กลับหน้าหลัก  ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  พระธาตุนาดูนทองคำ  นักวิจัยดีเด่น  บุคลากร  ศิษย์เก่า  นักเรียน/นิสิต  ผู้มีอุปการะคุณ  ผลงานโดดเด่น   ค้นหา 
 
  ชื่อผลงาน/ทุน :
        ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ประเภท ผู้ทำคุณประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย
  ประเภท :
         พระธาตุนาดูนทองคำ
 
(- กลุ่มบุคคลทั่วไป -)
ข้อมูลส่วนบุคคล
ชื่อ - นามสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์
รายละเอียดข่าว (10343)

หัวข้อข่าว : ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ประเภท ผู้ทำคุณประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย    

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
ประเภท ผู้ทำคุณประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์

*************************************************

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ เกิดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี การศึกษาบัณฑิต สาขาวิชามัธยมศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชา Asian Studies จาก University of Michigan, Ann Arbor, Michigan และปริญญาเอก สาขาวิชา Musicology-Ethnomusicology จาก Kent State University ประเทศสหรัฐอเมริกา
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ เป็นผู้รอบรู้อย่างยิ่งด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานมีความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิชาการและทักษะการปฏิบัติเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างถ่องแท้ เป็นผู้อุทิศตนในการพัฒนาดนตรีพื้นบ้านอีสาน เป็นผู้บุกเบิกการนำหลักการทางดนตรีตะวันตก ดนตรีวิทยา มาใช้และวางระบบให้กับดนตรีพื้นบ้านอีสานจนทำให้ดนตรีพื้นบ้านอีสานได้รับการถ่ายทอดในวงวิชาการอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ
     นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ ยังนับเป็นศิลปินผู้มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมในการบรรเลงเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานได้ทุกชนิด โดยเฉพาะเครื่องดนตรีประเภทแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์อีสาน หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ ๓๐ ปี ท่านเป็น “หมอแคน” ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ท่านได้นำลายแคน การเป่าแคนถ่ายทอดสู่ศิลปินหลายๆ ท่าน ในขณะเดียวกันท่านยังเรียบเรียงและประพันธ์ลายแคนขึ้นใหม่ โดยใช้หลักการทางดนตรีวิทยาเป็นตัวกำหนด เช่น เดี่ยวลายใหญ่ เดี่ยวลายสุดสะแนนและลายอื่นๆ อีกมากมายเพื่อใช้บรรเลงประกอบวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน นอกจากนั้น ด้วยความใฝ่เรียนรู้ของท่าน ท่านยังได้นำทำนองลายแคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งในประเทศลาว เวียดนาม จีน มาเรียบเรียงเสียงประสานให้เข้ากับลายแคนของไทยได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันท่านก็ยังได้นำศาสตร์และศิลป์ของแคนไปเผยแพร่ให้ศิลปินพื้นบ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เรียนรู้เทคนิคการเป่าแคนในรูปแบบการบรรยายพร้อมการสาธิตเป่าแคน เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น โปรตุเกส ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ มีผลงานทางวิชาการทั้งเอกสารและตำราเกี่ยวกับดนตรีและการแสดง เช่น ประวัตินักดนตรีไทย ชีวิตและผลงานของคีตกวีเอกของไทย เครื่องสายและบทความบางเรื่องเกี่ยวกับดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้านอีสาน แคนวง ดนตรีผู้ไทย คู่มือการเป่าขลุ่ยเบื้องต้น หมอลำ-หมอแคน ปื้ม กลอนลำ แคนวงและโปงลาง ดนตรีและการละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อตั้งและร่างหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อส่งเสริมให้ศิลปินพื้นบ้านอีสานที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีและการแสดงพื้นบ้านได้มีปริญญาเป็นที่ยอมรับ มุ่งมั่นพัฒนาศิษย์ให้รอบรู้ มั่นใจในการเสนอผลงานด้านวิชาการทั้งในและต่างประเทศ
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ศิลปินมรดกอีสาน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “เพชรราชธานี” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาดุริยางคศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔
     จากชีวประวัติ ทักษะ ประสบการณ์ และความรู้สามารถ จะเห็นได้ว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ เป็นทั้งนักวิชาการ ศิลปิน และครู ผู้สร้างชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงเห็นควรยกย่องให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ เป็นผู้ที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ประเภทผู้ทำคุณประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลสืบไป

*************************************************

วันที่ประกาศข่าว : 21 ธ.ค. 2022  ที่มา :

รูปภาพประกอบข่าว
 
 
 
กองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150 หมายเลขโทรศัพท์ 043-719800