ในสถานการณ์ช่วงนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลาย ๆ คน เผชิญอยู่กับความไม่แน่นอน ทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการติดเชื้อ การป้องกันรักษา สถานะการทำงาน หรือแม้แต่ความไม่แน่นอนทางสภาพทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนเหล่านี้ เป็นสิ่งกระตุ้นอย่างดี ที่ทำให้เกิดความกลัว ความวิตกกังวล และส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจ จนทำให้เกิดความเครียดสะสมได้ นอกจากนี้ การเสพข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ มีทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม ข่าวลือ ก็ก่อให้เกิดความสับสน ตื่นตระหนกตกใจและเกิดความเครียดได้เช่นกัน ผลเสียต่อสุขภาพจิตที่ตามมาคือ ทำให้นอนไม่หลับ เพราะการใช้เวลารับรู้ข่าวสารมากเกินไป ทำให้นอนดึก ภูมิคุ้มกันตก จนทำให้เสียสุขภาพกายได้ แล้วเราควรปฏิบัติตนอย่างไร ในสถานการณ์แบบนี้?​


   
    มาดู 6 วิธีดูแลสุขภาพจิตของคุณเพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวลมากเกินไป จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายได้​  ดังนี้ค่ะ

1. ติดตามข่าวสารเท่าที่จำเป็น ​ ​
    คุณอาจจะตรวจสอบข่าวสารวันละครั้งก็เพียงพอ ลดการเสพโซเชียลมีเดีย หรือปิดการแจ้งเตือนข่าวสารบางประเภท ที่สร้างความกังวล และระมัดระวังข่าวปลอม จะช่วยให้คุณได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์และ มีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

2. เลือกรับข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น ​
    คุณอาจจำกัดเวลาการรับข่าวสารในแต่ละวัน และต้องเลือกจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น คำแนะนำจากแพทย์ บทความต่าง ๆ จากแพทย์ โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานด้านสาธารณสุข เป็นต้น​

3. ดูแลรักษาสุขภาพกายและใจให้ปกติ ​
    พยายามใช้ชีวิตอย่างปกติและมีคุณค่า เพราะความเครียด อาจทำให้เกิดภาวะท้อถอย หมดหวัง นำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย คำแนะนำเบื้องต้นคือ ระหว่างนี้ไม่ควรมีการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น หากมีปัญหาพยายามประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์ไปให้ได้ ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตัวเองให้หาเวลาออกกำลังกาย ยืดกล้ามเนื้อ นั่งสมาธิ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ​

4. อย่าขาดการติดต่อจากคนอื่น ​
    การติดต่อพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนเป็นระยะ ๆ เช่น การโทรหากัน วีดีโอคอล หรือการแชทผ่านข้อความ การพูดคุยปรึกษาหารือกันหรือแชร์ความรู้สึกต่อกัน (ventilate) เป็นการไม่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว นอกจากเป็นการแบ่งปันข่าวสารซึ่งกันและกัน ยังเป็นการให้กำลังใจต่อกันด้วย ​ ​

5. หากิจกรรมทำอย่าปล่อยให้ว่าง ​
    แม้หลาย ๆ คนจะ Work From Home ก็ควรทำตัวเหมือนปกติ และเมื่อเสร็จจากการทำงาน ก็พยายามอย่าปล่อยให้ตัวเองว่าง ควรหาเวลาผ่อนคลายบ้าง เช่น ฝึกทำอาหาร ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฟังเพลง วาดรูป อ่านหนังสือ เป็นต้น​

6. การรับแสงแดดอย่างเหมาะสม​
    การอยู่แต่ในบ้านหรือในห้อง อาจทำให้หลายคนได้รับแสงแดดที่ไม่เพียงพอ ทำให้ฮอร์โมนและวิตามินในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจไปรบกวนนาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm) เช่น การไม่ได้รับแสงแดดกระตุ้นการตื่นตัวของร่างกาย จะทำให้เมลาโทนินหลั่งช้าและมีระดับที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาการนอนหลับ ความจำ และความสามารถในการเรียนรู้ นอกจากนี้ เมลาโทนิน ยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเม็ดเลือดขาวและเซลล์เพชฌฆาต (NK Cell) รวมถึงมีบทบาทในการต่อต้านการทำงานของสารอนุมูลอิสระ ต้านความเสื่อมของเซลล์อีกด้วย​
​การได้รับแสงแดดที่ไม่เพียงพอ ยังส่งผลต่อระดับวิตามินดี ที่กระตุ้นเอนไซม์สังเคราะห์สารสื่อประสาท ซึ่งเกี่ยวกับความเครียดและภาวะซึมเศร้า ดังนั้นหากใครอยู่บ้านที่มีบริเวณ ควรมีการออกมาเดินรับแสงแดดในยามเช้า หรือผู้ที่อยู่คอนโด อาจมีการเปิดหน้าต่างหรือรับแดดจากระเบียงห้อง ​
    โดยแสงแดดที่เหมาะสมต่อการสัมผัส ควรเป็นแดดยามเช้าก่อน 9.00 น. หรือยามเย็นหลัง 16.00 น. ประมาณ 5-15 นาทีต่อวัน เพื่อให้ร่างกายมีระดับวิตามินและฮอร์โมนที่เหมาะสม คงคุณภาพการนอน ลดความเครียด เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ​




ที่มา  :  BDMS Wellness Clinic
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/139918

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts