หัวข้อข่าว : นิสิต มมส คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอุดมศึกษา กล้าใหม่...ใฝ่รู้ ปีที่ 12
นิสิต มมส คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอุดมศึกษา กล้าใหม่...ใฝ่รู้ ปีที่ 12
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีกับ ทีมเมล็ดพันธุ์ชีวิต ผลงานชื่อ โครงงานธนาคารเมล็ดพันธุ์ปันน้ำใจสู่ชุมชน เป็นนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 จากการแข่งขันโครงงานกล้าใหม่..สร้างสรรค์ชุมชน ภายใต้โครงการ SCB กล้าใหม่..ใฝ่รู้ ปี 12 ระดับอุดมศึกษา พลังแผ่นดิน ปัญญาแผ่นดิน รับเงินรางวัลรวมกว่า 280,000 บาท และทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน รวมทั้งหมด 191 โครงงาน จาก 51 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
ทีมเมล็ดพันธุ์ชีวิต ประกอบด้วยนิสิต ชั้นปีที่ 3-4 จากคณะการบัญชีและการจัดการ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดังนี้
1. นายเกียรติจรัส แก้วพวง
2. นางสาวพรกมล พวงพันธ์
3. นางสาวตรงเขต ศรีบัวคม
4. นางสาวเจนจิรา กองลั่น
5. นางสาวศศิวิภา พานโน
6. นางสาวชนัญชิดา เตมีศักดิ์
7. นางสาวจิรนันท์ โดนโยทา
8. นางสาวสุขฤดี เผือดนอก
9. นางสาวสุนารี สาธุการ
10. นางสาวจุฑารัตน์ พุ่มจีน
และมี อาจารย์ ดร.อัจฉริยา อิสสระไพบูลย์ และ อาจารย์เอกภูมิ วงษาไฮ จากภาควิชาการจัดการ คณะการบัญชีละการจัดการ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทีม
ทีมเมล็ดพันธุ์ชีวิต จัดทำโครงงานธนาคารเมล็ดพันธุ์ปันน้ำใจสู่ชุมชน
สถานที่ลงพื้นที่ดำเนินการ : ณ บ้านหนองคู-ศรีวิลัย ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 15 กิโลเมตร และห่างจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 27 กิโลเมตร มีประชากรบ้านหนองคู- ศรีวิลัยมี 224 ครัวเรือน
ศึกษาปัญหาเมล็ดพันธุ์ของชุมชน ดังนี้
1. เกษตรกรซื้อเมล็ดจากบริษัทที่บรรจุเป็นซองขาย ที่จัดจำหน่ายตามร้านค้าการเกษตรหรือห้างร้านต่างๆในตัวเมือง ที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการของเกษตรกรทำให้เกษตรกรโดนหลอกหลวงจากพ่อค้าร้านการเกษตรว่าต้องใช้ ปุ๋ยสูตรนั้นสูตรนี้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรทำให้พ่อค้าขายได้ เมล็ดและปุ๋ยเคมี
2. สินค้าเกษตรกรรมของชุมชนถูกกดราคาจาก พ่อค้าคนกลางในเรื่องของราคาเมล็ดพันธุ์
3. ชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้ในการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพไว้สำหรับการเพาะปลูกเอง ทั้งที่มี ปราชญ์ชาวบ้านในการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว และเมล็ดพันธุ์พืช
ดังนั้นทีมเมล็ดพันธุ์ชีวิต จึงได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนหนองคู-ศรีวิลัย และเล็งเห็นถึงความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ที่มีต่อเกษตรกร จึงได้หาวิธีในการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยมีแนวความคิดที่จะจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ปันน้ำใจสู่ชุมชน โดยเป็นการประยุกต์รูปแบบการบริหารธนาคารพาณิชเข้ามาปรับใช้ในการบริหารธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวและเมล็ดพันธุ์พืชในชุมชนโดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดแนวทางในการฝากถอนกู้ยืนเมล็ดพันธุ์ พร้อมกับสร้างองค์ความรู้ในการเพาะเมล็ดอินทรีย์ให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ และช่วยชาวบ้านลดต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งยังส่งเสริมชาวบ้านให้มีการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เพราะปลูกกันอย่างต่อเนื่องให้กับชุมชนอย่างยั่นยืน และยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้คนในชุมชนเป็นผู้สนับสนุนและเกิดความร่วมมือในการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้
วัตถุประสงค์โครงงาน
1. เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนมีธนาคารเมล็ดพันธุ์ไว้สนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องของการจัดการเมล็ด พันธุ์ที่มีคุณภาพไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูก และช่วยบริหารโดยการรับฝากเมล็ดพันธุ์ที่อยู่นอกฤดูการผลิตให้มีมูลค่าและมีมาตรฐานพร้อมสำหรับการเพาะปลูกในฤดูถัดไป
2. เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีองค์ความรู้ในการเพาะเมล็ดพันธุ์ จะทำให้ชาวบ้านสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต
3. เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มี มาตรฐานและมีราคาดี ลดการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง
การตั้งธนาคาร
1. การประชาพิจารณ์หารือ เพื่อหาข้อตกลงว่าจะจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธ์หรือไม่ ได้ข้อสรุปว่า จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์โดยใช้ชื่อ ธนาคารเมล็ดพันธุ์บ้านหนองคู-ศรีวิลัย
2. นิสิต (ทีมเมล็ดพันธุ์ชีวิต) ได้ศึกษากลไกการทำงานของธนาคารจากระบบธนาคารพาณิชย์และได้ปรึกษาอาจารย์ประจำภาควิชาการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank Operations)
3. วางโครงร่างของระบบธนาคารเมล็ดพันธุ์ โดยนำแนวทางมาจากระบบการทำงานของธนาคารพาณิชย์ และได้นำโครงร่างของระบบธนาคารเมล็ดพันธุ์ไปนำเสนอแก่สมาชิกธนาคารพร้อมกับปรึกษาหารือกฎเกณฑ์การพิจารณาของธนาคารเมล็ดพันธุ์รวมถึงการบริหารธนาคาร
4. เพื่อสร้างให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงร่วมกันระหว่างนิสิตกับชุมชนในพื้นที่ เป้าหมายโดยร่วมกันเอาใจใส่ชุมชนและแบ่งปันข้อมูลความรู้อย่างบูรณาการ
ขอชื่นชม นิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษา ทีมเมล็ดพันธุ์ชีวิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์โครงงานดีๆ เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาชุมชน ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงงาน นิสิตได้นำความรู้ในห้องเรียนมาใช้ประยุกต์กับการทำงานร่วมกับชุมชนได้จริง และได้รับการจุดประกายความคิดใหม่ๆ สมกับปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม "พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว" ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ในการพัฒนาตนเองและสังคมต่อไป
ภาพ : เพจ SCB Challenge กล้าใหม่...ใฝ่รู้/คณะการบัญชีและการจัดการ
ข่าว : สุพรรณี นัดสันเทียะ/คณะการบัญชีและการจัดการ
วันที่ประกาศข่าว : 05 เม.ย. 2018 ที่มา : |