หัวข้อข่าว : ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552
ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552
ผลงานอนุสิทธิบัตรเรื่อง ข้าวเกรียบที่มีส่วนผสมของหม่อนและดักแด้ไหม
เจ้าของผลงาน นางสาวสุชญา โคตรวงษ์ ศูนย์นวัตกรรมไหม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เลขที่อนุสิทธิบัตร 0903000452
ผลงานวิจัยโดยสรุป
ใบหม่อนและดักแด้ไหม เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่สำหรับใบหม่อนนอกจากใช้ในการเลี้ยงไหมแล้ว มีเพียงเพื่อใช้ทำชา หรือประกอบอาหารอื่น ๆ บ้าง แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก ส่วนดักแด้ไหม คนส่วนใหญ่ไม่กล้ารับประทาน อันเนื่องจากรูปลักษณ์ของดักแด้ไหม คือหนอนในสายตาคนทั่วไป ผู้ประดิษฐ์จึงได้นำหม่อนหรือดักแด้ไหม มาดัดแปลงทำเป็นส่วนผสมในการทำข้าวเกรียบ เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของทั้งหม่อนและดักแด้ไหม ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้คุณค่า ทางโภชนาการได้ ทั้งนี้ หม่อนมีคุณสมบัติช่วยในการลดระดับน้ำตาล ในเลือด และสารอาหารต่างๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต เพคติน โปรตีน เส้นใยอาหาร รวมทั้งวิตามินบี ซี ใช้แก้โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ขับร้อนจากปอด อาการไอแห้ง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก ทำให้กระแสเลือดหมุนเวียนดี ลดอาการแพ้ต่าง ๆ ส่วนดักแด้ไหม ตามข้อมูลทางโภชนศาสตร์ในน้ำหนักแห้งของดักแด้ไหม 100% พบว่ามีโปรตีน 60-62% ซึ่งมีกรดอะมิโนที่สำคัญ มีทั้งกรดไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันไม่อิ่มตัว เป็นสารสังเคราะห์ควบคุมความดันโลหิต และสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย มีวิตามินเอ บี1 บี2 และวิตามินอี ในปริมาณสูง เมื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบหม่อนและไหมแล้ว จะทำให้ผู้บริโภคได้รับคุณค่าจากหม่อนและไหม ไปพร้อมๆ กัน
ประโยชน์ของงานวิจัย
การบริโภคข้าวเกรียบที่มีส่วนผสมจากหม่อนและไหมเข้าไปแล้วแทนที่จะเป็นขนมขบเคี้ยวธรรมดาทั่ว ๆ ไป ในท้องตลาด ผู้บริโภคยังจะได้รับสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น จากสารสำคัญที่ประกอบอยู่ในหม่อนและไหม ที่สุดดังที่กล่าวมาแล้ว คือ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับหม่อนหรือดักแด้ไหมได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น วันที่ประกาศข่าว : 04 ส.ค. 2010 ที่มา : ศูนย์นวัตกรรมไหม |