การเรียนรู้และการปรับตัว คือหัวใจสำคัญของการเดินทางในอาชีพที่เปี่ยมไปด้วยความหลากหลายและความท้าทายของ ภสัชกรหญิงทิพาพรรณ ภูผิวคำ หรือ “อีฟ”  ศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ สาขาบริบาลเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งเธอได้พิสูจน์ให้เห็นถึงบทบาทและศักยภาพของการเป็นเภสัชกรที่ไม่เพียงดูแลผู้ป่วย แต่ยังมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน  สาร MSU ONLINE  จะพาคุณไปสำรวจมุมมอง ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจที่เติมเต็มเส้นทางแห่งความสำเร็จของเธอ พร้อมข้อคิดดีๆ สำหรับน้องๆ รุ่นหลังที่กำลังเตรียมก้าวสู่โลกแห่งการทำงาน ผ่านบทสัมภาษณ์นี้  มาติดตามกันค่ะ



ก้าวแรกของการเป็นเภสัชกร
        ดิฉันจบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามในปี พ.ศ. 2557 และเริ่มต้นการทำงานที่โรงพยาบาลท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนจะย้ายกลับภูมิลำเนามาทำงานที่โรงพยาบาลยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเภสัชกร ชำนาญการ ที่ฝ่ายเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์




        ช่วงเริ่มต้นการทำงานว่าเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและความท้าทาย การเลือกสถานที่ทำงานในสมัยนั้นต้องเลือก
โรงพยาบาลที่เราอยากไป และไปเลือกที่กระทรวง ที่กรุงทพ โดยอาศัยการจับลูกปิงปอง  เพื่อเปรียบเทียบคะแนนกับเพื่อนที่เลือกที่เดียวกัน  ถ้าใครได้คะแนนเลข 2 หลักเยอะกว่าคนนั้นได้ไป ซึ่งดิฉันโชคดีได้คะแนนมากกว่า จึงทำให้ได้ทำงานในโรงพยาบาลที่ต้องการ  


เภสัชกรในชุมชน: บทบาทที่ไม่หยุดนิ่ง
        เมื่อเริ่มทำงานได้รับบทบาทที่หลากหลาย เภสัชกรผู้ป่วยนอก เภสัชกรผู้ป่วยใน บริบาลเภสัชกรรมบนหอผู้ป่วย รวมถึงการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน  โดยจะขอเล่าถึงบทบาท เภสัชกรชุมชน ที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย เภสัชกรไม่ได้มีหน้าที่แค่จ่ายยาในโรงพยาบาลเท่านั้น  ดิฉันได้รับมอบหมายหน้าที่ดูแลเรื่องการจัดยาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน (รพ.สต.) 4 แห่ง และยังรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการตรวจสอบมาตรฐานโรงงานน้ำดื่ม โรงน้ำแข็ง ร้านขายยา คลินิก และสถานพยาบาลต่างๆ ในชุมชน





        “การทำงานในชุมชนต้องใช้ศาสตร์และศิลป์” โดยการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องเข้าใจพื้นเพวัฒนธรรมของชุมชนและสร้างสมดุลระหว่างการรักษามาตรฐานกับการทำงานร่วมกับคนหลากหลายรูปแบบ “อ่อนให้ได้ แข็งให้เป็น”คือหลักที่ยึดมั่นเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพค่ะ



บทเรียนจากรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม “พี่สอนน้อง ส่งต่อความรู้ และช่วยเหลือกัน”
        มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นที่บ่มเพาะให้สามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ในปัจจุบัน ตั้งแต่ที่เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคามแห่งนี้ ในปี พ.ศ.2551 กิจกรรมแรกที่สานสัมพันธ์พี่น้องเหลือง-เทา นั่นคือกิจกรรมรับน้องค่ะ
ซึ่งตอนแรกก็ไม่รู้จักเลยว่าการรับน้องคืออะไร เข้ากิจกรรมไปเพื่ออะไร ได้อะไรจากการทำกิจกรรม แต่พอเราได้เข้าร่วม
แล้ว ทำให้เราได้รู้จักพี่ รู้จักน้อง เกิดสัมพันธ์ที่ดีช่วยเหลือกันและกันระหว่างเรียน  เกิดเครือข่ายในการทำงานกับเพื่อนคณะอื่นๆ และกิจกรรมรับน้องของคณะ เกิดสายรหัส พี่สอนน้อง ส่งต่อความรู้ การช่วยเหลือกันและกัน ความอบอุ่นในรั้วเหลือง-เทา ทำให้รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองที่หล่อหลอมทั้งวิชาการและวิชาชีวิตค่ะ




        พอมาทำงาน เวลามีใครถามว่าเราจบจากที่ไหน ดิฉันภูมิใจมากที่จะตอบว่า ดิฉันจบมาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะเมื่อทุกคนได้ยินชื่อนี้แล้ว ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตนิสิตที่มีความรู้ ความสามารถ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้นได้ในชีวิตการทำงานจริง  ซึ่งดิฉันภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นหนึ่งในผลผลิตของสถาบันแห่งนี้ค่ะ



ฝากถึงนิสิตรุ่นใหม่
        ขอส่งกำลังใจถึงน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่  ขอให้เรียนอย่างมีความสุข ใช้ชีวิตให้สนุก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด  ให้ความสำคัญในการปรับสมดุลชีวิต (life balance)  และการพักผ่อนเพื่อเติมเต็มความสุข  อย่าลืมแบ่งเวลาทำสิ่งที่เราชอบ และหาความสุขในแบบของตัวเอง  เมื่อเรามีความสุขแล้ว เราก็จะพร้อมรับความรู้และเผชิญกับโลกแห่งการทำงานด้วยคุณภาพค่ะ :)






Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts