอคอมพิวเตอร์หรือขอบโต๊ะใช่ไหมครับ หรือถ้าคุณอยู่ติดบ้านซะส่วนใหญ่ประตูตู้เย็นก็คงเหมือนกระดานดำที่มีพื้นที่ให้คุณแปะนู่นแปะนี่ตามใจชอบ การแปะกระดาษโน้ตไว้ในที่ที่คุณมองเห็นง่ายๆหรือเดินผ่านประจำ จะช่วยเตือนสมองของคุณให้จดจำเรื่องที่คุณจะต้องทำได้แม่นยำขึ้น
จัดระเบียบสิ่งของภายในบ้าน
การเก็บข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นที่ เป็นหมวดหมู่ สามารถทำให้เราแยกแยะความคิดได้รวดเร็วเวลาที่ต้องนึกว่าของสิ่งนี้อยู่ตรงไหน เช่น กุญแจบ้านจะแขวนอยู่ข้างประตู หรือยาประจำตัววางอยู่บนหัวเตียง อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆเก็บอยู่ในห้องเก็บของเป็นต้น การจัดระเบียบการเก็บของแบบนี้จะทำให้คุณไม่ลืมว่าเก็บอะไรไว้ตรงไหนบ้าง
ทานอาหารหรือวิตามินที่ช่วยบำรุงสมอง
นอกจากอาหารหลัก 5 หมู่ที่คุณต้องทานเป็นประจำทุกวันแล้ว วิตามินหรืออาหารเสริมก็อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่มีอาการขี้หลงขี้ลืม โดยอาหารที่ช่วยเพิ่มความจำได้แก่ ใบแปะก๊วย ผักโขม หรือวิตามินจำพวกน้ำมันตับปลา เป็นต้น นอกจากนี้การพักผ่อนอย่างเพียงพอก็ส่งผลเรื่องความจำ เพราะเมื่อสมองปลอดโปร่งแจ่มใสก็จะมีความจำที่ดีนั่นเอง
จัดลำดับความคิด
การจัดลำดับความคิดความสำคัญ ก็เหมือนการประมวลผลภายในสมองของคุณ เหมือนการจัดชั้นหนังสือ เมื่อคุณมีการแยกเรื่องต่างๆ ออกเป็นหัวข้อๆ ก็ต้องมีรายละเอียดมีแผนผัง จึงจะทำให้คุณเห็นภาพรวมของสิ่งที่คุณจะต้องทำและจัดลำดับความสำคัญได้ง่ายขึ้น ซึ่งการประมวลความคิดเป็นขั้นเป็นตอน จะทำให้คุณจำได้ง่ายขึ้น และไม่ลืมว่าจะทำอะไร เทคนิคนี้แนะนำให้ เราเขียนลำดับที่เราจะทำออกมา อันไหนทำก่อนทำหลัง อันไหนสำคัญ มีรายละเอียดแต่ละลำดับ มีกำหนดการเวลา
ทำทีละอย่าง
การจำแค่สิ่งเดียวสำหรับบางคนก็ยังลืม คงไม่ต้องพูดถึงการจำอะไรหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น การขับรถพร้อมกับคุยโทรศัพท์ไปด้วย พอรู้ตัวอีกทีก็ขับไปทางไหนแล้วก็ไม่รู้ นั่นก็เพราะว่าคุณไม่มีสมาธิทำให้ความสามารถในการจดจำสิ่งต่างๆลดลงไปด้วย ฉะนั้นคุณควรจะทำทีละอย่าง เพื่อโฟกัสและจดจำกับสิ่งที่กำลังทำให้ดียิ่งขึ้น
บริหารสมอง
นอกเหนือจากกิจวัตรประจำวันที่คุณต้องทำทุกวันแล้ว คุณควรแบ่งเวลามาทำกิจกรรมที่แตกต่างบ้าง เช่น ออกกำลังกาย เล่นดนตรี ร้องเพลง เพื่อบริหารสมองของคุณให้มีความตื่นตัวเพิ่มความคิดที่รวดเร็วฉับไวขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีอาการหลงลืมน้อยลง
ลดการดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเป็นประจำหรือดื่มจนติดนั้นส่งผลต่อสมองโดยตรง ทำให้เกิดความจำเสื่อมขี้หลงขี้ลืม นอกจากนี้ยังส่งผลให้คนที่ดื่มสูญเสียการทรงตัว เดินไม่ตรงทาง มีการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพ ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง มีผลต่อระบบทางเดินอาหารและตับ,ระบบเม็ดเลือด,อัตราการเกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ ระบบขับถ่ายและอวัยวะสืบพันธุ์ นอกจากปัญหาสุขภาพส่วนบุคคลแล้ว ยังอาจเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการมึนเมาอีกด้วย เพราะฉะนั้น ควรดื่มแต่พอดี ชั่งใจถึงผลได้ผลเสียไว้ด้วย หากเป็นไม่ได้การไม่ดื่มเลยจะเป็นการดีที่สุด
พูดกับตัวเองบ่อยๆ
การพูดกับตัวเองไม่ได้แปลว่าคุณเพี้ยนหรือสติไม่ดีนะ แต่การพูดกับตัวเองโดยไล่เรียงว่าวันนี้จะทำอะไร ไปไหนบ้าง ก่อนที่จะเริ่มต้นทำกิจกรรม ก็เป็นเหมือนการเตือนสติและย้ำกับตัวเองให้จำในสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งจะทำให้เราจำได้นั่นเอง
ทำอะไรให้ช้าลง
หากคุณเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว พูดเร็ว จะทำให้คุณจดจำรายละเอียดต่างๆได้น้อยลง แต่ถ้าหากคุณทำให้ช้าลงหน่อย ค่อยๆคิด ค่อยๆทำ และใส่ใจในรายละเอียดของแต่ละสิ่งที่ทำมากขึ้น สมองของคุณก็จะจดจำเรื่องราวต่างๆได้มากขึ้น อาการขี้หลงขี้ลืมก็จะดีขึ้นด้วย
ลองนำเทคนิคพวกนี้ไปปรับใช้ดูนะคะ น่าจะช่วยเรื่องความจำได้ไม่มากก็น้อย แต่หากวิธีที่นำมาเสนอยังไม่ได้ผลและเกิดอาการหลงลืมบ่อยครั้งมากขึ้น หรือเป็นเรื้อรัง นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคทางสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ เพื่อป้องกันโรคดังกล่าวเราควรดูแลตนเองให้มากขึ้น และ เข้าพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหาด้านความจำ เพื่อไม่ให้อาการเหล่านี้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันค่ะ
ที่มา : https://www.sanook.com/health/30369/