มหาวิทยาลัยมหาสารคามขอแสดงความยินดีกับ คุณมนตรี อุดมพงษ์ ศิษย์เก่าสาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื่องในโอกาสได้รับคัดเลือกเข้ารับ “รางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ” ประจำปี 2566 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาศิษย์เก่าดีเด่น
        มนตรี อุดมพงษ์ เป็นที่รู้จักจากรายการข่าว 3 มิติ โดยมีความเชี่ยวชาญเรื่องความไม่สงบในเขตชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และยังได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักข่าวที่มีเอกลักษณ์และเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนอีกด้วย วันนี้เขาจะมาแสดงความรู้สึกต่อมหาวิทยาลัยและบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ จากความความฝัน สู่เส้นทางของนักข่าวของเขา ผ่านสาร MSU ONLINE  มาติดตามไปพร้อมๆ กันค่ะ




       นายมนตรี อุดมพงษ์  ศิษย์เก่าสาขาภาษาไทย  ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
       ผมขอขอบพระคุณสภามหาวิทยาลัย ที่มีมติมอบรางวัลพระราชทานพระธาตุนาดูนทองคำ ประเภทศิษย์เก่า  ซึ่งอันที่จริงรางวัลที่ผมได้รับนี้ ล้วนแต่เป็นผลผลิตจากการลงทุน ลงแรง ของครู อาจารย์และสถาบันแห่งนี้ที่พร่ำสอนด้วยการทุ่มแรงกายแรงใจครับ
        ผมเป็นคนหนึ่งที่ผูกพันธ์กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่น้อยกว่าไปกว่าภูมิลำเนาบ้านเกิดของตัวเองด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะการเรียนมหาวิทยาลัย เป็นวัยของการอยากเรียนรู้ ทั้งเรียนรู้ในตำรา วิชาการ เรียนรู้การอยู่กับสังคมผ่านกิจกรรมต่างๆเช่นชมรม สโมสร หรือองค์การนิสิต รวมถึงเรียนรู้ตัวเองว่ามีศักยภาพ หรือมีข้อจำกัดด้านใดบ้าง  ถ้าจะต่อเติมเสริมศักยภาพ หรือจะแก้ไขข้อกำจัดนั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง ก็ได้เรียนรู้ระหว่างที่ยังเรียนในมหาวิทยาลัยนี่เอง  
        อีกอย่างการเรียนรู้ในระหว่างที่เรียน มักเป็นช่วงที่เรียนรู้ทั้งถูกทางและผิดทาง เมื่อถูกทางก็ได้ความมั่นใจ เมื่อผิดทางก็ได้โอกาสแก้ไข ซึ่งจะแตกต่างกันพอสมควรกับโลกของการทำงาน ที่แทบจะไม่เปิดโอกาสให้เกิดความผิดพลาด
        ก้าวสำคัญของการเรียนรู้ คือ  การมีความสุขในการเรียน ซึ่งการจะมีความสุขในการเรียนได้ อย่างน้อยก็ควรจะรู้เป้าหมาย
กว้างๆ ของการเรียนรู้  





        ด้วยความที่ผมเป็นนักข่าว จึงมีโอกาสสัมภาษณ์คนหลากหลายอาชีพที่ประสบความสำเร็จในวิถีทางของตัวเอง และพบว่าคนเหล่านี้ มีเคล็ดลับสำคัญที่คล้ายๆกัน ที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ ความฝัน เป้าหมาย การลงมือทำและวินัยครับ

        ความฝัน มีหลากหลายขนาด และขนาดของความฝันก็มีผลต่อแรงผลักดันนั้นด้วย บางคนฝันว่าจะมีเรียนให้จบๆไป ซึ่งก็คงทำได้ไม่ยากนัก หรือบางคนมีความฝันว่า จะทำตามความฝันของคนอื่นให้สำเร็จ เช่นคว้าปริญญาให้พ่อ แม่ หรือครอบครัว ซึ่งก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด  
        แต่หลายครั้งที่ขนาดความฝันเล็กหรือใกล้ หรือง่ายเกินไปจนแทบจะกลายเป็นชีวิตประจำวัน เมื่อทำตามความฝันนั้นสำเร็จ ก็แทบจะหมดความกระตือรือร้น บางคนถึงกับบอกว่าชีวิตหมดความหมาย หมดความท้าทาย เพราะไม่มีความฝันหรือเป้าหมายอื่นอีกแล้ว
        มหัศจรรย์ของความฝันคือ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าศักยภาพที่เรามีอยู่ในขณะนั้น เพื่อให้เราฟันฝ่าไปสู่ความฝันนั้น และแม้ว่ามันจะไปไม่ถึงฝัน แต่มันก็ไปไกลกว่าจุดที่เคยอยู่  และด้วยเหตุนี้ เมื่อได้ทุ่มแรงกายแรงใจ ไปแล้ว แต่ก็ยังไปไม่ถึงความฝัน ก็ไม่ใช่เรื่องน่าผิดหวังอะไร เพราะความฝันมันควรจะตั้งไว้ให้ไกลกว่าศักยภาพที่มีอยู่ในเวลานั้นเสมอ



        หากจะเล่าเรื่องของตัวเอง ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ฝันว่า "อยากเป็นนักข่าว"  เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่ได้รู้เห็นในสิ่งที่หลากหลาย ได้ไปในหลายๆที่ เหมือนกับได้ท่องเที่ยวไปตัว

        ผมตั้งคำถามหลายอย่างตามมาว่า "ผมจะเป็นนักข่าวได้หรือไม่ " หรือ "ถ้าจะเป็นนักข่าว"ต้องทำอย่างไร  เพื่อให้ได้คำตอบนี้ผมจึงแสวงหาจากหลายทาง ทั้งควานหาในห้องสมุด เดินเข้าร้านขายหนังสือ หรือถามครูอาจารย์ จนได้คำตอบว่า "เราสามารถเป็นนักข่าวได้ แม้ว่าจะเรียนไม่ตรงสาย แต่สามารถฝึกฝนเรียนรู้ให้มีทักษะเท่าทันได้"

        เมื่อได้คำตอบนั้น ผมจึงเริ่มหาอ่านหนังสือว่า "หน้าที่ของนักข่าวคือทำอย่างไร อ่านหนังสือแบบไหน  มีวิถีชีวิตยังไง " จากนั้นผมก็เริ่มทำตาม เช่น อ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้น  อ่านหนังสือวิเคราะห์รายสัปดาห์มากขึ้น ฟังวิทยุ ที่เป็นรายการวิเคราะห์ข่าวมากขึ้น และดูรายการโทรทัศน์ที่เป็นรายการข่าวมากขึ้น

 


        เมื่อผมมีฐานข้อมูลมากพอ ผมจึงเริ่มเจาะจงความฝันของผมลงไปว่า "ผมไม่ได้อยากเป็นนักข่าวทั่วไป แต่ผมต้องการเป็นนักข่าวโทรทัศน์"
        คราวนี้ผมเริ่มเจาะจงหาคำตอบไปที่ประเด็นว่า "นักข่าวโทรทัศน์คืออะไร ทำงานอย่างไร มีทักษะอย่างไร เป็นต้น "  เมื่อได้แนวทางผมก็เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเขียนข่าวโทรทัศน์ การเขียนสารคดีทางโทรทัศน์ และการอ่านออกเสียง เป็นต้น 

        การตั้งความฝันและมีจุดเป้าหมายไปทีละนิด จากนั้นก็เดินหน้าหาเส้นทางตามความฝันอย่างมีวินัย ไม่ทอดทิ้งความตั้งใจนั้น ทำให้เราไปถึงความฝันที่เราตั้งไว้ได้



        อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงวันนี้ผมกลับรู้สึกเสียดาย ที่ขณะนั้นผมตั้งความฝันของผมไว้ต่ำเกินไป  ผมน่าจะตั้งความฝันให้ยิ่งใหญ่กว่านั้น เช่นการเป็นผู้ก่อตั้งช่องโทรทัศน์เผยแพร่ข่าว หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์เป็นต้น
        เหตุผลที่ผมรู้สึกเสียดาย ก็เพราะว่า ปัจจุบันการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ทำได้ไม่ยาก ไม่ต้องลงทุนมาก นั่นคือช่องที่เผยแพร่ทางออนไลน์ต่างๆ ที่มีผู้ชมผุ้ติดตามไม่น้อยไปกว่าองค์สื่ออื่นๆ 
        ซึ่งการจะเป็นเจ้าของช่องโทรทัศน์ได้ในขณะที่ผมตั้งความฝันไว้นั้น แทบไม่มีความเป็นไปได้เลย แต่ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปที่จะเป็นเจ้าของช่องทีวี ที่มีคนติดตามมากมาย และสามารถนำเสนอข่าวสารที่เกิดประโยชน์ได้มาก

        ทั้งหมดนี้ คืออานุภาพของความฝันว่า  "ความฝันมันต้องยิ่งใหญ่กว่าสถานะที่เป็นอยู่ในขณะฝัน เพื่อผลักดันตัวเองไปสู่เป้าหมายนั้น และแม้ว่าท้ายที่สุดจะไปไม่ถึงปลายฝัน แต่การได้ก้าวออกมาไกลมากกว่าจุดที่เคยอยู่ ก็นับเป็นความสำเร็จได้เช่นกัน"

                                                                    



Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts