กลับหน้าหลัก  ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  พระธาตุนาดูนทองคำ  นักวิจัยดีเด่น  บุคลากร  ศิษย์เก่า  นักเรียน/นิสิต  ผู้มีอุปการะคุณ  ผลงานโดดเด่น   ค้นหา 
 
  ชื่อผลงาน/ทุน :
        รางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
  ประเภท :
         พระธาตุนาดูนทองคำ
 
(- กลุ่มบุคคลทั่วไป -)
ข้อมูลส่วนบุคคล
ชื่อ - นามสกุล นายทองใส ทับถนน
รายละเอียดข่าว (8898)

หัวข้อข่าว : ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม    

นายทองใส ทับถนน เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายปิ่น และนางหนู ทับถนน นายปิ่น ทับถนน ผู้เป็นบิดานั้นมีความรู้ความสามารถด้านหมอลำพื้นบ้าน และการแสดงหนังบักตื้อ (หนังปราโมทัย) นายทองใส ทับถนน จึงสืบเชื้อสายมาจากศิลปินผู้รอบด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอีสานโดยแท้จริง

นายทองใส ทับถนน หรือ “ครูทองใส ทับถนน” เริ่มฝึกดีดพิณตั้งแต่อายุ 4 ปี มีคุณบุญ บ้านท่างอย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ฝึกสอน เมื่ออายุได้ 8 ปี จึงได้เล่นพิณประกอบคณะหมอลำของนายปิ่น ทับถนน ผู้เป็นบิดา จากนั้นจึงได้เรียนรู้ลายพิณโบราณกับครูบุญชู โนนแก้ว แห่งบ้านโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ศิลปินมือพิณพื้นบ้านผู้พิการทางสายตา เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ที่กองพันทหารปืนใหญ่ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้มีโอกาสเป็นนักดนตรีวงดนตรีสากลประจำกองพันทหารปืนใหญ่ ได้นำพิณมาประยุกต์กับดนตรีสากลสมัยใหม่ และเรียนรู้การเล่นดนตรีตามแบบสากลนับตั้งแต่นั้นมา

หลังเสร็จภารกิจด้านการทหารเมื่อปี พ.ศ. 2513 ครูทองใสได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดและได้สมัครเข้าเป็นนักดนตรีคณะ “ลูกทุ่งอีสาน” ของครูนพดล ดวงพร มีฉายาว่า “ทองใส หัวนาค” ทั้งนี้ เพราะมีพิณแกะสลักเป็นรูปพญานาคเป็นเครื่องดนตรีคู่กาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ครูนพดล ดวงพร ได้รับเชิญให้นำวงดนตรีลูกทุ่งอีสานประยุกต์ไปแสดงถวายหน้าพระที่ประทับ ณ เขื่อนน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครูนพดล ดวงพร ร่วมกับครูทองใส ทับถนน ได้นำพิณขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ทรงรับสั่งว่าพิณเป็นเพชรน้ำเอกของเครื่องดนตรีอีสาน ยังความปลื้มปีติและความภาคภูมิใจแก่ครูนพดล ดวงพร และคณะเป็นอย่างมาก จึงได้เปลี่ยนชื่อวงดนตรี “ลูกทุ่งอีสาน” พิณประยุกต์ มาเป็นวง “เพชรพิณทอง” ต่อมาครูทองใส ทับถนน ได้นับเอาคอนแทรกไฟฟ้ามาประกอบกับพิณ ถือว่าเป็นพิณไฟฟ้าตัวแรกของเมืองไทย และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมและผู้ฟังตลอดมา

นายทองใส ทับถนน เป็นผู้ที่ยึดมั่นในคุณธรรม 4 ประการในการทำงาน ได้แก่ ความเพียร ความอดทน ความมีน้ำใจ และความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนี้ยังยึดมั่นในหลักการทำงานอย่างมีความสุขร่วมกับผู้ร่วมงาน มีการประสานชีวิตการทำงานกับชีวิตครอบครัว เน้นพัฒนาฝีมือในการทำงานอยู่เสมอ และตั้งใจถ่ายทอดความรู้โดยไม่ปิดบัง

นายทองใส ทับถนน ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากหลายสถาบัน โดยในปี พ.ศ. 2543 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินดีเด่น สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีอีสาน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ. 2544 ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมดีเด่น จากสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตการศึกษา 10 ปี พ.ศ. 2545 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ปี พ.ศ. 2546 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ชั้นเหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ ปี พ.ศ. 2547 ได้รับรางวัลสุดยอดศิลปินอีสาน ประเภทพิณอีสาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2548 ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดนตรีศึกษา) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ปี พ.ศ. 2555 ได้รับรางวัลศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน (พิณ) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2556 ได้รับรางวัลสุกรีเจริญสุข ผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการส่งเสริมดนตรี และ ปี พ.ศ. 2558 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นมูลมังเมืองอุบลราชธานี สาขาศิลปะการแสดง

จากชีวประวัติ ประสบการณ์ ผลงาน และรางวัลต่างๆ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า นายทองใส ทับถนน มีความรู้ความสามารถและมี “อัจฉริยลักษณ์” ด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างยอดเยี่ยม สมควรได้รับการเชิดชูให้เกียรติยศปรากฏแพร่หลายและเป็นแบบอย่างสืบไป มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงเห็นควรยกย่องให้ นายทองใส ทับถนน เป็นผู้ที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลสืบต่อไป

วันที่ประกาศข่าว : 14 พ.ย. 2019  ที่มา :

รูปภาพประกอบข่าว
 
 
 
กองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150 หมายเลขโทรศัพท์ 043-719800