หัวข้อข่าว : อาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มมส รับรางวัลชนะเลิศ MOST Innovation Award 2019
อาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มมส รับรางวัลชนะเลิศ MOST Innovation Award 2019 สาขานวัตกรรม/กระบวนการเชิงพาณิชย์ รางวัลระดับประเทศ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรมาศ เลาหวณิชย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ อาจารย์ ดร.เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขต ขอนแก่น เจ้าของผลงาน "เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืช รางวัลชนะเลิศสาขานวัตกรรม/กระบวนการเชิงพาณิชย์ MOST Innovation Award 2019
สำหรับ การจัดงาน RSP Innovation Day 2019 เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ลานโปรโมชั่น โซนบี ชั้น 1 เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ จัดโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จัดงาน Regional Science Park (RSP) Innovation Day 2019 ขึ้น ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการทำงานร่วมกัน เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่มีศักยภาพ รวมถึงแสดงความพร้อมในการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค พร้อมมอบรางวัล MOST Innovation Awards 2019 เชิดชูผู้ประกอบการที่ได้รับบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่มีผลงานโดดเด่นทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
อย่างไรก็ดีภายในงานได้มีการมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรมระดับประเทศ (MOST Innovation Awards 2019) 2 สาขา ได้แก่ สาขานักธุรกิจนวัตกรรม และสาขานวัตกรรม/กระบวนการเชิงพาณิชย์ ให้แก่บริษัทหรือผู้ประกอบการที่ได้รับบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
ซึ่งผลงาน "เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืช ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด MOST Innovation Awards 2019 สาขานวัตกรรม/กระบวนการเชิงพาณิชย์ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน ผศ.ดร.จักรมาศ เลาหวณิชย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ อ.ดร.เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขต ขอนแก่น เจ้าของผลงานนั้นเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อใช้เร่งการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืช ให้เกิดขึ้นในเวลารวดเร็ว โดยไม่ต้องทำการเติมสารเร่ง ปรับสภาพน้ำ ลดปริมาณการใช้น้ำ และลดแรงงานด้วยหลักการให้น้ำไหลผ่านร่วมกับการบ่มงอกให้เกิดขึ้นในภาชนะเดียวกัน ซึ่งจุดเด่นของผลงานดังกล่าว สามารถเร่งกระบวนการได้เร็วเหลือเพียงแค่ 8 ชั่วโมงเท่านั้น และทำให้ได้สารสำคัญสูง โดยเฉพาะปริมาณกาบาเพิ่มสูงขึ้นถึง 300 เท่า
ภาพ/ข่าว : ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม/ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (UIC)/FB ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน
ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
วันที่ประกาศข่าว : 20 ส.ค. 2019 ที่มา : |