หัวข้อข่าว : นิสิต สาขาฟิสิกส์ มมส คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 : นวัตกรรมสร้างสรรค์ชุมชน
นิสิต สาขาฟิสิกส์ มมส คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นวัตกรรมสร้างสรรค์ชุมชน โครงการ กล้าใหม่...ใฝ่รู้ ปีที่ 13
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีกับ อาจารย์ และนิสิต คณะวิทยาศาสตร์ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันโครงงาน นวัตกรรมสร้างสรรค์ชุมชน ระดับอุดมศึกษา โครงการ กล้าใหม่...ใฝ่รู้ ปีที่ 13
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุฤทธิ์ เจริญอินทร์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและวิเทศสัมพันธ์ (อาจารย์ที่ปรึกษา) พร้อมด้วย นิสิต สาขาฟิสิกส์ ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย นางสาวกาญจณาภรณ์ สัพโส, นางสาวสุทธิชา มอไธสง, นางสาวชนิกานต์ ญาณผาด, นางสาวนันทนา กัณหา และนายธีรพงศ์ พงษ์เสือ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันโครงงาน นวัตกรรมสร้างสรรค์ชุมชน โครงการ กล้าใหม่...ใฝ่รู้ ปีที่ 13 ด้วยผลงาน เครื่องเขย่าถุงบริจาคโลหิตแบบพกพา โดยได้แรงบันดาลใจจากความสุขใจจากการได้เป็น ผู้บริจาคโลหิต ซึ่งโครงการนับเป็นหนึ่งในโครงการ "พัฒนาเยาวชน" ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นให้นิสิตนำความรู้จากในห้องเรียนไปทำประโยชน์เพื่อชุมชน ได้รับเกียรติจาก คุณอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้มอบรางวัล
โครงงาน เครื่องเขย่าถุงบริจาคโลหิตแบบพกพา เพราะโลหิตของเราสามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ แต่ใครจะรู้บ้างว่า การออกบริการรับบริจาคโลหิตของเหล่ากาชาดและโรงพยาบาลตามต่างจังหวัด มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานคนทดแทนเครื่องเขย่าถุงโลหิต ที่ทำหน้าที่ผสมโลหิตเข้ากับสารกันเลือดแข็งในถุงบรรจุ และหยุดโลหิตพร้อมกับมีสัญญาณเตือนเมื่อได้ปริมาตรตามที่กำหนด
แต่เครื่องมือนี้มีปริมาณไม่เพียงพอ เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แถมมีราคาสูงถึงหลักแสนเลยทีเดียว นิสิตจึงนำความรู้ทางฟิสิกส์มาออกแบบเครื่องเขย่าถุงโลหิตพกพาแบบ made in Thailand
จุดเด่นของนวัตกรรมนี้ คือ การจำลองวิธีการทำงานของเครื่องเขย่าถุงโลหิตให้ใกล้เคียงกับของต่างประเทศมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเขย่า และการมีสัญญาณเตือนเมื่อได้ปริมาตรตามที่กำหนด แถมราคาถูกแค่หลักหมื่นต้นๆ...ดังนั้นปริมาณของโลหิตที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง จึงมีจำนวนสูงกว่าการใช้แรงงานคน เพราะมีค่า error ต่ำกว่า จากโครงงานนี้สามารถพัฒนาการผลิตได้ปริมาณมากๆ จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศขนาดไหน
ภาพ : คณะวิทยาศาสตร์/เพจ scbchallenge
ข่าว : เพจ scbchallenge/สุพรรณี นัดสันเทียะ
ที่มา : คณะวิทยาศาสตร์
วันที่ประกาศข่าว : 03 เม.ย. 2019 ที่มา : |