การเขียนรายงาน เป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ หลายคนก็น่าจะพอรู้กันอยู่แล้วว่ารายงานที่ดีจำเป็นต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง  แต่อาจจะยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรให้การเขียนรายงานออกมาน่าสนใจ และน่าอ่าน เรามาเปิดเผยเทคนิคง่ายๆ ที่น้องๆ ควรคำนึงถึงก่อนการเขียนรายงานกันนะคะ



หัวเรื่องน่าสนใจ
    หัวเรื่องรายงานนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนเลยก็ว่าได้ ดังนั้นถ้าสามารถเลือกหัวเรื่องหรือหัวข้อทีน่าสนใจได้แล้ว ก็จะได้รับความสนใจจากผู้อ่าน  และยิ่งถ้าการเขียนรายงานนั้นๆ ก่อให้เกิดความรู้แก่ผู้อ่าน ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์และสามารถดึงดูดความสนใจผู้อ่านได้มากขึ้นอีกด้วย และหากว่าเนื้อหาภายในรายงานนั้น เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน แต่หัวเรื่องรายงานนั้นไม่น่าสนใจเท่าที่ควร ก็อาจจะเสียโอกาสในการดึงความสนใจให้คนมาอ่านรายงานของเราเอาได้นะคะ

ไม่นอกเรื่อง
    ก่อนเริ่มการเขียนรายงาน การกำหนดขอบเขตของรายงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ เพราะจะทำให้เราเขียนรายงานอย่างเชื่อมโยง และสอดคล้องกัน เนื้อหาต่างๆ ก็จะถูกเรียบเรียงต่อเนื่อง  ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย และป้องกันไม่ให้เราเขียนรายงานนอกเรื่องอีกด้วย เพราะเมื่อกำหนดขอบเขตแล้วก็เหมือนเรากำหนดเป้าหมายของการเขียนรายงาน  เวลาเขียนรายงานเราก็จะเขียนได้อย่างถูกต้องตามเป้าหมายที่เราว่างไว้ ไม่ใช่เขียนวกไปวนมา

เน้นเนื้อ ไม่เน้นน้ำ
    การเขียนรายงานที่ดีควรเขียนเน้นเนื้อหาที่สำคัญ ไม่ใช่เขียนยืดเยื้อเพื่อให้เนื้อหาในรายงานของเรายาวขึ้น น้องๆ อาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี พออาจารย์เห็นแล้วจะรู้สึกว่า รายงานนี้มีเนื้อหาเยอะ แสดงว่าต้องตั้งใจทำมากแน่ๆ แต่ในความจริงแล้ว การเขียนอธิบายยืดเยื้อ วกไปวกมาจะทำให้ผู้อ่านเบื่อ และรู้สึกไม่อยากอ่านต่อ  ทางที่ดีควรเน้นไปทางเนื้อหามากกว่า แต่ก็ยังสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ ไม่จำเป็นต้องกระชับและรวบทุกอย่างเหมือนในส่วนของบทสรุป

ไม่ Copy แล้ว Paste
    การเขียนรายงานที่ดีคือการที่เรารวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จากนั้นจับใจความ และเขียนอธิบายขึ้นมาในภาษาของเรา ไม่ใช่การลอกผลงาน  หรือเนื้อหาของผู้อื่น อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการไม่ได้คะแนนจากคุณครูอีกด้วยนะคะ ถ้าไม่อยากได้ 0 หรือต้องทำใหม่ล่ะก็ อย่าลอกเนื้อหาหรืองานคนอื่นน้า

สรุปเรื่องได้เข้าใจง่าย
    ในบทสรุปตอนท้ายของรายงาน ควรสรุปเรื่องให้เข้าใจง่าย อ่านแล้วสามารถเข้าใจภาพรวมทั้งหมดของรายงานได้ในทันที ไม่ควรเขียนอธิบายยืดเยื้อ มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ ควรเขียนแบบกระชับ และชัดเจน และหากต้องการอธิบายยาวๆ หรืออธิบายเพิ่มเติมควรใส่ไว้ในส่วนของเนื้อหาแทนนะคะ

    การเขียนรายงานที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลยใช่ไหมคะ เพียงทำตามเทคนิคเหล่านี้ ก็จะทำให้รายงานของน้องๆ ดูน่าสนใจและน่าอ่านมากขึ้นเยอะเลยค่ะ

ที่มา  https://www.sanook.com/campus/1390713/

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts