หัวข้อข่าว : นิสิต มมส คว้าแชมป์ระดับประเทศ การแข่งขันโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2563
นิสิต มมส คว้าแชมป์ระดับประเทศ การแข่งขันโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2563 (Research to Market R2M Thailand 2020)
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีกับ ทีม Leffort นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันทำแผนธุรกิจเพื่อนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ระดับประเทศ ประจำปี 2563 (Research to Market R2M Thailand 2020)
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมทั้งสิ้น 16 มหาวิทยาลัย (22 ทีม) ผลการแข่งขันมีทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัล ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Leffort มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากผลงานวิจัยเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืช เป็นผลงานของ ผศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม CheckMate จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จากผลงานวิจัย CheckMate แพลตฟอร์ม สำหรับตรวจจับการเป็นสัดในโคนม
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Syntonic จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จากผลงานวิจัย Stump Pressure Control (SPC)
รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล
1. ทีม โอม (Aum) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากผลงานวิจัย Kapillariasis ICT Kit ชุดทดสอบโรคท้องร่วงจากพยาธิ แคปิลลาเรียในคน
2. ทีม 3D Medical จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จากผลงานวิจัยหุ่นจำลองมาตรฐาน 3D Cancer Phantom
3. ทีม Salmon จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากผลงานวิจัย กรรมวิธีการสังเคราะห์ชั้นเคลือบอนุภาคซิลเวอร์นาโนบนพื้นผิวท่อหายใจ
สมาชิกทีม Leffort นิสิตที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน ประกอบด้วยสมาชิก ดังนี้
1. นางสาวกมลแก้ว ศรีนวล คณะการบัญชีและการจัดการ
2. นายปริญญา เลิศประเสริฐ คณะการบัญชีและการจัดการ
3. นายสุทธิพงศ์ ทองคำธรรมชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์
4. นายกฤษฎา ปาละสานต์ คณะการบัญชีและการจัดการ
5. นายภานุพงศ์ ผ่านเภา คณะการบัญชีและการจัดการ
โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์มลิจันทร์ ทองคำ และอาจารย์ ดร.วิชชุดา โพธิ์ศรี อาจารย์คณะการบัญชีและการจัดการ ให้คำปรึกษาและแนะนำจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ
ซึ่งการแข่งขันครั้งในนี้ เป็นการนำนวัตกรรมจากการวิจัยในแต่ละมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มาจัดทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และส่งเข้าประกวดเพื่อเลือกสรรตัวแทนแต่ละภาคเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศ โดยผู้เข้าแข่งขันจะได้รับประสบการณ์โดยตรง ภายใต้คำชี้แนะของที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์จากภาคธุรกิจในการวิเคราะห์และการตรวจสอบเทคโนโลยีเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่การตลาด โดยให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันนำเสนอแนวคิดธุรกิจที่ได้จากการวางแผนเพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็นตัวแทนในการแข่งขันในระดับประเทศ
ภาพ : อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้
ข่าว : อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้/ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ที่มา : อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้
วันที่ประกาศข่าว : 03 ก.พ. 2020 ที่มา : |