หัวข้อข่าว : ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรตินักประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี ๒๕๖๒
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ฉิ่งสูงเนิน เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่จังหวัดนครราชสีมา สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดโคกพรมตั้งตรงจิตร ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับทุนพัฒนาอาจารย์ สาขาขาดแคลน ให้ศึกษาต่อระดับปริญญามหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต ได้รับทุนการศึกษาจากสมาคมราชกรีฑาสโมสร ประจำปี ๒๕๔๔ และได้รับการบรรจุเป็นพนักงานวิชาการ ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคามในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และในระหว่างการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ได้เดินทางไปทำวิจัย ณ Heriot-Watt University, Edinburgh Campus สหราชอาณาจักร เป็นเวลา ๑ ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้กลับเข้าทำงาน ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จนถึงปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ฉิ่งสูงเนิน มีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญทางด้านการเคลือบฟิล์มบางคาร์บอนเสมือนเพชรด้วยเทคนิค PECVD และการพัฒนาแหล่งกำเนิดพลาสมาเจ็ตที่ความดันบรรยากาศ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๒ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ฉิ่งสูงเนิน และคณะ มีผลงานการประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอนุสิทธิบัตรถึง ๔ เรื่อง ได้แก่ อุปกรณ์กำเนิดลำพลาสมาเจ็ตที่ความดันบรรยากาศ (เลขที่สิทธิบัตร ๑๔๔๔๔) อุปกรณ์กำเนิดพลาสมาในร่องโดยการปล่อยประจุแบบฉนวนขวางกั้นที่ความดันบรรยากาศ (เลขที่สิทธิบัตร ๑๔๔๔๕) อุปกรณ์กำเนิดพลาสมาที่ความดันบรรยากาศแบบฝักบัว (เลขที่สิทธิบัตร ๑๔๘๘๘) และอุปกรณ์กำเนิดลำพลาสมาแบบหลายลำพ่นที่ดำเนินการได้ ณ ความดันหนึ่งบรรยากาศ (เลขที่สิทธิบัตร ๑๕๓๑๔)
ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นข้างต้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้เคลือบผิวและปรับปรุงผิว เช่น การใช้พลาสมาเจ็ตแบบรูเดี่ยวปรับผิวผงไหมเซริซินให้มีความชอบน้ำมากขึ้น การออกแบบและพัฒนาหัวกำเนิดพลาสมาเจ็ตแบบหลายรูที่ความดันบรรยากาศในการปรับปรุงพื้นผิวสิ่งทอให้มีสมบัติพิเศษเฉพาะและมีความหลากหลาย เทคนิคนี้มีข้อดีคือเป็นการปรับปรุงผิววัสดุแบบแห้ง ไม่ต้องใช้สารละลาย ไม่มีสารเคมีตกค้าง และพลาสมาที่เกิดขึ้นเป็นพลาสมาแบบเย็นจึงสามารถปรับปรุงผิวเส้นใยโดยไม่ไปเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเชิงโครงสร้างภายในของวัสดุ ผลงานชิ้นนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก สกสว. ตามโครงการ Tech2Biz ให้เป็นผู้นำเสนอเทคโนโลยีต้นแบบ (Prototype) ซึ่งได้มีบริษัท โอเอซิส การ์เม้น จำกัด สมัครขอใช้เทคโนโลยีเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นหัวกำเนิดพลาสมาเจ็ตแบบหลายรูที่ความดันบรรยากาศยังสามารถนำไปประยุกต์ในอุตสาหกรรมอาหารและทางการเกษตร เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อ เพิ่มอัตราการงอกและการเจริญเติบโตของต้นอ่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ากลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพต่อไป โดยต้นแบบหัวกำเนิดพลาสมาฯ นี้ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.มุ่งเป้า กลุ่มเทคโนโลยีนาโนอุตสาหกรรม) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประจำปี ๒๕๖๒
ด้วยความมุ่งมั่น ความรอบรู้ ความเอาใจใส่ และความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นอันเป็นที่ยอมรับของวงวิชาการ สะท้อนให้เห็นเจตจำนงที่จะสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม และเป็นแบบอย่างอันดีของผู้ที่นำพื้นฐานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาต่อยอดความรู้ในฐานะ นักวิชาการ และ นักประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงเห็นควรเชิดชูเกียรติให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ฉิ่งสูงเนิน เป็นผู้สมควรได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินักประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อเป็นเกียรติแก่ตนเองและมหาวิทยาลัยสืบไป
วันที่ประกาศข่าว : 14 พ.ย. 2019 ที่มา : คณะวิทยาศาสตร์ |