“เรียนสนุกมีสาระ นำความรู้กลับไปใช้ได้จริง” คือหัวใจสำคัญของการออกแบบการจัดการเรียนการสอนของ วิทยากรอารมณ์ดี กับฉายา #จารย์แจ๊คสายฮา หรือ สถิตย์ ผลทิพย์ ผู้ได้รับรางวัล ศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2566 ด้านความสำเร็จในอาชีพ หน้าที่การงาน และรางวัลช่อราชพฤกษ์ ประเภทศิษย์เก่าดีเด่น กลุ่มผู้นำนิสิต ด้านการสื่อสารสร้างสรรค์ ประจำปี 2562
แนะนำตัว
สถิตย์ ผลทิพย์ ศิษย์เก่า สาขาการสื่อสารมวลชน (รุ่น 2) คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รุ่นมฤคมาศ 7 ครับ
การทำงานและอาชีพ
- ผู้อำนวยศูนย์การเรียนรู้เอ็นวาซท
- กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็นวาซท จำกัด
- กรรมการสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการพูดและบุคลิกภาพ สโมสรฝึกการพูดแห่งลานนาไทย เชียงใหม่
- กรรมการมูลนิธิสันมหาพน เชียงใหม่
- นายกสโมสรฝึกการพูดแห่งลานนาไทย เชียงใหม่ สมัยที่ 42
- ที่ปรึกษาองค์กรภาครัฐและเอกชน
เล่าถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับความทรงจำ
ผมก้าวเข้าสู่รั้วเหลือง-เทา ครั้งแรกปี พ.ศ. 2544 รหัสนิสิต 4410110323 เป็นรุ่นที่ 2 ของสาขาการสื่อสารมวลชล (ในขณะนั้น) และเป็นรุ่นแรกของ โครงจัดตั้งคณะวิทยาการสารสนเทศ (ในขณะนั้น) เรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกของสาขาและคณะฯ ก็ว่าได้ ภาพแรกที่ผมก้าวย่างสู่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ การต้อนรับจากรุ่นพี่ที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร (บขส.) จังหวัดมหาสารคาม กับกิจกรรมรับน้องรถบัส คือความมึนงงที่เด็กช่างเทคนิคอย่างผมไม่เคยสัมผัสและพบเห็นมาก่อน แต่ก็อบอุ่น และรู้สึกดีมากๆ ที่มีรุ่นพี่มารอรับและช่วยเหลือเราในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึง ด้วยการดูแลการเดินทาง พี่พัก ที่กิน และนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของผมกับคำว่า นิสิต นักกิจกรรม
ผมทำกิจกรรมนิสิตตั้งแต่ปี 1 กับการรับเลือกตั้งให้เป็นรองประธานรุ่นมฤคมาศ 7 และร่วมก่อตั้งชมรม รุ่นสัมพันธ์ ในปัจจุบัน การเป็นคณะกรรมการประชุมเชียร์ และที่ภาคภูมิใจในทำกิจกรรมคือการได้รับโอกาสและรับเลือกตั้งให้เป็น นายกองค์การนิสิต ปีบริหาร 2547 วันนี้ผมพูดได้เต็มปากและภาคภูมิว่า เพราะกิจกรรมในรั้ว มมส. จึงมีผมในวันนี้ ที่ถูกบ่มเพาะและสั่งสมประการณ์ ทักษะชีวิต การอยู่ในสังคมจากการทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ผู้ร่วมกิจกรรม คณะทำงาน คณะกรรม และการเป็นผู้นำนิสิต เพราะนั้นคือภูมิคุ้มกันและวัคซีนของการดำเนินชีวิตที่ไม่มีการเรียนการสอนในห้องเรียน แต่ต้องบ่มเพาะ ฝึกฝน นำมาสู่การประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในทุกช่วงจังหวะชีวิต กับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยผมเป็นรุ่นบุกเบิกของสาขาวิชาและรุ่นแรกๆ ของคณะ ภาพหนึ่งที่ไม่มีวันลืม คือ การจัดการเรียนการสอนแบบช่วยกันแบก ช่วยกันหาม ช่วยกันหา ช่วยกันมาเรียน ช่วยกันมาสอน ระหว่างนิสิต กับ อาจารย์ผู้สอน ในยุคนั้นนิสิตและอาจารย์จึงมีความสนิทสนม ใกล้ชิด เสมือนเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องมากกว่าคำว่า ครู กับ ศิษย์ ส่งผลให้นิสิตมีความผูกพันธ์ กล้าพูดกล้าคุย กับอาจารย์ อาจจะด้วยนิสิตก็ใหม่ อาจารย์ก็ใหม่ ก็ว่าได้ การเรียนรู้ในยุคนั้นของผมจึงเป็นทั้งเรียนรู้หลักวิชาการสู่วิชาชีพอย่างเข้มข้นแบบองค์รวม คือ เป็นได้ทุกอย่าง ทำให้ได้ทุกด้าน ของศาสตร์การสื่อสารมวลชน และผสมผสานกับทักษะชีวิต การปรับตัวอยู่กับสังคม จากกิจกรรมต่างๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย จนกลายมาเป็น #จารย์แจ๊คสายฮา ในปัจจุบัน
ปริศนาสถานที่ มมส. ที่นิสิตตามหา ในความทรงจำ
ในร่มเงาแห่งจามจุรี เหลืองเทาถิ่นนี้ร่มเย็น หรือ ห้วยคะคางหลั่งรินเรื่อยไหล หรือจะเป็น แก่ง เลิงจานธารใสเย็น ลงเรือเล่นล้อคลื่นนารื่นรมย์ นี้เป็นเพียงบางสถานที่ในเนื้อเพลงต่างๆ ของ มมส. ที่รุ่นแล้วรุ่นเล่า ต่างตามหาว่าสถานที่เหล่านั้นอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นต้นจามจุรี รวมไปถึง ห้วยคะคาง ที่ฟังจากเพลงแล้วนึกภาพตามน่าจะสวยงามเหลือเกิน ยิ่งจินตนาการถึงแก่งเลิงจาน ธารใสเย็น และลงเล่นคลื่นได้ด้วย น่าจะสนุกน่าดู
สถานที่จากบทเพลง นิสิตบางคนอาจได้เจอ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่เจอ ผมเชื่อเหลือเกินว่า จากบทเพลงสะท้อนให้เห็นถึงร่มเงาแห่งความอบอุ่นจากการดูแลเอาใจใส่ของรุ่นพี่ เพื่อน น้อง รวมไปถึงครู อาจารย์ ในรั้ว มมส. เช่นเดียวกับร่มจามจุรีต้นใหญ่ในเพลง รวมไปถึงสถานที่อื่นๆ ที่ผมคิดว่าเป็นการยกสถานที่มาเพื่อเปรียบเปรยให้เห็นถึงวิถีชีวิตของนิสิต คณาจารย์ ภายใต้ร่วมเงาของความรัก ความอบอุ่น การเอาใจใส่ดูแลกันและกัน เรียนอย่างเต็มที่ด้านวิชาการ สนุกสนานกับการใช้ชีวิตด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เหมือนดั่งได้ลงเรือเล่นล้อคลื่นน่ารื่นรมย์ที่แก่งเลิงจานนั้นเอง ครับ
จากนิสิตในรั้วมหาวิทยาลัย สู่ นักวิชาชีพ ในรั้วสังคมแห่งความเป็นจริง
การเรียนในรั้ว มมส. ผมถือว่าโชคดีที่เป็นนิสิตรุ่นแรกๆ ของสาขาวิชา ที่ได้รับการเรียนรู้ ฝึกฝนด้านวิชาการสื่อสารมวลชน ที่สอนให้เราเป็นทุกอย่างให้ได้ทำทุกสิ่งให้เป็น และโชคดีชั้นที่สอง คือ การเป็นนิสิตนักกิจกรรม ความอดทน การปรับตัวเข้ากับสังคม ภาวะผู้นำ ผู้ตามที่ดีจากการทำกิจกรรมในวันนั้นส่งผลมาถึงทุกวันนี้ในโลกสังคมแห่งความเป็นจริงที่สอนให้เราอยู่ได้ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการเป็นนักวางแผน หากมีปัญหาก็เป็นนักแก้ไขปัญหา ผนวกกับความรู้ ทักษะด้านวิชาการ ทำให้ผมอยู่ในโลกของความจริงที่เปลี่ยนแปลงทุกช่วงเวลาได้อย่างเข้มแข็ง