กลับหน้าหลัก  ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  พระธาตุนาดูนทองคำ  นักวิจัยดีเด่น  บุคลากร  ศิษย์เก่า  นักเรียน/นิสิต  ผู้มีอุปการะคุณ  ผลงานโดดเด่น   ค้นหา 
 
  ชื่อผลงาน/ทุน :
        ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖
  ประเภท :
         ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
  ตำแหน่ง :
        กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) SCG
 
(- กลุ่มบุคคลทั่วไป -)
ข้อมูลส่วนบุคคล
ชื่อ - นามสกุล นายกานต์ ตระกูลฮุน
รายละเอียดข่าว (4969)

หัวข้อข่าว : ผู้ได้รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖    

   นายกานต์  ตระกูลฮุน เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2498 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ได้รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (ไฟฟ้า) เกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีพุทธศักราช 2520 สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ (เซรามิก) และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จาก The Georgia Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพุทธศักราช 2529 และสำเร็จการศึกษาด้าน Advance Management Program (AMP) จาก Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา

   ด้านประวัติการทำงาน นายกานต์  ตระกูลฮุน เริ่มงานกับเอสซีจี ในปีพุทธศักราช 2520 ปฏิบัติงานเป็นวิศวกรที่โรงงานปูนซีเมนต์ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเติบโตเป็นลำดับจนสร้างผลงานโดดเด่น เช่น ร่วมจัดตั้งโครงการปิโตรเคมี (อะโรเมติกส์) ที่อินโดนีเซีย มีส่วนร่วมในการปรับปรุงธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เป็นประธานปรับโครงสร้างธุรกิจเครือซิเมนต์ไทย และพลิกฟื้นสถานการณ์ของกลุ่มธุรกิจเซรามิก จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ปีพุทธศักราช 2540 ให้กลับมาเจริญเติบโต และมีผลประกอบการที่ดีจนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้กับเอสซีจีในระยะยาว ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช 2549 นายกานต์ ตระกูลฮุน เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ CFO (Chief Financial Officer) เอสซีจี เมื่อปีพุทธศักราช 2546 และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเซรามิคซิเมนต์ไทย จำกัด เมื่อปีพุทธศักราช 2542

   นายกานต์ ตระกูลฮุน เป็นผู้นำองค์กรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development : SD) ซึ่งประกอบด้วยแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความสมดุลในเรื่องเศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Society) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ภายใต้หลักบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในทุกชุมชน ทุกประเทศที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินธุรกิจ

   ตลอดระยะเวลา 100 ปี เอสซีจี มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า โดยคำนึงถึงการสร้างความสมดุลระหว่างผู้คนในสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตควบคู่กันและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในอนาคต สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอสซีจีที่ในปีพุทธศักราช 2558 เอสซีจีจะเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เป็นองค์กรนวัตกรรมที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นแบบอย่างที่ดีของการทำงานอย่างโปร่งใสตามหลักบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

   นายกานต์ ตระกูลฮุน ให้ความสำคัญกับงานด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้ทุกธุรกิจในเอสซีจีทุ่มเทด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value  Added-HVA) รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แบรนด์ SCG eco value ถือเป็นองค์กรธุรกิจรายแรกของประเทศไทยที่กำหนดสัญลักษณ์การรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังพัฒนากระบวนการผลิตและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสร้างเครือข่ายงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและต่างประเทศ จนเกิดนวัตกรรมเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต นวัตกรรมสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตามแนวคิด “Drawing the Future”

   ในอนาคตการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ของเอสซีจีจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะเอสซีจีเชื่อว่าหัวใจสำคัญของนวัตกรรมที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการคิดค้น วิจัย และพัฒนาเท่านั้น แต่ความท้าทายที่สุด คือ การเปลี่ยนองค์ความรู้และงานวิจัยให้เป็นสินค้าและบริการสู่ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง เป็นอีกทิศทางของการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่เอสซีจีทุ่มเท เพื่อจะนำพาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการสร้างสมดุลของสังคมและสิ่งแวดล้อม

   ด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ผลงานด้านการบริหาร และเกียรติประวัติในการประกอบวิชาชีพด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่างโดดเด่นและต่อเนื่อง สภามหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประสาทปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต เพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยมหาสารคามสืบไป

วันที่ประกาศข่าว : 12 ธ.ค. 2013  ที่มา :

รูปภาพประกอบข่าว
 
 
 
กองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150 หมายเลขโทรศัพท์ 043-719800