ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์มอบปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565วันนี้ (18 ธันวาคม 2566) เวลา 09.44 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมหาสารคาม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และผู้แทนนิสิต รอรับผู้แทนพระองค์ นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา แด่พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งท่านเป็นผู้ให้ความสำคัญ กับทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศ มีการพึ่งพิงธรรมชาติในการดำรงชีวิต การสร้างจิตสำนึกที่ดี และการมีส่วนร่วมของชุมชน และประชาชนที่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ผ่านกระบวนการทำความเข้าใจ เน้นให้ความรู้ “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้” ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมตามวิถีชีวิตและแนวทางการอนุรักษ์ การสร้างเครือข่ายนักอนุรักษ์ที่เข้มแข็งในการช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นตนเองที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์ผืนป่าให้เป็นไปได้อย่างยั่งยืน จากนั้นผู้แทนพระองค์เข้าห้องพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร มอบปริญญาบัตรแด่พระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 6 รูป และพระสงฆ์ผู้เข้ารับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประเภทผู้ทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย แก่ พระครูภาวนาสาธุกิจ (ชนะ อุตฺตมลาโภ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและกิจการสภา มอบหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวรายงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวเบิก ศาสตราจารย์แพทย์หญิง ชนิกา ตู้จินดา เข้ารับปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่นประจำปี ซึ่งถือเป็นบุคคล ที่สร้างคุณงามความดี ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ สมควรได้รับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำประเภทศิษย์เก่าดีเด่น ได้แก่ นายมนตรี อุดมพงษ์ ประเภทบุคคลดีเด่นระดับชาติ/นานาชาติ สาขาบำเพ็ญประโยชน์ ได้แก่ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ สาขาวิชาชีพ ได้แก่ นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ และสาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมได้แก่ นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีนโยบายส่งเสริมและเชิดชูเกียรตินักวิจัย ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือสังคมวิชาการทั่วไป ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานวิจัย และผู้ที่สมควรได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่นกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ พร้อมไธสง กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ อาจารย์ ดร.กฤษดา สิงหะ และกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แก่ อาจารย์ ดร.จตุรงค์ สมอ จากนั้นผู้แทนพระองค์ มอบทุนภูมิพล ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 33 คน และมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในภาคเช้าและภาคบ่าย จำนวนรวม 6,135 คน ประกอบด้วย ระดับปริญญาเอก 81 คน ปริญญาโท 192 คน และปริญญาตรี 5,862 คนในการนี้ ประธานองคมนตรี ให้โอวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565 ในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว ย่อมเป็นที่หวังของสังคมว่า จะต้องเป็นผู้มีความรู้ดี และมีความคิดดี ในเรื่องความรู้ดีนั้น เชื่อว่าทุกคนคงเข้าใจดีอยู่ และควรจะต้องมั่นใจด้วยว่าเป็นสิ่งที่มีพร้อมอยู่แล้ว เพราะได้ศึกษาเล่าเรียนมาจนได้รับปริญญาแล้วโดยทั่วกัน ข้าพเจ้าจึงขอกล่าวถึงเรื่องความคิดดี เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน ความคิดดีนั้น คือความคิดที่เป็นสาระ เที่ยงตรงเป็นกลาง และตั้งอยู่ในเหตุในผลตามเป็นจริง ผู้ที่มีความคิดดี ไม่ว่าจะคิดเรื่องใด สิ่งใด ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์ และสามารถนำความคิดไปใช้ให้บังเกิดผลดี ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมได้เสมอ ไม่มีอับจน ยิ่งประกอบกับความรู้ดีด้วยแล้ว ก็ยิ่งสามารถสร้างสรรค์จรรโลงความดี ความเจริญ ให้งอกงามขึ้นในสังคมและชาติบ้านเมืองได้อย่างมาก จึงขอให้บัณฑิตทุกคนหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ ให้เป็นผู้มีความคิดดี ควบคู่กับความรู้ดีในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกคน มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและกิจการงาน ทั้งขอให้ทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ มีความสุขสวัสดีทั่วกัน”มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีนิสิตรวมทั้งสิ้น 43,777 คน มีนิสิตต่างชาติ 1,097 คน จาก 19 ประเทศ ปัจจุบันมีหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น 205 หลักสูตร โดยจะเน้นการเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติและการฝึกประสบการณ์ตรงกับสถานประกอบการ การผลิตบัณฑิตร่วมกับสถานประกอบการภายใต้หลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับประเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นมหาวิทยาลัยที่ใกล้ชิดกับชุมชน มีการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่มุ่งบูรณาการให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาองค์ความรู้ในท้องถิ่นเพื่อยกระดับสู่สากล มียุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย โดยมุ่งผลิตบัณฑิตตรงกับความต้องการของสังคมโลก สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ ให้บริการวิชาการเพื่อตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอีสานให้มีความโดดเด่นระดับนานาชาติ และบริหารองค์กรเพื่อความเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะและในปีพุทธศักราช 2566 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถขับเคลื่อนและพัฒนามหาวิทยาลัยจนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยได้รับการจัดอันดับในระดับสากลต่าง ๆ อาทิ ได้รับการจัดอันดับ QS Asia University Rankings 2024 ที่มีความโดดเด่นในด้านการรับนิสิตแลกเปลี่ยน ,ติดอันดับโลกจาก THE: Times Higher Education World University Rankings 2024 โดยได้อันดับที่ 1501+ ร่วม ในระดับโลก และอันดับ 5 ร่วมระดับประเทศ และครองอันดับที่ 6 ร่วมระดับประเทศ จากการจัดอันดับ Times Higher Education Asia University Rankings 2023มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีต้นกำเนิดมาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา เปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2537 ถือกำเนิด เติบโต และพัฒนาอย่างมั่นคงและไม่หยุดยั้ง จนครบรอบ 55 ปี ในปีนี้ และเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน ให้มีความเข้มแข็งทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ตามวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย” และปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ “พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว” ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน ภาพ : อภิราม ทามแก้ว และ บุณฑริกา ภูผาหลวงข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง