เล่าขาน “อาคารราชนครินทร์ ” 


    เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารราชนครินทร์ ในเขตพื้นที่ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 วงเงินก่อสร้าง 170,500,000  บาท ออกแบบโดย มศว ประสานมิตร บริษัทผู้รับจ้าง หจก. กำจรกิจก่อสร้าง อาคารราชนครินทร์ เป็นอาคารก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 7 ชั้น และภายหลังมีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกหนึ่งชั้นเป็น 8 ชั้น โดยมีการเสริมหลังคาสีแดง มีพื้นที่ใช้สอย 15,034 ตารางเมตร

ภาพถ่ายเมื่อปี 2539 ภาพกำลังก่อสร้างอาคารราชนครินทร์

    รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ คณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คนแรก ได้เล่าถึงความสำคัญอาคารราชนครินทร์ ว่า “ตึกRN”  หรือ อาคารราชนครินทร์ เป็นอาคารเรียนหลังแรกของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ดําเนินการสร้างบนพื้นที่ตั้งตําบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เดิมนั้นเป็นงบประมาณที่อนุมัติให้สร้าง ณ ตําบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม อยู่ในช่วงเป็น มศว มหาสารคาม ครั้นเมื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ ตอนนั้น โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ได้มีการดําเนินการก่อสร้างและสถาปนิกที่ออกแบบผังแม่บท ได้นำอาคารดังกล่าวมาตั้งในผังที่ออกแบบไว้ เพื่อเป็นอาคารเรียนรวม เมื่อสร้างเสร็จทางมหาวิทยาลัยได้มีมติให้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นคณะแรกที่ย้ายมาทำการเรียนการสอนในที่เขตพื้นที่ขามเรียง โดยใช้อาคารราชนครินทร์เป็นที่ทำการของคณะ ซึ่งตอนนั้นมี รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาคารราชนครินทร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานนาม “ราชนครินทร์” โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศวรมหาวิหาร ได้เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539


ภาพถ่ายเมื่อปี 2540 ภาพกำลังก่อสร้างอาคารราชนครินทร์

    รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ เล่าต่อว่าในช่วงแรกที่ทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ย้ายเข้ามาทางคณะได้มีการดำเนินการหลายอย่างเช่น ชั้นล่างของอาคารติดสระน้ำ ได้มีการจัดสรรให้ร้านอาหารเข้ามาเช่าประกอบการ เป็นร้านขายข้าวแกง เนื่องจากมหาวิทยาลัยยังไม่มีโรงอาหาร มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาภาษา อีกทั้งชั้นต่างๆของอาคารราชนครินทร์เป็นพื้นที่ของคณะที่ก่อตั้งใหม่หลายคณะที่ยังไม่พร้อมได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ  คณะศิลปกรรมศาสตร์ โครงการจัดตั้งคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบัณฑิตวิทยาลัย ก่อนที่จะทยอยย้ายออกไปหลังจากอาคารของแต่ละคณะแล้วเสร็จ 


ภาพถ่ายเมื่อปี 2540 ภาพกำลังก่อสร้างอาคารราชนครินทร์

    รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ ได้เล่าถึงความประทับใจว่า ในช่วงแรกๆหอพักนิสิตกำลังสร้างอยู่นั้น ได้มีการเหมารถขนส่งนิสิต จากเขตพื้นที่ในเมืองขึ้นรถตรงอาคาร 1 (หน้าศาลกระดิ่งต้นไทร) โดยขับผ่านเส้นทางหน้าเสริมไทยคอมเพค ออกไปบ้านทุ่งนาเรา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้รถรับเหมาขนส่งนิสิตทับเส้นทางสัมปทานของรถโดยสารสีเหลือง (รถสองแถวสีเหลือง) โดยได้มีการขนส่งนิสิตไปเรียนจนกระทั่งหอพักนิสิตสร้างเสร็จ ซึ่งนิสิตรุ่นแรกๆเขามีความประทับใจที่เขาเสียสละเพื่อมหาวิทยาลัยและได้รับประสบการณ์ตรงในการมาเรียน  ถึงไม่มีรถเขาก็พยายามนั่งรถสองแถวไปเรียน  อาคารราชนครินทร์นั้นคุ้มค่ากับการใช้งานมาก เป็นตึกที่สร้างจิตวิณญาณ มีเรื่องเล่าขาน อาคารราชนครินทร์นั้นมีลิฟต์อยู่สองตัว ให้บริการทั้งอาจารย์ บุคลากรและนิสิต วันละ 300 - 400 คน ต่อวัน ช่วงรอลิฟต์ก็เข้าแถวกันเป็นคิวยาว เป็นความทรงจำที่ประทับใจ บางคนไม่รอลิฟต์ก็เดินขึ้นถึงชั้น 7 โดยมีบันไดตรงกลางอาคารและด้านข้างทั้งสองฝั่งของอาคาร อาคารราชนครินทร์ได้สร้างบรรยากาศความเป็นอยู่แบบ มศว เมื่อมีกิจกรรมทั้งอาจารย์และนิสิตทุกคณะมารวมตัวกันที่อาคารราชนครินทร์แล้วร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน


     ภาพถ่ายเมื่อปี2546 

ปัจจุบันอาคารราชนครินทร์ หรือตึกRN ใช้เป็นอาคารเรียนรวมของนิสิตในรายวิชาศึกษาทั่วไป ชั้น 1 เป็นที่ทำการของบุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป และชั้น 4 เป็นที่ทำการของคณะนิติศาสตร์ 


ภาพปัจจุบันอาคารราชนครินทร์

 รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ

Author

ผู้เรียบเรียง : แสงเทียน วงษาเวียง
Email : sangthain.w@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน :

ภาพประกอบบทความ

  :   ภาพ : แสงเทียน วงษาเวียง/คณะนิติศาสตร์ ข้อมูลเพิ่มเติม : ผังแม่บท กองอาคารสถานที่

Related Posts