ด้วยเส้นทางที่เริ่มต้นจากการเป็นเด็กกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย  ทำให้ ว่าที่ ร.ต.ณัฐท์ศรันย์ ศิริกิจ ศิษย์เก่าสาขาสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ (เกียรตินิยมอันดับ 2) ได้เรียนรู้ในการเป็นผู้นำและการแบ่งปัน ความมุ่งมั่นที่ได้รับจากประสบการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เพียงแต่สร้างทักษะที่มีคุณค่า แต่ยังหล่อหลอมให้เขาเป็นบุคคลที่พร้อมจะแบ่งปันความรู้และแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นอยู่เสมอ วันนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักกับเส้นทางชีวิตและมุมมองที่น่าสนใจของเขาในบทสัมภาษณ์นี้ มาติดตามกันค่ะ



แนะนำตัว
        ว่าที่ ร.ต.ณัฐท์ศรันย์ ศิริกิจ ชื่อเล่น อั้ม รุ่น มฤคมาศ 7 จบสาขาสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ (เกียรตินิยมอันดับ 2) ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว โดยเปิดบริษัท ดิจิทัล อาร์ท ริช โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับด้านต่างๆ ดังนี้ ครับ
           - ผลิตสื่อสื่อโฆษณา ผลิตรายการ สารคดี งานถ่ายทำ Production 
           - ผลิตสื่อ Digital ภาพนิ่ง วิดีโอ เพื่อส่งขายในรูปแบบ Photo stock (ขายภาพออนไลน์)
           - บริการทำการตลาดออนไลน์ Facebook และ Youtube
            - ผลิตสินค้า Digital Product สร้างรายได้ในรูปแบบ POD (Print on Demand)
           - เจ้าของสินค้าแบรนด์ Sin La Pla (สินค้าที่ออกแบบจากศิลปะของปลาสวยงาม)
           - วิทยากร / อาจารย์พิเศษ
  *ธุรกิจในอนาคตคือคาเฟ่แกลลอรี่ โดยจะจัดตั้งเป็นแหล่งแสดงภาพถ่ายปลากัดของตัวเองและสินค้าจากปลากัด (แบรนด์ Sin La Pla) ซึ่งจะเป็นคาเฟ่ปลากัดที่เดียวในประเทศไทย



บรรยากาศ ประสบการณ์ดีๆ เมื่อครั้งเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
        สมัยเรียนปริญญาตรี สาขาสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มมส น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุด เพราะผมถือว่ามันเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผมที่ไม่คิดคิดว่าจะได้เรียนต่อระดับปริญญาตรี หลังจบ ม.6 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บ้านเกิด อาจเพราะด้วยฐานะทางครอบครัว รูปแบบวิถีชีวิตของสังคมบ้านเกิดและอะไรหลายๆอย่าง แต่ก็โชคดีที่ได้มีโอกาสได้เข้ามาเรียนต่อ จากพื้นฐานชีวิตที่ได้รับโอกาส ระหว่างเรียนที่ มมส. ก็คิดมาเสมอว่าอยากเป็นครูตามถิ่นทุระกันดาร อยากเอาความรู้ที่พอมีไปแบ่งปันคนอื่นที่เขาไม่ค่อยมีโอกาสบนพื้นที่ห่างไกล แต่ตัวเองก็ได้มาเรียนสาขาที่ไม่ใช่ “สายครู” ดังเพื่อนๆที่เรียนคณะศึกษาศาสตร์ เลยคิดว่าเรียนให้ดีในสาขานี้ไปก่อน จบไปแล้วพอมีโอกาสค่อยไปเรียนต่อในคณะที่จะสามารถกลับมาเป็นครูได้ 


 
    ชีวิต 4 ปี  ในรั้วมหาวิทยาลัย ชอบที่สุดคือการทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและการออกค่ายต่างๆเพื่อสังคม โดยในช่วงปี 2-3 ได้เข้ามาทำงานเป็นอุปนายกสโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ พอขึ้นปี 4 ก็ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานเป็นอุปนายกองค์การนิสิต การทำกิจกรรมมันเหมือนฝึกให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเองเพิ่มขึ้นอีกด้าน คือทั้งเรียน ทั้งกิจกรรม ซึ่ง “คนเราต้องมีพื้นที่ให้ตัวเองและเอาตัวเองไปเป็นประโยชน์ต่อสังคมให้ได้” ผมสนุกกับการออกค่ายอาสาพัฒนา ค่ายครูอาสา ค่ายปลูกป่า และกิจกรรมอื่นๆ ในรูปแบบคล้ายๆกัน รู้สึกเหมือนได้ทำอะไรเพื่อสังคมในแบบที่อยากจะทำมากๆ โดยไม่ได้ทิ้งการเรียน จริงๆการทำกิจกรรมได้เจอคนมากๆมันสนุกนะ เพราะการทำกิจกรรมเราจะได้เจอคนที่เก่งๆแต่ละด้าน ตัวเราก็มีความเก่งบางด้านแหละ เราก็เอาด้านเก่งของเราไปแลกกับคนที่เก่งในด้านที่เราด้อย แบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้กัน จนทำให้ผมเรียนได้เกรดสูงกว่าที่ผมคิดไว้ ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 โดยที่ตลอด 4 ปีของการเรียนไม่เคยบอกพ่อแม่เลยว่าแต่ละเทอมผลการเรียนเป็นไงบ้าง โดยให้ท่านรู้เพียงว่าเราทำอะไรบ้าง เป็นอยู่ยังไง ทำตัวเพื่อสังคมมากน้อยแค่ไหมเพราะท่านอยากรู้แค่นั้น พอวันเข้ารับพระราชทานปริญญาถึงได้บอกท่าน  



ทักษะที่ได้รับระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  นำไปปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง
  จากรูปแบบชีวิตและมุมมองของการเป็นเด็กกิจกรรม(แบบกลางๆไม่ได้เคร่งมาก) ก็ทำให้รู้สึกชอบการแบ่งปัน ยิ่งทำให้อยากเป็นครูมากขึ้น ไปทำกิจกรรมที่ไหนก็ชอบที่จะเก็บข้อมูล เก็บภาพ เก็บวิดีโอในแบบที่พอเก็บได้มาทำสื่อ ซึ่งยุคนั้นอะไรๆก็ยังเป็นอนาล็อคอยู่ พอได้มาเรียนวิชาหนึ่งตอน ปี 4 ที่ได้จับกล้องวิดีโอ กล้องภาพนิ่ง ชีวิตก็เปลี่ยนไปอีกขั้น คือเริ่มหลงใหลกับการถ่ายภาพตั้งแต่ตอนนั้นมา พอเรียนจบก็ได้มีโอกาสมาทำงานที่ ศูนย์พัฒนาทรัพยากรการศึกษา (ARDC) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ซึ่งตอนนี้ก็รวมอยู่ในฝ่ายประชาสัมพันธ์) โดยการทำงานที่นี่ได้ฝึกการใช้งานกล้องถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอเยอะมากๆ ทำให้เกิดความชอบและหลงใหลด้านนี้เพิ่มขึ้น


    แต่ด้วยยังไม่ทิ้งความฝันที่อยากเป็นครูเลยขอลาออกไปเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เรียนไปได้ 2 ปีชีวิตก็เปลี่ยนครั้งใหญ่อีกรอบ คือสอบบรรจุข้าราชการ ก.พ. ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ โดยที่ไม่ได้มีความถนัดในตำแหน่งทางข้าราชการที่สอบได้เท่าไหร่เลย แต่ก็รับราชการอยู่ที่นี่ถึง 6 ปี โดยชอบที่สุดของของการทำงานที่นี่น่าจะเป็นเรื่องการลงพื้นที่ไปช่วยผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถส่งขายในระดับต่างๆ จากนั้นก็ได้ย้ายไปทำงานที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อีก 5 ปี  ซึ่งในระหว่างที่รับราชการก็ทำงานถ่ายภาพไปด้วย ทั้งรับถ่ายงานพิธีและงานถ่ายสินค้า และ เริ่มรู้จักอาชีพใหม่ของเพื่อนที่รับราชการด้วยกันทำอยู่แล้วไม่กี่ปีเขาก็ลาออกไปทำงานด้านนี้เต็มตัว 



        เลยลองศึกษาอยู่ปีกว่าๆ นั่นคือ การถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอ ภาพวาดส่งขายออนไลน์ หรือ Photo stock และก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการชอบถ่ายภาพในแบบนี้มากขึ้น เพราะมันต่างจากการไปรับถ่ายงานของลูกค้าที่เราถ่ายดีไม่ดีเขาก็บ่นว่าเราได้ แต่งาน Photo Stock เราไม่ได้เจอลูกค้า เรามีหน้าที่เพียงส่งภาพเข้าระบบ มีลูกค้าจากทั่วโลกที่มาชื้อ เค้าชอบเค้าก็ชื้อไป ไม่ชอบเค้าก็แค่เลื่อนผ่านไปหาภาพใหม่ ทำงานที่ไหนก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ต คนขายภาพออนไลน์น่าจะสนุกในแบบคล้ายๆกันคือได้ตื่นมาแล้วหยิบมือถือมาเปิด App ดูว่าเช้านี้มียอดขายเท่าไหร่ ภาพไหนขายได้บ้าง และประเทศไหนชื้อไป  
  จากการทำงานด้าน Photo Stock มาระยะหนึ่งก็เริ่มเห็นมุมมองว่างานด้านนี้น่าจะสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเราได้จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตครั้งใหญ่ขึ้นมาอีก (รู้สึกว่าชีวิตจะชอบอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ 55) โดยในปี 2562 ตัดสินใจลาออกจากราชการที่กระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี กลับมาอยู่กับครอบครัวที่มหาสารคาม ชีวิตก็สนุกดีลาออกปุ๊บไม่นานก็โควิตระบาทปั๊บเลย เมื่อทั่วโลกต้องหยุดงาน ภาพที่เคยขายได้ก็เหมือนต้องพักงานไประยะหนึ่ง แต่ก็ค่อยๆพาอาชีพนี้ผ่านมาจนได้ตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นในชื่อบริษัท ดิจิทัล อาร์ท ริช โปรดักชั่น จำกัด เพื่อดำเนินงานด้านการผลิตสื่อดิจิทัล การทำงานด้านโปรดักชั่น และงานด้านการสอนให้ครอบคลุมและเป็นระบบยิ่งขึ้น 



เล่าให้เราฟังกับผลงานการถ่ายภาพปลากัด  “ช่างภาพปลากัด”
  ด้วยรักการถ่ายภาพและส่งภาพขายออนไลน์มาสักระยะ ได้เห็นมือถือรุ่นหนึ่งที่มีภาพปลากัดลอยบนหน้าจอ และออกสื่อโฆษณาต่างๆ จึงเกิดความหลงใหลว่าทำไมปลากัดบ้านเราถึงสวยขนาดนี้ (เพราะตอนเด็กๆที่ไปหาจับปลากัดตามทุ่งนามันคนละแบบเลย) พอไปศึกษาข้อมูลก็ได้ทราบว่าคนที่ถ่ายภาพปลากัดให้มือถือค่ายนั้นคือคนไทย ใช้ปลากัดไทย และถ่ายที่เมืองไทย ก็เลยติดตามหาความรู้วิธีการถ่ายจากช่างภาพคนดังกล่าวที่เค้าออกรายการทีวีและบนสื่อออนไลน์ต่างๆ แล้วเอาวิธีการมาลองฝึกถ่าย พร้อมทั้งไปคงคอร์สศึกษากับคนที่ชอบถ่ายปลากัดระดับประเทศคนอื่นๆเพื่อฝึกทักษะให้สามารถถ่ายภาพปลากัดได้ และต้องสวยพอจะเอาไปสร้างรายได้ในช่องทางต่างๆได้ด้วย จากการฝึกฝนอยู่ 2 ปีพร้อมกับส่งภาพปลากัดขายไปด้วยก็เริ่มมีมุมมองและทักษะเป็นของตัวเอง ผลงานเริ่มเป็นที่ประจักษ์ก็มีคนมาขอให้สอนถ่ายปลากัด เลยเป็นจุดเริ่มต้นในงานที่ชอบคือการแบ่งปันความรู้เพราะอยากเป็นครูอยู่แล้ว เลยเปิดสอนให้คนที่สนใจอยากถ่ายภาพปลากัดได้แวะมาเรียนฟรีอยู่เรื่อยๆ ยิ่งสอนยิ่งได้ทักษะ ยิ่งได้เห็นปัญหาจากการสอน และได้วิธีใหม่ๆมาพัฒนางาน



จนได้ลองเอาภาพถ่ายของตัวเองมาทำเป็นสินค้าขายโดยเริ่มจากเข้ากรอบขาย ไปจนถึงพิมพ์ลงสินค้าต่างๆเพื่อจำหน่าย ซึ่งร่มและของชำร่วยลายปลากัดของคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็เป็นภาพถ่ายปลากัดของผมที่เป็นอีกงานที่ภูมิใจมากๆ ทั้งนี้ยังได้รับโอกาสดีๆที่ได้ไปบรรยายเรื่อง การถ่ายภาพปลากัด ในด้านการเปลี่ยนภาพถ่ายให้กลายเป็นเงิน ในรายการเพลินศิลป์ร่วมสมัย ณ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (ราชดำเนิน) กระทรวงวัฒนธรรม และได้มีโอกาสที่ภูมิใจมากๆอีกเรื่องคือ ได้ไปร่วมแสดงผลงานศิลปะภาพถ่ายและสินค้าจากภาพถ่ายปลากัดไทย ในงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT GRAND EXPOSITION) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และ พาร์ค พารากอน ชั้น M ห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก จากที่เพื่อนๆช่างภาพรู้จักกันว่าเป็นช่างภาพคนหนึ่ง ก็ได้อีกชื่อคือ ช่างภาพปลากัด และน่าจะเป็นช่างภาพปลากัดคนเดียวในจังหวัดมหาสารคามที่ยังคงชอบและถ่ายภาพด้านนี้อยู่



ความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  “มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ถือเป็นสถานที่เปลี่ยนชีวิตผมอย่างมากดังที่ได้กล่าวไป ผมได้อะไรต่างๆมากมายทั้งความรู้ สังคม โอกาสที่ดี เพื่อนที่ดี และครอบครัวที่ดี ผมมองว่าสถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างให้ชีวิต ทุกครั้งที่ได้รับเชิญไปบรรยายในกิจกรรมต่างๆของ มมส. จะรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากๆที่ความรู้ของผมจะพอเป็นประโยชน์กับน้องๆ บนความชอบในการแบ่งปันและอยากเป็นครูมาตลอดแต่รูปแบบชีวิตที่ไม่ได้มีโอกาสให้สามารถไปทำงานด้านนั้นเต็มตัวได้ ทุกวันนี้เลยทำได้เพียงแบ่งปันความรู้ที่มีให้คนที่สนใจและสามารถเอาไปต่อยอดได้ นำไปพัฒนางานตัวเอง ซึ่งก็เปิดสอนฟรีที่บริษัททุกเดือน 



ข้อคิดดีๆ ในการใช้ชีวิต
    “ทุกคนมีคุณค่ามากเพียงพอที่จะเดินไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและแบ่งปันสิ่งที่มีค่านั้นเพื่อคนอื่นให้ได้มากที่สุด” เราควรหาสิ่งที่ชอบและหลงใหลให้ได้ ยิ่งหาได้เร็วที่สุดเท่าไหร่ยิ่งดีกับชีวิตเท่านั้น เราจะได้ไม่เสียเวลาเพื่อตามหาและจะได้ทำงานที่สนุกเร็วขึ้น จะได้สร้างความเป็นตัวเราให้คนอื่นได้คัดลอกไปทำตามได้ง่ายขึ้น มีเป้าหมายที่ชัดเจนในความฝันของเรา เพราะมันยิ่งใหญ่กว่าที่จะมานั่งฟังคำพูดของใคร



ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ  อยากให้ฝากถึงน้องที่ๆ กำลังเรียน และกำลังตัดสินใจที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  ช่วงที่เรียนอยู่ให้หาความชอบของตัวเองให้เจอ สร้างความฝันเอาไว้สัก 1-2 เรื่องแล้วลองทำดูว่ามีโอกาสที่ความสามารถเราจะไปถึงฝันนั้นได้ไหม ถ้าไปได้ไปด้วยวิธีการไหน มันไม่มีใครที่ได้ทำงานในแบบที่ตัวเองตั้งใจเสมอไป หลายคนจบไปก็ทำงานต่างสาขาวิชาชีพก็เยอะ อยากให้กอบโกยความเป็นนิสิตที่ใช้ชีวิตยาวนานหลายปีในที่นี่ให้มากที่สุด เราต้องมีความรู้ที่จำเป็น เราต้องมีเพื่อนที่ดีที่จำเป็น เราต้องมีสภาพจิตใจ ความสำนึกสาธารณะที่เพียงพอ เรา มมส.สอนให้เราพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน และในมุมมองที่ไม่ดีเท่าไหร่เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่ามันสำคัญมากๆคือ ไม่อยากให้น้องๆตั้งใจเรียนทุกวิชาจนเกินไป คือไม่ต้องเก่งทุกวิชาก็ได้ แต่ควรมีวิชาที่ชอบและถนัดสัก 1-2 วิชาหลักๆที่คิดว่าจะเอาไปต่อยอดเลี้ยงชีพได้ก็พอ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงของตลาดงาน เค้าไม่ได้ต้องการคนที่เก่งทุกวิชาเลย แต่เค้าต้องการคนที่มีทักษะของตำแหน่งงานนั้นๆมาช่วยพัฒนางานให้ดีขึ้นมากกว่า แต่ทั้งนี้ในวิชาอื่นๆก็ให้รักษาระดับให้มันกลางๆไว้ แล้วเอาเวลาที่เหลือไปทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิตและสังคมในอนาคตต่อไป

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts