หัวข้อข่าว : ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552
ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552
ผลงานอนุสิทธิบัตรเรื่อง ผลิตภัณฑ์โลชั่นที่มีส่วนผสมของสารละลายโปรตีนเซอริซิน
เจ้าของผลงาน 1. อาจารย์ ดร.สาน วิไล 2. นางสาวจิราภา บุติมาลย์ 3. นางสาววราภรณ์ สุทธิสา 4. นางพัชรา ขวัญเมือง 5. นางสาวนฤมล วงหาแทน ศูนย์นวัตกรรมไหม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เลขที่อนุสิทธิบัตร 0903000453
ผลงานวิจัยโดยสรุป
วัตถุประสงค์ของการประดิษฐ์นี้เพื่อสร้างสรรค์โลชั่นปรับสภาพผิวที่มีส่วนผสมของโปรตีนเซอริซิน โดยใช้วัตถุดิบที่ได้จากกิจกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คือ การนำรังไหมมาสกัดด้วยวิธีการสกัดอย่างง่าย (โดยการนำรังไหมไปนึ่ง แล้วเซอริซินจะละลายออกมา) เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตการเลี้ยงไหมได้ นอกเหนือจากการสาวไหม เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นสิ่งทอ อีกทั้งยังเป็นการลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปรับสภาพผิวหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากต่างประเทศได้เนื่องจากรังไหมมีองค์ประกอบของโปรตีนไฟโบรอิน และโปรตีนเซอริซิน ซึ่งมีคุณสมบัติ เป็นมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ที่ให้ความชุ่มชื้นต่อผิวหนังมากกว่าน้ำ 100 เท่า และเป็นโปรตีนที่เข้ากันได้ดีกับโปรตีนในผิวหนังของมนุษย์ ดังนั้นในการประดิษฐ์นี้จึงมุ่งที่จะใช้โปรตีนเซอริซินที่สกัดได้จากรังไหมมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สำหรับปรับสภาพผิวกาย ก่อนการบำรุง ที่สามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และประสิทธิภาพการดูดซึมครีมบำรุงให้เข้าสู่ผิวหนัง โดยที่โปรตีน เซอริซิน สามารถทำหน้าที่เป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอย และให้ความชุ่มชื้นหลังการใช้ นอกจากนี้ยังช่วยลดการอักเสบของสิวได้ เพราะมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียบางชนิด และช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี
ประโยชน์ของงานวิจัย
ในประเทศไทยมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาหลายร้อยปี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อให้ได้รังไหมเพื่อนำมาสาวเอาเส้นใยใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม ในกระบวนการเลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าไหม จะมีวัสดุเหลือใช้จากไหมมากมาย เช่น รังไหมที่ตัดแล้ว รังไหมที่เสียไม่เหมาะสมกับการนำมาสาวเส้นใยไหม รวมทั้งเศษเส้นไหมที่เกิดขึ้นระหว่างการสาวใยไหมและการทอผ้าไหม ซึ่งทั้งรังไหมที่เสีย และเศษเส้นไหมเหล่านี้สามารถนำมาผลิตเป็นโปรตีนไหม ซึ่งอุดมด้วยโปรตีนเซอริซินและไฟโบรอินให้อยู่ในรูปของผงไหม (silk powder) และอยู่ในรูปของสารละลาย เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ตามการประดิษฐ์นี้ได้ วันที่ประกาศข่าว : 05 ส.ค. 2010 ที่มา : |