หัวข้อข่าว : งานนิทรรศการเชิดชูเกียรติเนื่องในวาระอายุครบรอบ ๘๐ ปี ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ
เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดงานนิทรรศการเชิดชูเกียรติเนื่องในวาระอายุครบรอบ ๘๐ ปี ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงาน อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวรายงาน
ภายในงาน มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ และแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ที่ได้รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒
คำประกาศเกียรติคุณ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ศาสตราจารย์ชะลูด นิ่มเสมอ เกิดเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๗๒ ที่จังหวัดธนบุรี ได้รับปริญญาตรีศิลปะบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ (ด้านประติมากรรม) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร รับราชการครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ดีโพลมาจากสถาบันประณีตศิลป์ แห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้รับทุนไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี ประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะอันมีคุณค่า ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม และ ภาพพิมพ์ เป็นอาจารย์สอนวิชาวาดเส้น องค์ประกอบศิลป์ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ทัศนียวิทยา ทฤษฎีสี ฯลฯ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์
ซึ่งนอกจากงานสอน งานบริหารแล้ว ยังได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์และสื่อผสม ที่มีคุณค่าทางศิลปะไว้เป็นจำนวนมากจนได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดงทั้งในและต่างประเทศ จำนวน ๑๓ รางวัล ศาสตราจารย์ชลูด เป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะช่วงรอยต่อระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ของวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย ผลงานยุคแรก ๆ เป็นผลงานด้านจิตรกรรมที่นำเรื่องราวของคนชนบทมาเป็นเนื้อหาในการแสดงออกถึงความสัมพันธ์และความเอื้ออาทรต่อกันเป็นการสะท้อนวัฒนธรรมของคนไทยในรูปของงานศิลปะในชุดชาวนาไทย, สงกรานต์, ความบริสุทธิ์แห่งธรรมชาติ ระยะต่อมาศาสตราจารย์ชะลูด ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านประติมากรรมที่มีชื่อเสียงจำนวนมากที่พิเศษอันมีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์คือ งานประติมากรรมที่ติดตั้งภายนอกอาคาร นอกจากจะมีคุณค่าสูงในทางประติมากรรมที่มีความสัมพันธ์กับอาคารสถานที่แล้ว ยังทำให้เกิดบรรยากาศพิเศษที่งดงามรวมไปด้วย ประติมากรรมเหล่านี้ตั้งให้สาธารณชนได้ชื่นชมในที่สาธารณะ เช่น เงินพดด้วง หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย โลกุตระ ที่หน้าอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พระบรมโพธิสมภาร ที่หน้าอาคารมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ ซึ่งประติมากรรมดังกล่าวเป็นที่ยกย่องในความคิดและปรัชญาของผู้สร้างสรรค์จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
ในขณะรับราชการศาสตราจารย์ชะลูด ได้สร้างคุณูปการทางศิลปะแก่แผ่นดินไว้เป็นจำนวนมาก เป็นผู้บุกเบิกความรู้ทางวิชาการศิลปะให้แก่ประเทศไทย จนนับได้ว่าเป็นเสาหลักคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ศาสตราจารย์ชะลูดเป็นคณบดีของคณะจิตรกรรมที่สร้างลูกศิษย์ทางศิลปะที่มีคุณภาพมาเป็นจำนวนมาก ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙
ศาสตราจารย์ชะลูด นิ่มเสมอ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๑
ภาพ : อภิราม ทามแก้ว ข่าว : อภิราม ทามแก้ว / สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ วันที่ประกาศข่าว : 03 มี.ค. 2010 ที่มา : คณะศิลปกรรมศาสตร์ |